เมื่อ 4 ปีที่แล้ว Olympus เคยเป็น “แชมป์” ในตลาดกล้อง Mirrorless ด้วยกล้อง EM 5 ที่มีเทคโนโลยีเหนือชั้นกว่าคู่แข่งในเวลานั้น ด้วยระบบกันสั่น 5 แกนและช่องมองภาพ Electronic Viewfinder ที่สมจริง

กลายเป็นจุดพลิกเกมให้ Olympusจากที่เคยมีข่าวลือว่าเกือบจะ “ถอดใจ” เลิกกดชัตเตอร์ในเมืองไทย ให้กลับมามีเสียงชัตเตอร์ที่ดังสนั่นอีกครั้งในตลาดกล้องดิจิทัล

แต่ในโลกของเทคโนโลยีการถ่ายภาพก็ไม่ต่างจากสินค้า IT อื่นๆ นั่นคือการแข่งขันฟาดฟันกันด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้กล้องตัวเองโดดเด่นและกลายเป็นตัวเลือกอันดับ 1

และดูเหมือน Olympusจะปรับตัวไม่ทันกับการแข่งขันครั้งนี้ จนทำให้ทั้ง “Fujifilm” และ “Sony” ที่ขยันออกกล้องรุ่นใหม่ๆ พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีและดีไซน์ที่ตอบโจทย์

จนในที่สุดตำแหน่งยอดขายทางการตลาดของ Olympus ก็ตกมาอยู่อันดับ 3

ที่น่าสนใจในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาต้องบอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดกล้อง Mirrorless เมื่อ 2 กล้อง Pro อย่าง Nikon และ Canon ที่ในอดีตไม่ค่อยสนใจตลาดนี้สักเท่าไร

เลือกจะผลิตกล้อง Full Frame Mirrorless แม้แต่ค่ายกล้องเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง Panasonic เองก็โดดลงมาเล่นในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน

หลังจากปล่อยให้ Sony ผู้บุกเบิกตลาด Full Frame Mirrorless เมื่อ 5 ปีที่แล้วแถมยังทำตลาดนี้อย่างจริงจังด้วยการผลิตกล้อง Full Frame Mirrorless ออกมาหลายรุ่นหลายระดับราคา แย่งชิงกลุ่มลูกค้าช่างภาพระดับ Pro จากค่ายกล้อง อื่นๆ มาเป็นของตัวเอง

และนาทีนี้หากผู้ผลิตกล้องค่ายไหนที่ยังไม่มี Full Frame Mirrorless จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ตกยุค และอาจจะถูกค่ายกล้องคู่แข่งค่อยๆ กลืนกินลูกค้ากลุ่มช่างภาพระดับ Pro ไล่ยาวไปถึงลูกค้ากลุ่มอื่นๆ 

เพราะจากข้อมูลของ Nikon ระบุว่าในตลาดกล้อง Mirrorless 7,000 ล้านบาทนั้นระบบ Full Frame มีสัดส่วนถึง 30% และน่าจะยังเติบโตเรื่อยๆ ต่อไปอีก

เหตุผลก็คือธรรมชาติของช่างภาพสมัครเล่นเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะขยับไปที่กล้องที่ให้ไฟล์ภาพที่มีขนาดใหญ่นั้นคือกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ Full Frame

ถึง Full Frame Mirrorless จะเป็นอนาคตใหม่ของหลายค่ายกล้องแต่สำหรับ มิซึฮิโร ทานากะ กรรมการบริษัทและผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท โอลิมปัส (ประเทศไทย) จำกัด บอกชัดเจนว่า

“เราไม่มีแผนที่จะผลิต Full Frame Mirrorless” โดยให้เหตุผลว่า

ด้วยการที่เซ็นเซอร์ Full Frame ขนาดใหญ่ต่อให้ไปอยู่ในระบบกล้อง Mirrorless ขนาดและน้ำหนักของกล้องก็ไม่ได้เบาและเล็กกว่าระบบกล้อง DSLR สักเท่าไร ตรงนี้ยังรวมไปถึงเลนส์กล้อง Full Frame Mirrorless น้ำหนักและขนาดก็ไม่ได้ต่างจาก Full Frame DSLR มากนัก 

ที่สำคัญหากจะผลิต Full Frame Mirrorless ก็ต้องทิ้งระบบเลนส์ตัวเก่าอย่าง M 4/3 ทั้งหมดที่มีอยู่ในมือมากมาย แล้วลูกค้าก็ต้องเสียเงินอีกรอบเพื่อซื้อทั้งตัวกล้องและเลนส์

“และเราเชื่อว่าคาแรคเตอร์ Olympus ที่เป็นกล้องและเลนส์ขนาดเล็กน้ำหนักเบา ถ่ายสนุก เป็นจุดขายที่แตกต่างกับคู่แข่งมานาน เพียงแต่จุดอ่อนที่ผ่านมา อาจไม่ได้สื่อสารการตลาดกับลูกค้าในเรื่องนี้มากนัก โดยปีนี้เราจะสื่อสารจุดขายนี้ใ้ห้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

พูดง่ายๆ ก็คือ Olympusขออยู่ในอารยธรรมเดิมๆ ของตัวเองด้วยจุดขายเป็นกล้อง Mirrorless ขนาดเล็กน้ำหนักเบาพร้อมกับหมางเมิน  Full Frame Mirrorless

ถึงจะไม่ขยับไปสู่กล้องเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่เหมือนคู่แข่งแต่เป้าหมายของ Olympus กลับต้องการให้ตัวเองมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 14% ให้เป็น 20% ในอีก 2 ปีข้างหนัา

เพราะฉะนั้น Olympusต้องสร้างเสียงชัตเตอร์ตัวเองให้ดังกว่าที่ผ่านๆ มาโดยล่าสุดได้ลงทุนสร้าง Flagship store แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ Central world โดยนอกจากจะใช้เป็นพื้นที่การขายแล้วนั้น ยังเป็นพื้นที่รวมพลคนใช้ Olympusให้มาพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยเทคนิคการถ่ายภาพ

ในขณะที่กล้องรุ่นใหม่ๆ นั้นจากการเปิดเผยของ มิซึฮิโร ทานากะ บอกว่าปีนี้อาจจะมีกล้องรุ่นใหม่แค่ EPL 9 ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ปีหน้าจะเห็นไลน์อัพกล้องรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น และจะมาพร้อมเทคโนโลยีที่เหนือชั้น

สิ่งที่จะทำให้อดีตแชมป์ Mirrorless หวนกลับคืนมาสู่จุดที่ควรจะเป็น นอกจากการสื่อสารถึง “จุดขาย” ตัวเองให้ลูกค้า “อิน” แล้วเข้าใจว่าการเป็นกล้องเล็กน้ำหนักเบา มีข้อดีกว่า Full Frame Mirrorless อย่างไรแล้วนั้น

กล้องรุ่นใหม่ๆ ที่จะออกในปีหน้าก็ต้องมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและถูกจริตช่างภาพทั่วโลกให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน เพื่อมาทดแทนการเป็นกล้องที่เซ็นเซอร์ขนาดเล็กกว่า Full Frame

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online