ข้อติดขัดจะถูกขจัดให้หายไปอย่างง่ายดาย ถ้าได้กำหนดกรอบความคิด (Mindset) ไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับปัญหาที่จะลดน้อยถอยลงและสามารถมุ่งตรงไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น กับบริบทของการทำงาน Mindset เป็นเรื่องสำคัญเพราะไม่ว่าบริษัทจะเล็กหรือใหญ่ หากพนักงานทุกคนคิดอย่างผู้ประกอบการ หรือ Intrapreneur Mindset อยู่เสมอ หรือตระหนักว่าตนคือหนึ่งในบริษัทลูกใต้ชายคาองค์กรใหญ่อยู่ตลอด ประโยชน์ที่เกิดก็จะกระจายไปสู่ทุกฝ่าย

ในมุมของพนักงานเมื่องานเสร็จเร็วอย่างมีคุณภาพ การเลื่อนขั้น และขึ้นเงินเดือนรวมถึง Bonus ย่อมเป็นรางวัลที่ตามมา ส่วนถ้าเป็นฝั่งบริษัทเมื่อพนักงานทุ่มเทเกิน 100% แน่นอนว่าไม่ว่าจะตั้งเป้าหมายอะไรไว้ ก็สามารถไปถึงได้อย่างไม่ยากเย็น และประสบความสำเร็จได้มากกว่าคู่แข่งทุกรายในตลาด 

 

อะไรยากให้มองว่าท้าทาย: คุณสมบัติข้อแรกของพนักงานที่มี Intrapreneur Mindset คือการไม่หวั่นต่องานยาก รวมไปถึงสิ่งที่ไม่ถนัดต่างๆ เช่น หากไม่ถนัดเรื่องตัวเลขก็กล้าไปขอความรู้จากฝ่ายบัญชี พูดไม่เก่งเมื่อถูกมอบหมายให้นำเสนองานก็มุ่งมั่นฝึกฝนตนเองจนพูดพอได้ แน่นอนว่าช่วงแรกต้องตะกุกตะกัก แต่ในระยะยาวจะสามารถเป็นกำลังสำคัญขององค์กรได้เพราะเห็นหวังให้ทั้งตนและบริษัทได้ก้าวหน้า

ไม่ต่างจาก Startup ที่พร้อมทุ่มสุดตัวเพื่อผลักดันให้ Project ในฝันเป็นความจริง และประสบความสำเร็จ ไม่ว่าลำบากตรากตรำแค่ไหนก็ตาม

 

ลองจินตนาการว่าหลังชนฝา: ความประมาทว่าอยู่ในตำแหน่งที่เป็นต่อ และติดอยู่พื้นที่คุ้นเคย (Comfort Zone) เป็นกับดักความสำเร็จที่บริษัทใหญ่มากมายก้าวไม่พ้นจนต้องล้มลง และแม้ฟื้นขึ้นมาได้ใหม่ ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนยอมรับกับสถานะผู้ตาม ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ Nokia และ Kodak ที่แม้ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่และกล้องฟิล์ม แต่ก็ไม่ได้ไปต่อเมื่อตลาดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่ Smartphone และกล้อง Digital

ดังนั้นคุณสมบัติข้อถัดมาของ Intrapreneur Mindset ที่พนักงานควรพัฒนาให้เกิดขึ้นคือ ไม่ประมาทกับ Trend และจัดการงานให้เสร็จได้ท่ามกลางทรัพยากรจำกัด แม้ในความจริงจะมีทุกอย่างพร้อมสรรพก็ตาม ไม่ต่างกับ Startup ที่หลังชนฝาหรือเจอเข้ากับทางตัน ที่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้แบบคิดนอกกรอบ 

คุณสมบัติข้อนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งกับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย    

 

มีความกล้าในวงสนทนา:  ไม่ว่าเรื่องไหนก็มีข้อยกเว้น โดยสำหรับวงสนทนาหากเป็นในการประชุมที่มีความสำคัญกับองค์กร ถ้าคุณคิดว่าเรื่องที่คุณคิดนั้นถูกต้อง ควรกล้าพูดออกไป เพราะการประนีประนอมหรือนิ่งเงียบอาจส่งผลเสียในระยะยาว และอย่างน้อยการได้พูดสิ่งที่คิดออกไป ก็จะทำให้คนในห้องได้รู้ว่ามีคนคิดต่าง ควรเก็บไปพิจารณาด้วย

หากพนักงานคนไหนมีIntrapreneur Mindset ข้อนี้อยู่ บริษัทควรส่งเสริมให้มีความก้าวหน้า เพราะแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจ กล้าคิดต่าง และอาจเป็นคนที่สามารถชี้จุดบอดที่คนส่วนใหญ่มองข้าม แต่ขณะเดียวกันบริษัทต้องกล้ายอมรับทางสว่างที่พนักงานกลุ่มนี้ชี้ให้เห็น หากตรวจสอบแล้วว่าเป็นข้อมูลที่มีหลักฐานรองรับ 

และตัวพนักงานเองต้องไม่ได้ผลกระทบใดๆ กับเรื่องที่พูดออกมา เนื่องจากถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันดังกล่าว คงไม่มีพนักงานคนไหนกล้าพูดความจริงอีกในอนาคต

               

อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว: คุณสมบัติข้อสุดท้ายที่เหล่าพนักงานกลุ่มIntrapreneur Mindset มี ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งตัวพนักงานและบริษัทคือ การพร้อมเรียนรู้ กล้าเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติด และเต็มใจหมุนตามโลก ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต่างจากแก้วเปล่าที่พร้อมรับน้ำจากขวดใหม่ที่เทลงมาอยู่เสมอ เพราะพนักงานที่ฝืนความเปลี่ยนแปลงแม้เพียงคนเดียวจะส่งผลให้กลไกแห่งการพัฒนาติดขัด หรือช้าลงจนกระทบถึงภาพรวมในที่สุด/fastcompany

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online