คนยุค 90 คงคุ้นชื่อ A&W ร้านอาหาร QSR คลาสสิกระดับตำนานที่อยู่ในไทยมานานกว่า 30 ปี

หลายคนนึกว่าร้านนี้ปิดกิจการกลับบ้านเกิดที่อเมริกาไปแล้ว ความจริงก็เกือบจะเป็นเช่นนั้นเพราะเจ้าของเดิมไม่คิดขยายสาขา และไม่ทำการตลาดหวือหวา

จนเมื่อในช่วงปลายปี 2016  A&Wในประเทศไทยก็เปลี่ยนมือจากผู้ถือลิขสิทธิ์เดิม บริษัท เอ แอนด์ ดับบลิว เรสเตอรองต์ (ประเทศไทย) มาอยู่ในมือ “บริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือนิปปอนแพ็ค

หลังจากนั้น A&Wก็ประกาศในปี 2017 ว่า ในวันนี้ตัวเองมี 33 สาขา และจะต้องมี 100 สาขาให้ได้ในปี 2020 หลังจากคำประกาศนั้นก็ไร้ร่องรอยการเคลื่อนไหวว่าจะเปิดสาขาแบบไหน และจะพลิกฟื้นแบรนด์ตัวเองอย่างไร

จะมีแต่เพียงแค่เปิดเผยว่าการตกแต่งร้านยังคงสไตล์เดิมแนว Retro เพราะเชื่อว่านี่คือการสร้างความ “ต่าง” จากคู่แข่งในตลาดร้านอาหาร QSR แถมยังเป็นความ “ต่าง” ที่ถูกใจลูกค้าขาประจำ

จนมาถึงความเคลื่อนไหวล่าสุด  A&Wในมือเจ้าของคนใหม่ เริ่มมีคำตอบชัดเจนแล้วว่าตัวเองจะเดินไปทางไหน?

หากเทียบกันแบรนด์ต่อแบรนด์ในเรื่องจำนวนสาขา ไม่ว่าจะเป็น KFC, McDonald’s หรือ Burger king ของ ไมเนอร์ กรุ๊ป คนที่อยู่รั้งท้ายก็คือA&W  

อีกทั้งพลังเงินทุนของ A&Wก็คือ “มวยรอง น้องเล็ก” ของเกมตลาดร้านอาหาร QSR เมืองไทย แม้จะประกาศชัดเจนเมื่อปีที่แล้วว่า A&W พร้อมโค่นคู่แข่ง เพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 3 ในตลาดเซกเมนต์เบอร์เกอร์และไก่ทอด ที่มีมูลค่า 27,000 ล้านบาท

และการจะไปถึง “เป้าหมาย” จำนวนสาขาคือเรื่องสำคัญที่สุด แม้เทรนด์การสั่งอาหารออนไลน์และ Delivery จะมาแรงและเติบโตต่อเนื่อง แต่หากย้อนดูยอดขายของคู่แข่งทุกรายในตลาดเบอร์เกอร์และไก่ทอด รายได้หลักอันดับ 1 ยังมาจาก “สาขา” (ถ้าตลาด Pizza ยอดขายมากกว่า 50% มาจาก Delivery)

เกมของ A&Wคือหา Model การลงทุนขยายสาขาที่ประหยัดและตอบโจทย์พฤติกรรมคนให้มากที่สุด นั่นคือการใช้โมเดลร้านที่ชื่อว่า “A&W Express” ที่ร้านจะมีขนาดเล็กเหมือนคีออส สาขาเล็กๆ เน้นขายอาหารชุด และมีพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร 10-15 ที่นั่ง โดยเริ่มแรกเน้นไปที่ทำเลรถไฟฟ้าใต้ดิน 4 สถานี

จากนั้นก็ค่อยเขยิบมาดูโลเคชั่นปั๊มน้ำมัน, ศูนย์การค้าขนาดเล็กๆ โดยตั้งเป้าว่าจะครบ 100 สาขาภายในปี 2020

แน่นอนเมื่อเลือกที่จะใช้สาขาขนาดเล็กกว่าคู่แข่ง ก็ย่อมประหยัดค่าเช่าพื้นที่, จำนวนพนักงานที่น้อยต่อสาขา

พร้อมกับจับกลุ่มลูกค้าที่ชอบความ “อิ่มสะดวก” ไม่ได้ใช้เวลาในการรับประทานอาหาร QSR นาน แต่ใช้ชีวิตเร่งรีบที่อาจจะซื้อไปรับประทานที่ออฟฟิศหรือนั่งรับประทานให้เสร็จในร้านในเวลารวดเร็ว   

ส่วนอีกหนึ่ง “จุดอ่อน” สำคัญในอดีตก็คือที่ผ่านมา “A&W” ในมือเจ้าของคนเก่าก็ไม่ได้พัฒนาเมนูอาหารใหม่ๆ ออกมาเสิร์ฟผู้บริโภค

ที่สำคัญทั้งบริษัทลูกอย่าง NPP Food ก็เพิ่งเข้ามาในธุรกิจร้านอาหารไม่ได้มีพื้นฐานแข็งแกร่งในธุรกิจอาหารเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งเจ้าของตัวจริงอย่างบริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เองธุรกิจหลักคือบรรจุภัณฑ์พลาสติก 

การหา “เพื่อน” ที่เก่งและชำนาญเพื่อมา R&D พัฒนาอาหารและเครื่องดื่ม จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC พัฒนาสินค้าเครื่องดื่มไม่ใช่น้ำอัดลม ทั้งชนิดร้อนและเย็น

ในกลุ่มอาหารเป็นอะไรที่น่าสนใจมากที่สุดเมื่อ A&W เลือกบริษัท CP B&F ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ CP เพื่อพัฒนาเมนูอาหารใหม่ๆ มาแข่งขันในตลาดและสร้างยอดขายให้แก่ตัวเอง

จากนั้นก็มีกระแสข่าวในตลาดหลักทรัพย์ตามมาติดๆ ว่า CP สนใจจะเข้าซื้อกิจการของบริษัทแห่งนี้ในราคาหุ้นละ 0.70 บาท และมีการคาดเดาจากนักวิเคราะห์ว่าหาก CP จะซื้อคงไม่ใช่เป็นการร่วมทุน แต่จะเป็นการซื้อหุ้นทั้งหมดเทคโอเวอร์ เพื่อให้อำนาจในการบริหารเบ็ดเสร็จอยู่ในมือตัวเอง 

เพราะการที่ CP จะครอบครองบริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีแบรนด์ร้านอาหารอย่าง A&Wและ มิยาบิ, ดีน แอนด์ เดลูก้า” ซึ่งสามารถเอามาต่อยอดในธุรกิจอาหารของตัวเองให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม เพราะ CP เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารมากมาย

หรืออาจจะนำ A&Wเข้ามาสอดแทรกในสาขา 7 eleven ก็สามารถทำได้ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย 

แต่ไม่ว่า “เจ้าของ” A&Wจะเปลี่ยนมืออีกครั้งหรือไม่นั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนตอนนี้คือ A&Wกำลังค่อยๆ กำจัด “จุดอ่อน” ในอดีตที่ผ่านมาของตัวเองทั้งจำนวนสาขาและเรื่องเมนูอาหาร เพื่อทำให้แบรนด์มีตัวตนในความรู้สึกของผู้บริโภคที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าในอดีต

ไม่ใช่ร้านอาหารที่คนทั่วไปคิดกันไปเองว่า “ปิดกิจการ” ทั้งๆ ที่ยังมี “ลมหายใจ” 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online