วันธรรมดาจะกลายเป็นที่จดจำขึ้นมา หากว่ามีเหตุการณ์สำคัญหรือความเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลกระทบ  สำหรับชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนแวดวงอาหารและการประมง ต่อจากนี้คงยากจะลืมวันที่ 6 ตุลาคมได้ เพราะเป็นวันที่ ตลาดปลาซึกิจิ ศูนย์กลางในการซื้อขายปลาและอาหารทะเลจากทั่วโลกมากว่า 80 ปี ต้องปิดทำการ เพื่อหลีกทางให้โครงการสร้างสาธารณูปโภค รองรับ โอลิมปิกปี 2020 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ 

แม้การซื้อขายผลิตผลจากทะเลจะได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในตลาดแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 2 กิโลเมตรในอีกไม่ช้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มูลค่าการซื้อ-ขายในแต่ละปี และเสน่ห์อีกหลายอย่างของตลาดซึกิจิที่จะหายไป นี่จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญหลายด้าน ต่อชีวิตความเป็นอยู่ อุตสาหกรรมการประมง วงการอาหารหรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยว

 

ทำความรู้จัก ‘ครัวกลาง’ ของชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก

หลัง ตลาดปลานิฮอนบาชิ ทางตอนกลางของกรุงโตเกียวเสียหายหนักจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1923 จนดำเนินกิจการต่ออีกไม่ได้ ทางการญี่ปุ่นจึงสร้างตลาดปลาแห่งใหม่ขึ้นที่ย่านซึกิจิ บนพื้นที่ 57 เอเคอร์ (ราว 143 ไร่) โดยเปิดทำการเมื่อปี 1935 จากนั้นตลาดซึ่งชื่อตามตัวอักษรหมายถึงพื้นที่ที่เกิดจากการถมดิน ก็มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ทั้งด้านมูลค่าการซื้อ-ขายและชื่อเสียง

ซึกิจิ Old

นอกจากเป็นศูนย์กลางการซื้อขายอาหารทะเล มีผลิตผลจากท้องทะเลทั่วโลกมากกว่า 400 ชนิดผ่านเข้าออกในแต่ละวัน มีมูลค่าการซื้อขายต่อปีสูงถึง 600,000 ล้านเยน (ราว 178,200 ล้านบาท) และยังอยู่ไม่ห่างจากร้านอาหารมากมายในย่านกินซ่าแล้ว ตลาดปลาซึกิจิ ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวที่อยากเห็นการประมูลปลาแบบดั้งเดิมในช่วงรุ่งเช้าของทุกวันอีกด้วย

ซึกิจิ Market

หนึ่งในการประมูลปลาที่สร้างสถิติสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 ซึ่ง คิโยชิ คิมุระ ก่อตั้ง Shushizenmai เครือร้านซูชิดัง ได้ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน หนัก 212 กิโลกรัม ไปด้วยเงิน 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 56 ล้านบาท) และในปีนี้ มหาเศรษฐีวัย 66 ปี ซึ่งได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากรัฐบาลประเทศแถบแอฟริกา จากการโน้มน้าวให้โจรสลัดเปลี่ยนเรือปล้นเป็นเรือหาปลา ก็ยังคว้าปลาตัวใหญ่สุดในการประมูลไปอีกเช่นกัน 

ซึกิจิ คิมุระ

Theodore Bestor ผู้เขียนหนังสือ Tsukiji: The Fish Market at the Center of the World เมื่อปี 2004 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้ตลาดปลาซึกิจิเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก กล่าวว่า “ซึกิจิ คือศูนย์กลางในการหาวัตถุดิบของอาหารญี่ปุ่น จึงมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมด้านอาหารของประเทศนี้เป็นอย่างมาก”
 

แผนย้าย ตลาดปลาซึกิจิ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง 

ความทรุดโทรม ระบบระบายอากาศที่ไม่ดี และปัญหาด้านสุขอนามัย ทำให้ต้นยุค 90 มีการเสนอให้บูรณะซ่อมแซมตลาดซึกิจิ แต่เพราะต้องใช้งบประมาณก้อนโต โครงการดังกล่าวจึงต้องล้มเลิกไป ล่วงมาจนถึงปี 2001 หน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการตลาดค้าส่งในเขตเมืองหลวง ไปไกลกว่านั้น ด้วยการเสนอให้ย้ายตลาดแห่งนี้ไปที่ย่านโทโยสุ ซึ่งเคยเป็นโรงผลิตก๊าซเก่ามาก่อน แต่ด้วยข้อติดขัดต่างๆ โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้าเช่นเคย

ซึกิจิ Tokyo mayor

ยูริโกะ โคอิเคะ

อย่างไรก็ตาม หลัง ยูริโกะ โคอิเคะ สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้ว่าราชการหญิงกรุงโตเกียวคนแรกในปี 2016 เธอก็สั่งให้นำโครงการนี้มาปัดฝุ่น และเดินหน้าอย่างจริงจัง เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ตลาดเป็นศูนย์กลางอำนวยความสะดวก และชุมทางขนส่งมวลชนชั่วคราวสำหรับโอลิมปิกปี 2020 พร้อมย้ายตลาดไปยังโรงผลิตก๊าซเก่าในย่านโทโยสุ ซึ่งใหญ่กว่าตลาดซึกิจิ ถึง 2 เท่าและมีการปรับปรุงตัวอาคารทั้งหมดแล้ว

แม้กำหนดการทั้งหมดต้องเลื่อนออกไปเกือบ 2 ปี หลังพบสารเคมีปนเปื้อนในดินเกินมาตรฐาน แต่ที่สุดโครงการทั้งหมดก็เสร็จสิ้นด้วยงบประมาณทั้งหมด 600,000 ล้านเยน

ซึกิจิ โทโยสุ

มั่นใจว่าตลาดใหม่จะคึกคักไม่แพ้ตลาดเก่า

เหล่าผู้ประกอบการเดิมจากตลาดปลาซึกิจิ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั้งเศร้าและเสียดายที่ต้องย้ายที่ทำงานซึ่งผูกพันมานาน แต่ก็เชื่อว่าจะมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ตลาดปลาโทโยสุ ที่จะเปิดวันแรก พฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคมนี้ มีความคึกคักไม่ต่างจากตลาดเก่า 

ด้านสื่อตะวันตกให้ทัศนะไปทิศทางเดียวกันว่าปี 2 ปีต่อจากนี้ ถือเป็นช่วงรอยต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ของญี่ปุ่นอีกครั้ง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่คงเต็มไปด้วยความรู้สึกโหยหาอดีต เพราะนอกจากการปิดตัวของตลาดปลาซึกิจิในปีนี้แล้ว ในปีหน้าสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ที่ครองราชย์มาตั้งแต่ปี 1989 มีกำหนดจะสละราชสมบัติ ให้เจ้าชายนารุฮิโตะ สืบราชบัลลังก์ต่อไป แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าชาวญี่ปุ่นจะปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเหมือนที่เคยเป็นมา / ft, japantimes, cnn, bbc, wikipedia

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online