นับจากที่มีกระแสข่าวว่า “สนามบินสุวรรณภูมิ” เริ่มรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินไม่เพียงพอต่อนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ก็เกิดกระแสมายาวนานต่อเนื่องว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ที่เปิดบริการตั้งแต่ปี 2549 จะต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพราะนี่คือสนามบินแห่งชาติที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ 

แผนการทำให้สนามบินแห่งนี้ต้องกว้างและใหญ่กว่าเดิม และที่สำคัญต้องเทียบชั้นกับสนามบินระดับทอปๆ ของโลก จึงถูกหยิบยกไปนำเสนอและผ่านการอนุมัติจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

จึงเป็นที่มาให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต้องใช้เงินเกือบๆ 1.48 แสนล้านบาท ขยายสนามบินแห่งชาติเต็มพิกัดในพื้นที่ 2 หมื่นไร่ เพื่อใช้ขยายแผนงานในเฟส 2-4 ส่วนเฟส 5 ที่เป็นเฟสสุดท้ายยังไม่มีการระบุตัวเลขการลงทุนที่แน่ชัดเจน

แล้วปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิที่เราใช้กันมานานกว่า 20 ปี และอยู่ในเฟส 1 ศักยภาพของสนามบินอยู่ในระดับดีแค่ไหน?

ก็ต้องบอกว่าถ้าเทียบกับ Roadmap ที่จะไปถึงเฟส 4 เป็นความแตกต่างสุดโต่ง ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว เพราะครั้งนี้ถือเป็นการใช้เงินลงทุนมหาศาลคือ 1.48 แสนล้านบาท (เป็นเม็ดเงินลงทุนรวมคือเฟส 2-3- 4)

เพื่อให้สนามบินแห่งชาติจากในอดีตปี 2015 เคยติดอันดับ 5 ของโลกประเภทสนามบินที่มีผู้โดยสารขนาด 40-50 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิหล่นมาอยู่ที่อันดับ 33 (จัดอันดับโดย World Airport Awards ของบริษัท Skytrax)

สิ่งที่น่าติดตามคือหากในปี 2569 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า สนามบินสุวรรณภูมิสร้างเสร็จตามกำหนดจะอลังการงานสร้างกลับมาติดอันดับต้นๆ สนามบินระดับโลกได้อีกครั้งหรือไม่? 

 

 

 

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้กำหนดเวลาเฟส 4 จะสร้างเสร็จในปี 2569 แต่สื่อหลายสำนักรวมถึงนักวิชาการหลายคนยังมองว่า น่าจะล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้เยอะ

เพราะแค่เริ่มต้นก็มีความขัดแย้งในการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งถ้ายังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน ก็จะทำให้ไม่สามารถเปิดการประมูลก่อสร้างได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 

เพราะฉะนั้นความฝันที่จะได้เห็นสนามบินสุวรรณภูมิไปสู่การก่อสร้างแล้วเสร็จในเฟส 5 ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้สนามบินแห่งนี้สมบูรณ์แบบ

ก็ยังไม่รู้ต้องรอคอยอีกนานแค่ไหน? เพราะแค่เริ่มต้นในเฟส 2 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะฉะนั้นเฟส 3 และ 4 ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online