กลายเป็นเทรนด์ไปแล้วสำหรับการที่เหล่า ดารา เซเลบริตี้ หลายต่อหลายคนผันตัวมาเป็น ผู้ผลิตคอนเทนต์ (Creator) บน YouTube และบางรายบางช่องยังหันมาลุยด้านนี้อย่างจริงจัง แถมโกยลูกค้าเรียกสปอนเซอร์ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเป็น ครีเอเตอร์ บทบาทและการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของพวกเขา แตกต่าง จากการไปเล่นละคร ไปเป็นแขกรับเชิญ หรือไปเป็นพิธีกรรายการบนหน้าจอทีวีแบบเดิมๆ

เพราะนอกจากจะต้องอยู่ในบทบาทของ ผู้ดำเนินรายการ ส่วนใหญ่เหล่าดาราในหัวโขนของการเป็น YouTuber มักต้องเป็นคนริเริ่มไอเดีย คิดเอง ถ่ายเอง มองหาช่องทางในการทำคอนเทนต์ที่ตัวเองถนัด รวมถึงการโปรโมตผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของตนเองแบบครบวงจร

แม้เรื่องของชื่อเสียงและฐานแฟนคลับอาจดูเป็นทุนที่ได้เปรียบของเหล่าดาราที่หันมาจับ YouTube ก็จริง แต่ก็ไม่เสมอไปว่าจะประสบสำเร็จ….

เพราะธรรมชาติในการเลือกรับชมบนช่องทางนี้ ทุกอย่างอยู่ที่ความสนใจและปลายนิ้วของผู้ชม ทำให้ คอนเทนต์ และ คาแรกเตอร์ ที่นำเสนอออกมาคือจุดดึงดูดสำคัญที่สุดในการคิดจะเพิ่มช่องทางเพื่อนำเสนอตัวเองผ่านโลกออนไลน์

ส่วนคำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไมดาราถึงอยากกลายมาเป็น YouTuber เต็มไปหมด?” Marketeer Online ไล่เรียงออกมาเป็นข้อๆ รวมถึงหยิบยกเอาช่องของเหล่าเซเลบดาราที่หันมาทำชาเเนล YouTube มาให้ชมด้วย ลองไปติดตามพร้อมๆ กัน

  • มีพื้นฐานการแสดง ชื่อเสียง และหน้าตาเป็นอาวุธอยู่แล้ว

คงต้องยอมรับว่าเหล่าดารามีต้นทุนเรื่องของ พื้นฐานการแสดง ชื่อเสียง และหน้าตาเป็นอาวุธ เพียงแค่ค้นหาให้เจอว่าควรนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบไหนตามที่ตัวเองถนัด รวมถึงมองไปยังกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าติดตามช่องของเรา ส่วนใหญ่ก็มักเริ่มต้นหยิบเอาเรื่องที่ตนเองถนัดมานำเสนอ

ตัวอย่างเช่น djpetjah channel (Subscribe 645K) ช่องของดีเจเพชรจ้า นำเสนอเรื่องรถสปอร์ต Luxury Life สตรีทแฟชั่น รองเท้า ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวตนและสิ่งที่ตนเองคลั่งไคล้อยู่แล้ว

ในมุมของคนที่ชอบเรื่องพวกนี้เหมือนๆ กันก็คงไม่พลาดที่จะเข้ามารับชม หลังๆ ยังได้เรื่องของครอบครัวมาเพิ่มจากภรรยาสาวนิวเคลียร์และลูกชายอย่างน้องไทก้า

 

  • เพื่อให้อยู่ในกระแสตลอดเวลา

การทำช่อง YouTube เพื่อให้ตนเองอยู่ในกระแสตลอดเวลา ถือเป็นการใช้สื่อยุคใหม่ได้อย่างชาญฉลาด เพราะแน่นอนว่า YouTube แค่ถ่ายเสร็จ ตัดต่อเรียบร้อยก็ Upload เพื่อให้ทุกคนดูตลอดเวลา ความถี่ในการลงคลิปมากกว่า นำเสนอเรื่องที่ผู้คนกำลังสนใจหรืออยู่ในกระแสได้ทันที แน่นอนว่าง่าย และทำได้บ่อยกว่าการไปเล่นละครหรือไปเป็นพิธีกรหลายเท่า

ตัวอย่างเช่น Work with Mario (Subscribe 324K) ช่องของนักแสดงหนุ่ม มาริโอ้ ที่เริ่มจากทำ Vlog อัพเดตชีวิตประจำวัน เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงเบื้องหลังการทำงาน ออกไปซื้อของที่ตัวเองชอบ ต่อยอดสู่การปั้นเป็นคอนเทนต์ให้แฟนคลับได้ติดตามอยู่เรื่อยๆ

 

  • พรีเซนต์คาแรกเตอร์ได้ชัด!

การทำช่อง YouTube ถือเป็นอีก “พื้นที่” ในการตอกย้ำคาแรกเตอร์ของคนทำช่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นช่องทางในการพรีเซนต์ความสามารถหรือความชอบที่ตัวเองมี บางคนอาจมีสกิลทำอาหาร เป็นโค้ชชิ่งออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อเรื่องของงาน และสปอนเซอร์ที่ตามมา

ตัวอย่างเช่น BEBE FIT ROUTINE (Subscribe 381K) อีกหนึ่งดาราที่หันมาสายสุขภาพเต็มตัว อุดมไปด้วยคอนเทนต์และทริคในการออกกำลังกายดูแลรักษาหุ่น จึงไม่แปลกใจที่เราได้เห็นเบเบ้ได้รับโอกาสเป็นพรีเซนเตอร์ หรือ KOL ให้กับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การออกกำลังกาย หลายแบรนด์

  • เทคโนโลยีเอื้อ ทุกอย่างง่ายกว่าเดิม

ด้วยความที่เทคโนโลยีในการถ่ายทำ ตัดต่อ มาถึงยุคที่ทุกคนสามารถทำคลิปลง YouTube ได้ง่ายขึ้นมาก เพียงแค่มีกล้องและตัดต่อนิดหน่อยก็สามารถทำวิดีโอขึ้นมาได้แล้ว

แต่อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น ความสำคัญของการทำชาแนล YouTube อยู่ที่เนื้อหาของสิ่งที่เราพรีเซนต์ออกไปมากกว่า ส่วนเรื่องของโปรดักชั่นคือสิ่งที่เติมเต็มให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


ดังนั้นเราจึงเห็น YouTuber หลายๆ คนดังจากการทำ Vlog ด้วยกล้องตัวเดียวเต็มไปหมด ในฝั่งของดาราเองก็เช่นกัน มีเพียงกล้อง 1 ตัว โปรดักชั่นไม่ต้องใหญ่ก็โกยยอดคนดูได้เป็นล้าน

ลองดูที่ช่อง djpoom  (Subscribe 675K) กล้องตัวเดียว ที่มาพร้อมกับความซ่า ความห้าวเต็มพิกัด ก็กลายเป็นคอนเทนต์ล้านวิวได้

Mindset TV ชาเเนลของคู่รัก ป๊อก-มาร์กี้ ที่เน้นถ่ายเป็น Vlog เดินทางท่องเที่ยวเเละไลฟ์สไตล์น่ารักๆ ของทั้ง 2 คน เน้นตัดต่อใส่ซับไตเติ้ล อ่านง่ายดูง่ายทุกเเพลตฟอร์ม

และข้อสุดท้าย คือเรื่องการเพิ่มช่องทางในการหา “รายได้” ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากสปอนเซอร์ผู้ให้การสนับสนุนผลิต และยอดวิว ยอดไลค์ ยอด Subscribe จาก YouTube ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า YouTuber นั่นเอง

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online