มือถือได้ Disturbs ทุกอย่าง ไม่เว้นแต่โลกธนาคาร

วันนี้ มีคนไทยมากถึง 56 ล้านคนใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต และใช้งานเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อวัน จากการยกมือถือมาดู 400 ครั้งต่อวัน เพราะอยากอัพเดทเรื่องราวในโลกโซเชียล เพราะอยากซื้อสินค้า อยากเดินทางไปไหนสักแห่ง

และมือถือนี่เองได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เคยชินกับคำว่าเดี๋ยวนี้ ซึ่งคำว่าเดี๋ยวนี้ของผู้บริโภคได้มีผลกระทบโดยตรงกับธนาคาร เพราะผู้บริโภคไม่รอที่จะไปสาขาเพื่อทำธุรกรรม ไม่รอที่จะไปเอทีเอ็ม เพื่อโอนเงิน และไม่รอที่จะไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม เพื่อนำเงินสดมาซื้อสินค้าจากร้านค้า และอื่นอีกมากมาย ที่ผู้บริโภครอทำธุรกรรมแบบเดิมๆ ไม่ได้ จนเกิดปรากฏการณ์ผู้บริโภคเข้าสาขาธนาคารน้อยลง

นอกจากนี้การเข้ามาของน็อนแบงก์ต่างๆ อย่าง ไลน์เพย์ เอ็มเพย์ บลูเพย์ ทรูมันนี่ และอื่นๆ ได้เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการชำระเงินในรูปแบบ Cashless มากขึ้น และน็อนแบงก์เหล่านี้ นับวันจะทำตัวเหมือนธนาคารที่ให้บริการทางการเงินไปทุกที ที่มาพร้อมรีวอดต่างๆ ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

 Mobile Banking ธุรกรรมที่โตวันโตคืน Q1/2560 Q2/2560 Q3/2560 Q4/2560 Q1/2561 Q2/2561 ลูกค้า (ราย) 23,892,462 26,322,671 28,442,453 31,634,571 34,503,696 37,973,421 จำนวนธุรกรรม (พันรายการ) 213,952 255,802 333,741 426,436 482,632 575,376 มูลค่าธุรกรรม (พันล้านบาท) 1,782 1,975 2,368 2,874 3,203 3,641 ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตุลาคม 2561

ทางออกของธนาคารคือการปรับตัวเองให้บริการสู่ Mobile Banking ที่เป็นมากกว่า ธนาคารมือถือ ที่ให้บริการลูกค้าเพียง เช็คยอดเงินในบัญชี และโอนเงินไปยังบัญชีอื่นๆ

เพราะการแข่งขันของธนาคาร ต้องสู้กันระหว่างธนาคารด้วยกันเอง น็อนแบงก์ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่นับวันจะต้องการบริการที่รวดเร็วที่สุด และเอาใจยากขึ้น เพื่อแยกชิงเป็นธนาคารหลักของผู้ใช้งาน

เพราะการเป็นธนาคารหลักของผู้ใช้บริการนอกจากการรู้จักลูกค้าที่มากขึ้นเพื่อนำมาต่อยอดสู้บริการอื่นๆ ยังหมายถึงเงินฝากของลูกค้า ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่มูลค่ามหาศาลที่ธนาคารจะนำไปลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นผลกำไรกลับมาให้กับธนาคารจะมีมากขึ้นตามมาด้วย

 

และเมื่อดูจาก Mobile Banking ในประเทศไทย รวมทั้งหมดมี 37.6 ล้านบัญชี จากผู้ใช้ 31 ล้านคน ซึ่งถือว่ายังช่องว่างที่ธนาคารจะเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้อีกมาก

 

โมบายแบงก์กิ้ง มีคนใช้งานน้อยกว่าแอปแผนที่

Mobile Banking 56%

Map       64%

Game    66%

Watching VDO   75%

Messenger         77%

ที่มา : KTB, ตุลาคม 2561

 

เมื่อทิศทางเป็นเช่นนี้ ไม่แปลกเลยที่ในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว จะได้เห็นธนาคาร 3 สี ทั้ง กสิกร ไทยพาณิชย์ และกรุงไทย ออกมาเปิดบริการ กลยุทธ์ และทิศทางการตลาดในธุรกิจ Mobile Banking อย่างมีสีสัน โดยเน้นการนำเอาไลฟ์สไตล์เข้าไปให้บริการกับผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการในแอปฯ ธนาคารบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

เพราะการใช้บริการ Mobile Banking ยิ่งมีความถี่มากเท่าไร ผู้บริโภคก็จะใช้ธนาคารนั้นเป็นธนาคารหลักมากขึ้นเท่านั้น และยังทำให้ธนาคารสามารถเรียนรู้พฤติกรรมจากการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่าน Mobile Banking เพื่อรู้จักและรู้ใจลูกค้า ต่อยอดไปยังบริการต่างๆ ของธนาคารได้อย่างแม่นยำมากขึ้นตามมา

แล้วธนาคารไหนหละจะไม่อยากเป็น

เมื่อทุกธนาคารก็พร้อมรบในสงคราม Mobile Banking แต่กลับกลายเป็นว่า ธนาคารทั้ง 3 แห่ง ต่างก็มีฟีเจอร์การให้บริการคล้ายๆ กัน แล้วอย่างนี้ธนาคารทั้ง 3 จะสร้างความต่างได้อย่างไร

เมื่อ SCB Easy ขอเปลี่ยนตัวเองสู่ Moment Banking

SCB ถือว่าเป็นธนาคารแรกที่มีการปรับตัวเองสู่ Lifestyle Banking ที่ชัดเจนก่อนธนาคารอื่นๆ หลังจากที่เปิด SCB Easy โฉมใหม่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560

ซึ่งในแอป SCB Easy มีความเป็นไลฟ์สไตล์จากการบวกบริการและฟีเจอร์อื่นๆ ที่มากกว่าการโอน และเช็คยอดเงิน เช่นการใช้แอป SCB Easy กดเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มไทยพาณิชย์โดยไม่ใช้บัตรเอทีเอ็ม, บริการซื้อตั๋วภาพยนตร์ การใช้ QR Code ชำระเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต และการชำระค่าอาหารในศูนย์อาหารเดอะมอลล์  จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ เติมเงินบัตรทางด่วน และอื่นๆ

รวมถึงการทำธุรกรรมผ่านแอปโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ซึ่งถือว่าเป็นอีกจุดขายหนึ่งของแอปนี้
ผลปรากฏว่าหลังจากที่เปลี่ยนโฉมแอปใหม่ และรุกตลาดด้วยเกมการตลาดอย่างเต็มกำลัง SCB Easy สามารถสร้างการเติบโตด้านจำนวนผู้ใช้งาน SCB Easy มากถึง 8 ล้านราย จาก 4 ล้านในเดือนสิงหาคม 2560 

และการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ของ SCB Easy ยังมีส่วนกระตุ้นให้ยอดลูกค้าที่เปิดบัญชีธนาคารกับธนาคารไทยพาณิชย์ จาก 14 ล้านราย เป็นเกือบ 16 ล้านบัญชีในช่วงเวลาเพียงปีกว่าๆ เท่านั้น

 

SCB Easy เติบโตแบบ Easy

สิงหาคม 2560 ลูกค้า 4 ล้านราย

มีนาคม 2561 ลูกค้า 6 ล้านราย

ตุลาคม 2561 ลูกค้า 8 ล้านราย  

สิ้นปี 2561 ลูกค้า 10 ล้านราย

สิ้นปี 2562 ลูกค้า 12.5 ล้านราย

*สิ้นปี 2561และ 2562 เป็นการคาดการณ์

ที่มา : SCB,ตุลาคม 2561

 

บริการยอดนิยม SCB Easy หลังจากยกเครื่องใหม่

มีลูกค้าเข้าใช้ SCB EASY กว่า 2,000 ล้านครั้ง เฉลี่ยเข้าใช้บริการคนละ 20 ครั้งต่อเดือน

ธุรกรรมโอนเงิน 450 ล้านครั้ง

เติมเงิน 101 ล้านครั้ง

Bill Payments 39 ล้านครั้ง

กดเงินไม่ใช้บัตรกว่า 38 ล้านครั้ง

ชำระเงินผ่าน QR Code 11 ล้านครั้ง

ขอสินเชื่อผ่านแอป 486,000 ครั้ง

ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ 310,000 ใบ

แลกคะแนนสะสม 360,000 ครั้ง

ขออนุมัติสินเชื่อผ่านแอป 4.7พันล้านบาท

ซื้อกองทุนผ่านแอป 100 พันล้านบาท

บริจาคเงินผ่านแอป 250 ล้านบาท

แจ้งเตือนธุรกรรมผ่านไลน์ SCB  Connect 400 ล้านครั้ง

*นับตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2560-24 ตุลาคม 2561

ที่มา : SCB,ตุลาคม 2561

 

ที่ผ่านมา การเติบโตของผู้ใช้งาน SCB Easy มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่ปัญหาคือในตลาดเริ่มมีคู่แข่งเช่นธนาคารกสิกรไทย ที่เปลี่ยนโฉม K-Plus ใหม่ และใส่ความเป็นไลฟ์สไตล์เข้าไปในบริการมากขึ้น เพื่อหวังเป็นแอปที่ผู้บริโภคใช้ทุกวัน

เมื่อคู่แข่งเริ่มบุกไลฟ์สไตล์โมบายแบงก์กิ้ง เกมต่อไปของ SCB Easy ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงหนีไปที่การสร้างความแตกต่างผ่านแนวคิด Moment Banking ด้วยการจับ Micro Moment ของลูกค้ามาใช้เพิ่มความถี่ในการเข้าใช้บริการแอป SCB Easy จากเฉลี่ย 20 ครั้งต่อเดือน เป็นมากกว่า30 ครั้งต่อเดือน

โดย Moment Banking ของ SCB Easy ได้แบ่งเป็น 2 เฟส หลัก ได้แก่

เฟสที่หนึ่ง – นำฟีเจอร์ที่มีให้บริการในแอป SCB Easy อยู่แล้ว แต่ผู้ใช้บริการไม่ค่อยรู้ว่ามีฟีเจอร์นี้ หรือไม่ค่อยได้ใช้บริการ 20 ฟีเจอร์ เช่น ฟีเจอร์บริการเปิด-ปิดบัตรเครดิตได้ด้วยตนเอง, ขอสเตทเมนต์ย้อนหลัง 1 ปี, โอนเงินได้สูงสุด 10 รายการพร้อมกัน ,จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ได้ทุกที่ทั่วโลก, เติมเงินบัตรทางด่วน และอื่นๆ มานำเสนอผ่านแคมเปญโฆษณาออนไลน์ ด้วยคลิปโฆษณาสั้นๆ  20 เรื่อง ผ่านงบการตลาด 10 ล้านบาท

การแนะนำคลิปทั้ง 20เรื่องนี้ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย  สุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ใช้วิธีสื่อสารไปยังผู้ที่ไม่เคยใช้ฟีเจอร์เหล่านี้มาก่อนผ่านโซเชียลมีเดียทั้งหมด

โดยในแต่ละคลิปจะนำเสนอถึงกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบ Targeted Marketing  ผ่านกลยุทธ์ 3 R ได้แก่              

Reach เลือกสื่อสารกับลูกค้าแบบรายบุคคลที่ตรงกลุ่มโดยใช้ข้อมูลจาก Big Data ของธนาคาร มาประมวลผลกับข้อมูลพฤติกรรมและความสนใจจากมีเดียแพลตฟอร์ม เพื่อหากลุ่มลูกค้าที่ใช่

Relevance นำข้อมูลที่เจาะลึกลงไป เช่น สถานที่ วันเวลาของเดือน ความต้องการใช้เงินของลูกค้า เพื่อประมวลผลความต้องการของลูกค้าแต่ละรายในแต่ละช่วงเวลาว่าลูกค้ากำลังต้องการใช้บริการฟีเจอร์ใด และจากนั้นจะยิงโฆษณาฟีเจอร์นั้น ไปยังช่องทางเฟซบุ๊ก ยูทูป และอินสตาแกรมสตอรี่ ของลูกค้าเพื่อให้เกิดการรับรู้

และ Result นำเสนอคลิปตามช่วงเวลาที่คาดว่าจะอยู่ในโมเมนต์นั้นๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  เช่น คลิป บริการเติมเงินบัตรทางด่วน จะเลือกยิงคลิปโฆษณาฟีเจอร์นี้ไปเฉพาะช่วงเช้ากับเย็น ในพื้นที่แถวทางด่วน เป็นต้น

เฟสที่ 2 ยกบริการที่สาขามีมาให้บริการผ่านแอปทั้งหมด ยกเว้นการฝากเงิน และพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่เข้าไปเชื่อมโยงกับโมเมนต์ต่างๆ ของผู้บริโภคมากขึ้น โดย SCB มีแผนเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ ใน SCB Easy เพิ่มอีก 20 ฟีเจอร์ เช่นฟีเจอร์สมุดบัญชีดิจิทัล โดยใช่แอป SCB Easy เป็นสมุดบัญชีดิจิทัล แทนสมุดบัญชีปกติเพื่อทำธุรกรรมผ่านสาขา, ฟีเจอร์ขอสลิปย้อนหลัง บริการขอสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อธุรกิจ หรือแม้แต่การสั่งอาหาร Take Away และชำระเงินผ่านแอปล่วงหน้า เพื่อประหยัดเวลาในการรอชำระเงินเมื่อเข้าไปรับอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้การบุกตลาดอย่างต่อเนื่องของ SCB Easy ธนา เชื่อว่าจะสร้างการเติบโตด้านยอดผู้ใช้ และเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครัก และผูกพันได้ไม่ยาก

และเมื่อผู้บริโภครักแล้ว การตลาดในสเตปต่อไปคือ การนำเสนอบริการอื่นๆ ที่ไทยพาณิชย์มีให้บริการกับลูกค้าเฉพาะบุคคล เช่นบริการสินเชื่อ บริการบัตรเครดิต บริการกองทุน แทนการนำเสนอแบบเหวี่ยงแหถึงลูกค้า เพราะโอกาสที่ลูกค้าจะเปิดใจยอมใช้บริการอื่นๆ ที่นำเสนอจะมีมากขึ้นตามมา

 

K-Plus เปลี่ยนไปแบบคนรู้ใจ

หลังจากที่ธนาคารกสิกรไทยได้ปล่อยให้ SCB Easy เปลี่ยนโฉมใหม่ นำไปก่อนเกือบ 1 ปี จนมียอดผู้ใช้งานเติบโตก้าวกระโด ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวโฉมหน้าใหม่ของ K-Plus ที่ เพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

เพราะเป้าหมายของพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย คือการใช้ K-Plus เป็นหนึ่งในแอปที่ทุกคนต้องใช้บริการ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดยอดลูกค้าใหม่ให้กับธนาคาร เติบโตปีละ 2 ล้านบัญชี ภายใน 3 ปี หรือรวมลูกค้าทั้งสิ้น 20 ล้านบัญชีในปี 2564

จากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้าใหม่เฉลี่ยปีละ 1 ล้านกว่าเท่านั้น

ซึ่งการปรับใหม่ในครั้งนี้ K-Plus ได้เน้นการตลาดสู่แอปที่รู้ใจผู้ใช้งานด้วยการเปลี่ยน User Interface ใหม่ ให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์หน้าแรกได้ตามที่ต้องการ มีการนำฟีเจอร์ที่ในอดีตผู้ใช้บริการหาไม่เจอ ขึ้นมาโชว์ในหน้าธุรกรรมหลัก และสามารถใช้เสียงสั่งงานธุรกรรมที่ใช้เป็นประจำได้

และมีการเพิ่มบริการกดเงินผ่านตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทย ผ่านแอป K-Plus โดยไม่ต้องใช้บัตรเอทีเอ็ม และสามารถโอนเงินได้โดยไม่ต้องปิดไวไฟ

นอกจากฟีเจอร์ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว K-Plus ได้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการ ด้วยการเปิดตัวเองเป็น Open Platform ที่เปิดให้พันธมิตรเข้ามาเชื่อมต่อบริการของพันธมิตรให้อยู่ในแอป K-Plus เช่น การเช็กพอยต์ หรือรีวอร์ดของแบรนด์พันธมิตรผ่านแอป K-Plus เป็นต้น พร้อมนำระบบ AI  มาช่วยวิเคราะห์ ประมวลผลพฤติกรรมของผู้ใช้งานเฉพาะบุคคลผ่าน Big Data เพื่อนำเสนอบริการต่างๆ ให้เข้าถึงผู้บริโภคเชิงลึกมากขึ้น

เพราะเป้าหมายของพัชรในการเปิดแอปให้เป็น Open Platform คือ ต้องการให้แอป K-Plus เป็นแอปที่ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการจ่ายเงินและไลฟ์สไตล์

โดยที่ผ่านมา ปัญหาของธนาคารกสิกรไทยคือ ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการผ่าน K-Plus ถ้าไม่นับรวมการเช็กยอดเงินในบัญชี 99% ของธุรกรรมผ่าน K-Plus ใช้เพื่อการโอนเงินเป็นหลัก ส่วนธุรกรรมไลฟ์สไตล์มีเพียง 1% เท่านั้น

และการเปิด K-Plus ในรูปแบบใหม่นี้ พัชรเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนยอดผู้ใช้งานในส่วนของไลฟ์สไตล์เป็น 5-10% ได้ภายใน 1 ปี

  

      2559       2560 2561
จำนวนผู้ใช้บริการ K PLUS (ล้านราย)   4.6    7.3 9.4 (สิ้นสุด กันยายน 2561)
ปริมาณธุรกรรมผ่าน K PLUS (ล้านรายการต่อปี) 1,646 3,052 3,634

(ม.ค.–ก.ย.2561)

 

Krungthai NEXT ถึงคราวที่ กรุงไทย ต้องควง ณเดชน์เปลี่ยนสู่ไลฟ์สไตล์

ในอดีตคนอาจจะมองภาพ Mobile Banking ของธนาคารกรุงไทยเป็นแอปที่มีการพัฒนาช้า จนเมื่อ2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้ทุ่มเม็ดเงินด้านไอทีอย่างหนักในการปรับเปลี่ยนบริการออนไลน์ของธนาคารให้รวดเร็วและทันสมัยมากขึ้น

 

คุณรู้จักพลังกรุงไทยแค่ไหน

บัญชีกรุงไทย 30 ล้านบัญชี

ผู้ใช้บริการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านธนาคารกรุงไทย 11.4 ล้านราย

มีเครื่อง EDC 30,000 เครื่อง

สาขาและเอทีเอ็มของธนาคารเข้าถึง 800 อำเภอ 7,000 ตำบล

 

ซึ่งการรุกไปยังธุรกิจ Mobile Banking อย่างจริงจัง มาจากการเห็นพฤติกรรมลูกค้าของธนาคาร ที่เปลี่ยนสู่สังคมดิจิทัลมากขึ้น และเริ่มมาทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารน้อยลง

โดยในเดือนธันวาคม 2560 เป็นเดือนแรกที่เกิดปรากฏการณ์ยอดการทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยลดต่ำลง

 

Mobile Banking ธนาคารกรุงไทยเติบโตสุด

Mobile Banking (ผ่านแอป KTB Net Bank) การใช้งานเติบโต 75%

ATM ธนาคารกรุงเทพการใช้งานเติบโต 1%

สาขาธนาคารกรุงไทย การใช้งานติดลบ 1%

 

เมื่อโลกการให้บริการ Mobile Banking ได้ก้าวเข้าสู่ไลฟ์สไตล์โมบายแบงก์กิ้ง รองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐอย่างกรุงไทยก็ได้เปลี่ยนแปลงสู่ Lifestyle Mobile Banking กับเขาเหมือนกัน ด้วยการเปิดตัวแอป Krungthai NEXT  เข้ามาให้บริการในเดือนตุลาคม 2561

โดยKrungthai NEXT ใช้งบการพัฒนา 3,000 ล้านบาท จากงบไอทีทั้งหมด 12,000 ล้านบาทในปีนี้

Krungthai NEXT เป็น แอป Mobile Banking แอปที่สอง ของธนาคารกรุงไทย ที่เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้ากรุงไทยให้สามารถเลือกทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ของธนาคารได้ทั้ง 2 แอป ทั้งแอปเดิมอย่างKTB Netbank และแอปใหม่Krungthai NEXT และทั้ง 2 แอปนี้มีฟีเจอร์ที่ให้บริการเหมือนๆ กัน

แต่ Krungthai NEXT มีจุดที่แตกต่าง KTB Netbank คือมีการเพิ่มระบบ AI เข้ามาเรียนรู้ผู้ใช้บริการ รองรับฟีเจอร์ในอนาคต ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และไฟล์สไตล์ บน User Interface ใช้งานง่ายดึงฟังก์ชั่นโอน เติม จ่าย มาไว้ที่หน้าแรก ให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ KTB Netbank มีทุกฟีเจอร์อยู่ในหน้าแรกทำให้ต้องใช้เวลาในการไล่ดูฟีเจอร์ที่ต้องการ  

อ่านแล้วอาจจะงงงงว่าทำไม ธนาคารกรุงไทยถึงพัฒนาแอป Mobile Banking ถึง 2 แอป แทนที่จะเปลี่ยนชื่อ KTB Netbank เป็นKrungthai NEXT เพื่อให้มีความทันสมัย และนำโฉมใหม่เข้ามาแทนที่ของเก่าเหมือนกับที่ธนาคารอื่นๆ ได้ทำกันเมื่อมีการ Re-Branding หรือปรับเปลี่ยนโฉม Mobile Banking ไปสู่โฉมใหม่ๆ

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ให้เหตุผลของการมี 2 แอปว่ามาจาก

1.แอป KTB Netbank เป็นแอปที่มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งการออกแบบ KTB Netbank มีข้อจำกัดคือไม่สามารถเพิ่มเติมฟีเจอร์ใหม่ๆ ได้มากกว่าที่ให้บริการในปัจจุบันได้มากนัก รวมถึงไม่สามารถนำระบบ AI ผ่านแอป KTB Netbank ได้ ซึ่งระบบ AI เป็นระบบที่มีความจำเป็นในการให้บริการลูกค้าในยุคอนาคต เพราะระบบ AI สามารถเรียนรู้ รู้จักลูกค้า เพื่อให้บริการกับลูกค้าเฉพาะบุคคลอย่างลึกซึ้ง

2.KTB Netbank มีผู้ใช้บริการบางกลุ่มเป็นผู้สูงอายุที่คุ้ยเคยกับ User Interface เดิมของ KTB Netbank และจะเกิดปัญหา และสับสนในการใช้งานเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง User Interface ภายในแอป

ซึ่งทั้ง 2 ปัญหานี้ทำให้ ผยง ตัดสินใจพัฒนาแอปใหม่ และตั้งชื่อให้แตกต่างเพื่อลดปัญหาของการใช้งานของผู้ใช้งาน KTB Netbank เดิมที่มีอยู่ทั้งสิ้น 5 ล้านราย เป็น Active User 2.9 ล้านราย

และหลังจากเปิดตัว Krungthai NEXT เป็นที่เรียบร้อย ในเฟสแรก ผยง ได้สร้างการรับรู้เพื่อ Migrate ลูกค้า KTB Netbank เดิม และเชิญชวนลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการ Krungthai NEXT ผ่านภาพยนตร์โฆษณา โดยมี ณเดชน์ คูกิมิยะ เป็นพรีเซ็นเตอร์ที่นำเสนอเป็นโฆษณาเพลงที่บอกถึงบริการต่างๆ ที่ กรุงไทย NEXT ให้บริการ ที่เหมาะสำหรับคนไทยทั่วประเทศ

ส่วนในเฟสที่ 2 คือการ Educate และ Migrate ลูกค้าที่เหลือทั้งหมดใน KTB Netbank เข้ามาเป็นลูกค้ากรุงไทย NEXT ทั้งหมด เพื่อที่จะรวมบริการ Mobile Banking ของธนาคารเหลือเพียงบริการเดียว เพื่อง่ายต่อการพัฒนาและดูแลผู้ใช้บริการทั้งหมด

ทั้งนี้การมาของ Krungthai NEXT ผยง เชื่อว่าในปี 2562 Mobile Banking ของธนาคารกรุงไทย จะมีลูกค้าใช้บริการเพิ่มเป็น 10 ล้านราย ผ่านบริการทั้งสองแอปพลิเคชั่น และเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้ Mobile Banking ของธนาคารกรุงไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online