เมื่อนำขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ ค่าจ้างแรงงานต่ำมารวมเข้ากับ Technology การผลิตต่างๆ จากเจ้าของแบรนด์ จีนจึงครองตำแหน่ง “โรงงานโลก” เป็นแหล่งผลิตสินค้ามากมายตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รถยนต์ ไปจนถึง Mobile Device มาหลายทศวรรษ ในอนาคตมีแนวโน้มว่าสถานะดังกล่าวจะพัฒนาไปอีกขั้น หลัง ABB บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์และจักรกลโรงงานรายใหญ่ของโลก ประกาศว่ากำลังเดินหน้าสร้างโรงงานหุ่นยนต์เพื่อสร้างหุ่นยนต์

หุ่นยนต์สร้างหุ่นยนต์ โรงงาน

ลำพังแค่ Concept ว่าน่าทึ่งแล้ว เพราะทำให้จินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์ใกล้จะเกิดขึ้นจริงแล้ว แต่การสร้างโรงงานแห่งนี้ที่จะเปิดทำการในปี 2020 ยังมีอีกหลายอย่างน่าสนใจและน่าติดตาม

 

แหล่งผลิตแห่งอนาคตมูลค่ามหาศาลบนแผ่นดินจีน  

โรงงานดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าก่อสร้าง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,950 ล้านบาท) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 75,000 ตารางฟุต ในเขตคังเฉียว ย่านโรงงานของนครเซี่ยงไฮ้ โดย ABB ระบุว่าพลังขับเคลื่อนหลักคือ YuMi หุ่นยนต์แขนกลไร้หัวที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างใกล้ชิด ราบรื่นและปลอดภัย

หุ่นยนต์สร้างหุ่นยนต์ YuMi

พร้อมกับกระบะติดล้อเคลื่อนที่อัตโนมัติซึ่งจะนำอุปกรณ์ต่างๆ ไปยังจุดที่กำหนดไว้เพื่อให้กระบวนการผลิตลื่นไหล ขณะเดียวกันยังสามารถควบคุมหุ่นยนต์ทั้งหมดจากระยะไกลผ่าน Mobile Device ได้อีกด้วย

หุ่นยนต์สร้างหุ่นยนต์

บริษัทสัญชาติสวิสอายุ 30 ปี ตั้งเป้าให้เป็นโรงงานทันสมัยที่สุดในโลก โดยหุ่นยนต์ที่ผลิตได้จะขายให้โรงงานในจีนและส่งออกไปยังประเทศในเอเชีย เพื่อรักษาตำแหน่งการเป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์โรงงานใหญ่สุดในโลกต่อไป Ulrich Spiesshofer ประธานบริหาร (CEO) ของ ABB ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงงานแห่งนี้ซึ่งมีศูนย์วิจัย และพัฒนาอยู่ด้วย สามารถผลิตหุ่นยนต์ได้ถึงปีละ 100,000 ตัว คิดเป็น 1 ใน 4 ความต้องการหุ่นยนต์โรงงานทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว 

 

ทำไมจีนถึงเป็นตัวเลือกแรกของโรงงานหุ่นยนต์สร้างหุ่นยนต์

แม้ ABBมีโรงงานลักษณะใกล้เคียงกับในสวีเดนและสหรัฐฯ แต่กลับเลือกจีนเป็นที่ตั้งของโรงงานแห่งใหม่ที่มี Technology ดีสุด เพราะความต้องการหุ่นยนต์โรงงานในจีนมีอัตราเติบโตสูง รองเพียงสหรัฐฯ มีการประมาณกันว่า หุ่นยนต์โรงงาน 1 ใน 3 ของทั่วโลกที่ถูกผลิตขึ้นจะถูกส่งไปยังโรงงานในจีน โดยการก่อสร้างโรงงานแห่งนี้ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนของ ABBในจีนซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 1992 เพิ่มขึ้นเป็น 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 79,200 ล้านบาท)

วิเคราะห์กันว่าการสร้างโรงงานแห่งใหม่ของ ABBยังเป็นการหลีกให้ไกลจากการตั้งกำแพงภาษีของทางการสหรัฐฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม ABBก็ประมาทไม่ได้เพราะ Kuka บริษัทคู่แข่งซึ่งกลายเป็นองค์กรใต้ชายคาของ Midea แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจีน ผ่านการขายกิจการเมื่อปี 2016 ก็กำลังเร่งสร้างโรงงานผลิตหุ่นยนต์ในจีนเช่นกัน โดยตั้งอยู่ที่เมืองซุ่นเต๋อใกล้กับฮ่องกง  

ด้านสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) องค์กรอิสระเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์โรงงาน เผยว่าปี 2017 ยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในจีนอยู่ที่ 138,000 ตัว เพิ่มขึ้น 58% จากปี 2015 ซึ่งอยู่ที่ 69,000 ตัว โดยเป็นอัตราเติบโตสูงสุดและทิ้งห่างกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมด้วยกันอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐฯ อย่างขาดลอย 

IFR คาดการณ์ว่ากระบวนการผลิตในโรงงานกำลังเข้าสู่ยุคที่ 3 ซึ่งคนและหุ่นยนต์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและใกล้ชิด โดยที่อุปสรรคระหว่างกันลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ยังเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนมากก็ตาม ส่วนในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในโรงงานมากขึ้น ด้วยการรับงานใช้แรง เสี่ยงอันตราย และเผชิญกับความสกปรกแทนมนุษย์/cnn, scmp, therobotreport, wikipedia

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online