นับจากธนาคารพาณิชย์ทั้งรายใหญ่รายเล็กเลือกจะกดปุ่มฟรีค่าธรรมเนียมการโอนการจ่ายสารพัดบิลผ่าน Mobile banking

ฝั่งลูกค้าทั่วประเทศดีใจเพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 10-25 บาท ต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้ง แต่ฝั่งธนาคารเองก็ต้องสูญเสียรายได้ไปมากพอสมควร

เป้าหมายการฟรีสารพัดค่าธรรมเนียมบนโลกดิจิทัลของธนาคารก็เพื่อแผนในอนาคตในการลดจำนวนสาขาและการบริหารเงินสด ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมกันเป็นต้นทุนที่สูงของแต่ละธนาคาร

แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น คือกลุ่มธนาคารพาณิชย์หลายแห่งกำลังรวมตัวกันเจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทย

เพื่อขอเก็บเงินค่าธรรมเนียมกดเงินผ่านตู้ ATM รวมไปถึงการถอนเงินหน้าเคาน์เตอร์ของสาขาธนาคาร โดยให้เหตุผลสำคัญคือสาขาธนาคารมีต้นทุนสูง รวมไปถึงตู้ ATM ก็มีต้นทุนในการบริการลูกค้าเช่นกัน

เป็นธรรมดาเมื่อธนาคารสูญเสียรายได้จาก Mobile banking ก็เลือกจะหารายได้จากโลกออฟไลน์มาทดแทนรายได้ที่ขาดหายไป แม้จะยังไม่มีผลวิจัยระบุแน่ชัดว่าจะทดแทนรายได้สมน้ำสมเนื้อมากน้อยแค่ไหน

โดยข้อเรียกร้องของธนาคารพาณิชย์ที่ยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นสรุปได้ดังนี้

1. หากลูกค้าไปถอนเงินหน้าเคาน์เตอร์ของธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ก็จะมีค่าธรรมเนียมการถอน

2. หรือการกดเงินตู้ ATM ซึ่งเป็นตู้ของธนาคารที่เรามีบัตรโดยตรงอยู่แล้วจากที่ไม่เคยเสียค่าธรรมเนียม คราวนี้ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม

3. รวมไปถึงการออกเช็คที่ธนาคาร ลูกค้าก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม

แต่ก็ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าลูกค้าจะเสียค่าธรรมเนียมเท่าไรต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้ง

โดยจากรายงานข่าวของ “เรื่องเล่าเช้านี้” ธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า หากมีการเก็บค่าธรรมเนียมจริงคงทยอยทำ ไม่ได้ทำแบบทันทีทันใด โดยอาจเริ่มลดสิทธิประโยชน์ เช่น ลดจำนวนครั้งที่ถอนเงินจากตู้ ATM ได้ฟรี ส่วนเก็บค่าธรรมเนียมหน้าเคาน์เตอร์ต้องคิดให้รอบคอบเพราะเป็นเรื่องที่มีความ Sensitive สูง

 ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามองว่า ต่างประเทศมีการเก็บค่าธรรมเนียมหน้าเคาน์เตอร์มานานแล้ว แต่หากนำมาใช้ในไทยอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว

ส่วนเกมนี้คนที่จะชี้ “ไฟแดง ไฟเขียว” คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะยอมให้ธนาคารพาณิชย์เดิมเกมเก็บค่าธรรมเนียมหรือไม่? 

ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองนั้นคือ ธปท. อาจปัดฝุ่น Project ในช่วงต้นปีให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์นำกลับมาคิดหารือกันอีกครั้ง นั่นคือ “ตู้ ATM สีขาว” ที่จะเป็นการลดต้นทุนในส่วนของตู้ ATM 

แล้วตู้ ATM สีขาว คืออะไร และมีแนวคิดเป็นอย่างไร?

คือตู้ ATM ที่ไม่สังกัดธนาคารไหนเลย บัตร ATM ทุกธนาคารจะสามารถใช้ร่วมกันได้หมด โดยทุกธนาคารต้องมาร่วมลงทุนด้วยกัน โดยจะเป็นการลดต้นทุนในเรื่องตู้ ATM ของทุกธนาคาร

อธิบายให้เห็นภาพชัดเจน นั่นคือในโซนศูนย์การค้าที่มีตู้ ATM ให้เลือกหลายธนาคาร คนก็มักจะเดินหาตู้ ATM ของธนาคารที่ตัวเองเป็นลูกค้าเพื่อไม่ให้เสียค่าธรรมเนียม

แต่หากมีตู้ ATM สีขาวลูกค้าก็จะกดเงินได้ทันที แล้วจาก 10 ตู้มีให้เลือกหลายธนาคารอาจจะเหลือแค่ตู้ ATM สีขาว 2 ตู้ รองรับบัตร ATM ทุกธนาคาร ซึ่งก็จะทำให้ธนาคารแต่ละแห่งลงทุนตู้ ATM น้อยลงกว่าในอดีต

แต่จะฟรีค่าธรรมเนียมการกดเงิน หรือกดเงินฟรีกี่ครั้งแล้วค่อยคิดค่าธรรมเนียมในอัตราค่าบริการที่แสนถูก ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนเพราะเกิดความขัดแย้งกันก่อน

เหตุผลเพราะเหล่าธนาคารระดับ Big ที่มีตู้ ATM ในมือมากกว่า 5,000 ตู้ก็มองว่านี่คือข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ทำให้ลูกค้าเลือกจะฝากเงินกับแบงก์ตัวเอง เพราะสะดวกในการหาตู้กดเงินยามต้องการใช้เงินสด

 

ที่สำคัญธนาคารยักษ์ใหญ่ก็มองว่า ในเมื่อฉันลงทุนกับตู้ ATM ไปแล้วมากกว่า 5,000 ตู้ แล้วอยู่ดีๆ จะมาให้ลดจำนวนตู้ ATM ที่ลงทุนไป จากนั้นก็ให้นำเงินไปร่วมลงขันกับธนาคารอื่นๆ เพื่อสร้างตู้ ATM สีขาว

ไม่ว่าจะมองมุมไหนธนาคารยักษ์ใหญ่ก็เสียเปรียบ

ถ้าตู้ ATM สีขาวจะเกิดขึ้นจริง ก็ต้องวัดใจเหล่าธนาคารยักษ์ใหญ่ว่าจะยอมเฉือนเนื้อตัวเองแล้วมานั่งจับเข่าคุยกับธนาคารขนาดเล็กหรือไม่

ไม่ต่างจากการขอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินจากตู้ ATM และหน้าเคาน์เตอร์ตามสาขา ก็ต้องวัดใจธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนกัน

ว่าจะกล้าพอหรือเปล่า! 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online