เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ

ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) คือตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดและท้าทายที่สุดในชีวิตการทำงานของ “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล 

เมื่อปี 2559 กสิกรไทย ก้าวล้ำแบงก์อื่นๆ ไปอีกขั้นด้วยการตั้ง บริษัท KBTG ที่มีหน้าที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยสู่การเป็นธนาคารแห่งอนาคตแบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ เพื่อเตรียมรับมือกับยุค Digital Disruption  

โดยมีธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เข้ามารับตำแหน่งประธานบริษัทเป็นคนแรก เพียงแค่ปีเดียวเขาก็ลาออก และในสิ้นปี 2561 ประธานคนที่สอง “สมคิด จิรานันตรัตน์” ก็หมดวาระโดยยื่นขอไม่ต่ออายุงาน

ธนาคารเพิ่งเริ่มต้นเจอกับเรื่องดิสรัปชั่น แต่ประธานบริษัท KBTG เปลี่ยนไปแล้ว 2 คน ในขณะที่แผนการในเรื่องดิจิทัลแบงกิ้งยังไม่สุดและยังมีช่องว่างที่จะเข้าไปเติมเต็มอีกมหาศาล

งานนี้สะดุดไม่ได้ และ ”กระทิง” คือคนที่ “คุณปั้น” บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเชื่อมั่นและดึงเข้ามาเป็นประธานบริษัทคนปัจจุบัน

จาก “comfort zone” สู่โหมด “Fear” ไม่แกร่งจริงคงไม่รับ

ตั้งแต่ปี 2012 กระทิงคือหนึ่งในผู้บุกเบิกระบบอีโคซิสเต็มให้กับสตาร์ทอัพเมืองไทย เริ่มตั้งแต่ตั้งโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ เข้าไปเป็นที่ปรึกษาสตาร์ทอัพหน้าใหม่  ชักชวนสตาร์ทอัพทั่วโลกมาให้ความรู้ และดึงเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามา โดยเป็นผู้ร่วมบริหารกองทุน 500 TukTuks ซึ่งเป็นกองทุนย่อยในเครือ 500 Startups ของสหรัฐอเมริกา  

การมีโอกาสเข้ามารันเวิร์กชอปเรื่อง ดิจิทัลดิสรับชั่นให้กับผู้บริหารกสิกรไทย เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน ทำให้เขาไม่ใช่คนหน้าใหม่ขององค์กรแห่งนี้

และวันที่ประทับใจมากที่สุด ก็คือวันที่คุณปั้นมานั่งเรียนด้วย

“เขาคือ God of Banking แล้วผมมาสอนท่านเรื่องฟินเทค เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมาก หลังจากได้เจอกันในวันนั้น รุ่งขึ้นผมเดินทางไปพูดที่สถาบันเอ็มไอที  ถึงที่โน่นลงจากเครื่องปุ๊บเปิดโทรศัพท์ขึ้นมามี miss call เกือบ 10 ครั้ง เป็นเบอร์  02 นึกว่าคนโทรมาขายประกัน พอโทรกลับไปกลายเป็นเลขาของคุณปั้น บอกว่าคุณบัณฑูร ล่ำซำ อยากคุยด้วย เพื่อเชิญให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านฟินเทคของท่าน”

 กระทิงได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาผู้นำของแบงก์กสิกรไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี

“ยอมรับตรงๆ ว่าการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาท่าน ผมอายมาก ไปถึงท่านก็เลกเชอร์ให้เราฟังในเรื่องแบงกิ้งที่เราไม่เคยรู้และเข้าใจมาก่อน ท่านมีวิชั่นที่คมและโดดเด่นจริงๆ โดยเฉพาะในเรื่อง Thinking system

ความศรัทธาในตัวผู้นำองค์กร คือเหตุผลสำคัญหนึ่งที่เขาตกลงรับตำแหน่งหลังจากได้รับการทาบทามไม่นาน นอกเหนือจากความท้าทายที่จะได้มีโอกาสทำสิ่งที่มีอิมแพคต่อวงการสตาร์ทอัพ ที่ยิ่งใหญ่กว่างานที่ทำอยู่เดิม

สำหรับกระทิง KBTG คือองค์กรที่เป็นไฮด์อิมแพค มีลูกค้า K PLUS เป็น 10 ล้านคน และเป็นบิ๊กสตาร์ทอัพที่น่าสนใจอย่างมาก

เขายอมรับว่า

ตอนที่ผมได้ไปทำงาน Quantitative Analytics ที่ Google ใน  Silicon Valley องค์กรในฝันของผม คิดว่าเป็นความท้าทายที่สุดแล้ว แต่มาที่นี่นอกจากความท้าทาย ยังมีความกลัวด้วย กดดันด้วย เพราะความคาดหวังต่ออิมแพคที่จะเกิดขึ้นมันเยอะมากๆ ยอมรับว่าเคยตื่นขึ้นมาตอนตี  4 เหงื่อเต็มหลังเลยด้วยความกังวล”

จากความ “กลัว” กลายเป็น “ความท้าทาย” ที่สร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

โจทย์ของคุณปั้นที่ให้มาคือต้องการให้ KBTG ค้นหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดให้กับธนาคารกสิกรไทยภายในระยะเวลา 3 ปี และต้องเห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

Passion ของกระทิงก้าวไกลไปถึงการตั้งเป้าให้ KBTG เป็น The Best Technology Organizations in Southeast Asia ภายในปี 2021    

เขาต้องการเปลี่ยนแกนโลกทางด้านเทคโนโลยีของเซาท์อีสต์เอเชีย ที่เคยอยู่ที่อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม กลับมาที่ประเทศไทย มี KBTG เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยใช้ไฟแนนเชียลเซอร์วิสเป็นแพลตฟอร์มนำก่อนที่จะก้าวข้ามไปยังเทคโนโลยีอื่นๆ

“ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีค่อนข้างสูง มีการเข้ามาลงทุนของกลุ่มองค์กรต่างๆ เยอะมากก็จริง แต่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าอินโดนีเซียและเวียดนามเป็นประเทศที่มี  Startup ศักยภาพสูงถึงระดับ Unicorn หรือ  Startup ที่มีเงินลงทุนมากกว่า  1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะเวียดนาม มีเทค Talent เยอะมาก”

แนวทางการขับเคลื่อน KBTG ในยุคกระทิงดุ

กระทิงเคยสร้างระบบอีโคซิสเต็มให้กับวงการสตาร์ทอัพไทยมาแล้ว วันนี้บทบาทของเขาคือการสร้างระบบอีโคซิสเต็มของ KBTG ให้แข็งแกร่งผ่าน 3 เรื่องหลักคือ 

1. สร้าง Talent Platform เพื่อดึงให้คนเก่งทั้งในและต่างประเทศอยากมาทำงานด้วยที่สุด

2. Work Process การปรับระบบทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยพยายามหานวัตกรรมการทำงานหลายๆ อย่างเข้ามารันองค์กร

3. Talent Playgrond สร้างพื้นที่ให้คนเก่งๆ มีที่ปล่อยของ

คนเก่งที่มีความสามารถในเรื่องเทคโนโลยี คือปัญหาสำคัญในการทำงานของบริษัทแนวสตาร์ทอัพทั่วโลก บ้านเราก็เช่นเดียวกัน คุณภาพของคนสู้ได้ แต่ปริมาณสร้างไม่ทัน โดยเฉพาะ Data Scientist ที่ขาดแคลนอย่างหนัก

ปัจจุบัน KBTG  มีพนักงานอยู่แล้วประมาณ 2 พันคน ต้องการได้เพิ่มในทุกแผนกอีก 300 คน 

“ผมตั้งเป้าว่าในทุกๆ วันต้องได้คนเก่ง  1 คนมาร่วมงาน อยู่ที่ไหนผมจะไปเอาคุณมาให้ได้ ผมต้องการที่จะทำให้ย่านแจ้งวัฒนะที่บริษัทเราตั้งอยู่ เป็นแจ้งวัลเลย์ ที่มีคนเก่งๆ บริษัทเก่งๆ เต็มไปหมด  “

เขายอมรับว่าการที่จะดึงคนเก่งเข้ามาร่วมทีมได้นั้นต้องสร้างโปรเจกต์ที่ท้าทาย มีอิมแพคสูง และมีวัฒนธรรมองค์กรที่น่าดึงดูด

“ในเรื่องสถานที่เราไม่เหมือนใครอยู่แล้ว ไม่มีภาพของแบงก์ออฟฟิศเหลืออยู่ เราต้องสร้างองค์กรเป็น Open Culture มีการทำงานแบบ Agility เพื่อความคล่องแคล่วและความรวดเร็วในการทำงาน ไม่มีไซโลในการทำงาน ลำดับขั้นตอน ตำแหน่งไม่หลายชั้น และอีกเรื่องที่สำคัญคือความเป็น One KBTG เป็นทีมเดียวกันและทำงานสนับสนุนกัน”

หลังการเข้ามาของกระทิงอาจจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในอนาคตมากขึ้น

โดยธีมของ KBTG ในปีนี้คือเรื่องของ M Power คือให้ผู้บริหารมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น เรื่องของ Peple First จะมีคนมาช่วยดูในเรื่องคนมากขึ้น เรื่องของ Culture เรื่องของการดูแลคนเก่งในทุกแผนก

ส่วนในระดับ Top Management ทุกคนอยู่ครบ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

โฟกัสเรื่อง “คน” เรื่องแรก “เทคโนโลยี” คือเรื่องรอง

งานหนักกระทิงไม่กลัว แต่ที่เขากังวลอยู่ลึกๆ คือการทำงานกับคน เพราะใน KBTG เต็มไปด้วยคนเก่ง บางคนใช้เวลาเป็นปีกว่าจะดึงมาร่วมงานได้

 “พี่สมคิด (สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน KBTG) เคยพูดกับผมก่อนออกจากตำแหน่งว่า คุณกระทิงมีสิ่งดีๆ ในตัวหลายๆ อย่าง แต่สิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญคือการดูแลทีมให้ดี คนเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ซึ่งตรงกับที่คุณปั้นเคยพูดกับผมว่า  Peple First คนสร้างเทคโนโลยี อย่าเอาเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง ผมเองก็ไม่เชื่อเรื่องซื้อใจ เพราะใครก็มาซื้อใจผมไม่ได้  แต่เราต้องเข้าใจเขา ใส่ใจเขา ถึงจะได้ใจคนโดยไม่ต้องซื้อ” 

ซึ่งเขามีเวลา 6 เดือนในการทดลองงานเพื่อพิสูจน์ฝีมือการเป็นนักบริหารในวงการแบงก์อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก

สำหรับกระทิงคงคุยเรื่อง work-Life Balance กับเขายาก เพราะเขาบอกว่าทำงาน 7 วัน นอนวันละ 4 ชั่วโมง  ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องนัก แต่เขายึดหลักที่ว่าชีวิตคือการทำงาน Work Give a Meaning to Life เพื่อสร้างพลังในการทำงานอย่างมีเป้าหมายต่อไป บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าทุกอย่างมีความเป็นไปได้

เมื่อถอดหมวกผู้บริหารกลับไปในตำแหน่งของผู้บริหาร 500 TukTuks  กระทิงบอกว่ายังช่วยดูเรื่องการลงทุนเหมือนเดิม ยังพบปะน้องๆ สตาร์ทอัพเหมือนเดิม  แต่ยกเว้นไม่ดูเรื่องฟินเทค ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของทีมงานท่านอื่นแทน โดยตอนนี้ที่โฟกัสเป็นพิเศษคือ FoodTech, EdTech, AgriTech และ  BioTech

สำหรับรายละเอียดของกลยุทธ์อื่นๆ ที่จะผลักดันให้ KBTG ก้าวไปสู่เป้าหมายที่ถูกวางไว้ภายใน 3 ปีข้างหน้านั้น เขาบอกว่าต้องรอการแถลงข่าวในวันที่ 28 มกราคมนี้ พร้อมๆ กับกรรมการผู้จัดการของกสิกรไทยอีก 4 ท่าน ที่จะรวมร่างเป็นหนึ่งเดียว เพื่อกลายเป็น “ยอดมนุษย์ K-Ranger” สร้างแบรนด์กสิกรไทยให้เป็นที่ประทับใจไปทั่วโลก

 อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

  



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online