ThaiRun สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่กำลังวิ่งมาราธอนไปไกลถึงต่างแดน

เรามักสนุกกับการได้ค้นหาเรื่องราวเบื้องหลังที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้

เช่นเดียวกับเรื่องราวของ ThaiRun ฮับความสุขนักวิ่ง เพจที่หลายคนคิดว่ามีจุดเริ่มต้นจากการที่เจ้าของมีความชอบในการวิ่ง เหมือนกับเพจอื่นๆ ที่มักจะเกิดมาจาก passion ที่มีอยู่ในตัวคนทำ

แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น เพราะ พี่อ๊อฟ- ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ หนึ่งใน Founder ของ ThaiRun เล่าให้ Marketeer ฟังว่า เขาเรียนและทำงานเกี่ยวกับด้านซอฟต์แวร์มาโดยตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งมีเพื่อนซึ่งเป็นผู้จัดงานวิ่งระดับประเทศ อย่างบางแสน 21 ต้องเจอกับ happy problem

นั่นคือมีนักวิ่งสมัครเข้ามาเยอะแต่ไม่สามารถจัดการกับข้อมูลที่มากมายเหล่านั้นได้ จึงมาขอให้พี่อ๊อฟช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์รับสมัครนักวิ่งให้ และก็พัฒนาไปถึงระบบค้นหารูปถ่ายระหว่างวิ่งด้วยใบหน้า ที่เหล่านักวิ่งจะไม่ต้องมาไล่หารูปตัวเองให้เสียเวลาอีกต่อไป

ด้วยความใหม่ของการค้นหารูปถ่ายด้วยใบหน้า มันจึงกลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมจนทำให้ผู้จัดงานวิ่งรายอื่นอยากจะเอาไปใช้ และจากซอฟต์แวร์ที่เป็นตัว prototype ก็กลายมาเป็นเว็บไซต์อย่าง photo.thai.run ที่รูปแบบคล้ายกับ shutter stock คือเปิดให้ช่างภาพมามาอัพโหลดผลงานแล้วรอคนมาซื้อไป

เพียงแต่ช่างภาพของ photo.thai.run จะเป็นช่างภาพตามงานวิ่ง ส่วนคนมาซื้อก็คือคนที่ไปงานวิ่งแล้วอยากมีรูปของตัวเองเก็บเอาไว้

และจากบริษัทซอฟต์แวร์ที่อยู่หลังบ้าน ThaiRun เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี

ปี 2016 มีงานวิ่งใช้ระบบค้นหาภาพถ่ายด้วยใบหน้า 3 งาน

ปี 2017 มีงานวิ่งใช้ระบบค้นหาภาพถ่ายด้วยใบหน้า 100 งาน

และปี 2018 มีงานวิ่งใช้ระบบค้นหาภาพถ่ายด้วยใบหน้าเกือบ 1,000 งาน

ทำให้วันนี้ ThaiRun มีสถานะเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่มีนักลงทุนเข้ามาร่วมทุนอย่างมากมาย กำลังเตรียมตัวจะเข้า Series A และเตรียมจะขยายแพลตฟอร์มของคนไทยไปในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์

ความยากของการทำระบบไม่ได้มีแค่เทคโนโลยี แต่คือความเข้าใจของคน

ความยากในการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีใช้เวลา 1 ปีครึ่งก็เสร็จ

แต่ความยากในการทำให้ผู้คนเข้าใจนี่สิยากยิ่งกว่า ซึ่งความเข้าใจที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่การหาคำนิยามมาอธิบายเพื่อทำให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าการค้นหารูปถ่ายด้วยใบหน้านั้นคืออะไร แต่ยังรวมไปถึงความเข้าใจของเหล่าช่างภาพที่คิดว่า ThaiRunคือคู่แข่งที่เข้ามาแย่งชิงรายได้จากพวกเขาไป

“เราโดนดราม่าจากช่างภาพ เขาหาว่าเรานั่งอยู่ในห้องแอร์สบายๆ แล้วมาหารายได้จากพวกเขาที่ต้องออกไปตากแดดตื่นเช้าเพื่อให้ได้ภาพมา

ซึ่งความจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะเวลาคนค้นหารูปจากเราง่ายขึ้น เขาก็อยากจะซื้อมากขึ้น และมันก็เป็นเหมือนการสร้างช่องทางรายได้ให้กับเหล่าช่างภาพมากขึ้นตามไปด้วย

แต่บางคนกลับไม่เข้าใจแบบนั้น คิดว่าเราเป็นคู่แข่ง ซึ่งไม่ใช่เลย เราไม่ได้มาแย่งเขาถ่ายรูป กลับกันเรามาช่วยให้เขาขายรูปได้มากขึ้นด้วยซ้ำ”

ทุกคนมีตัวเลขที่มองไม่เห็นอยู่บนใบหน้า

เราให้พี่อ๊อฟช่วยแปลภาษาโปรแกรมเมอร์มาเป็นภาษาคนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ที ว่าทำไมถึงสามารถค้นหาภาพถ่ายจากใบหน้าได้ สิ่งที่พี่อ๊อฟตอบกลับมาก็คือ

“เราทุกคนล้วนมีตัวเลขที่มองไม่เห็นอยู่บนใบหน้า หรือเรียกอีกอย่างว่าดัชนีใบหน้า มันคืออัตราสัดส่วนบนใบหน้า เช่น ความยาวของจมูกเทียบกับสันจมูก ความยาวของปากเทียบกับริมฝีปาก

ซึ่งมันจะมีเลขพวกนี้อยู่บนหน้าทั้งหมด 32 จุด เวลาคนเข้ามาหารูปบนเว็บไซต์ของเรา ถ้ารูปที่เอามาค้นหาตรงกับรูปที่มีอยู่ในระบบเพียง 16 จุดระบบก็จะเลือกรูปที่มีดัชนีใบหน้าตรงกันขึ้นมาให้

ถึงจะใส่หมวกปิดหน้าผากตอนวิ่ง ใส่ผ้าบัฟกันฝุ่นเอาไว้ แต่ถ้ายังเปิดให้เห็นใบหน้าบางส่วน ระบบก็สามารถจับได้เหมือนกัน

หรือถ้าไปศัลยกรรมแค่บางจุด ไม่ได้ทำทั้งหน้า ระบบก็จะสามารถจับในส่วนที่ยังไม่ได้ทำ แล้วเลือกหน้าที่ตรงกับรูปที่เราอัพโหลดไปได้ ซึ่งเราเรียกระบบนี้สั้นๆ ว่า AI”

ต่อยอดด้วยการพัฒนาระบบรับสมัครวิ่งให้เป็น Commercial มากขึ้น

ความเติบโตจากระบบค้นหาภาพถ่ายด้วยใบหน้า ThaiRunจึงต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือให้ออกมาในรูปแบบของระบบการรับสมัครวิ่งที่ให้ผู้จัดงานวิ่งมาใช้บริการ

แม้ขั้นตอนของการสมัครงานวิ่งจะไม่มีอะไรที่ซับซ้อนยุ่งยาก เพียงแค่กรอกรายละเอียดส่วนตัว แจ้งโอนเงิน แล้วทางผู้จัดก็จะส่งเสื้อกับบิบไปให้ แต่ลองคิดภาพดูว่าถ้าหากงานวิ่งนั้นเป็นรายการใหญ่ๆ มีคนสมัคร 5,000 คนขึ้นไป มันก็คือ Big Data ที่ยากจะจัดการด้วยระบบมือของมนุษย์

โดยรายได้จากการให้บริการระบบรับสมัครงานวิ่ง จะมาในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์จากค่าบัตร ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 3-5% โดยที่ ThaiRunเองจะต้องนำรายได้ 3-5% ตรงนี้ไปหักกับค่าธรรมเนียม ค่าบัตรเครดิต ค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทีหนึ่ง

จากช่องทางที่เอาไว้เชื่อมเทคโนโลยีกับลูกค้า กลายมาเป็นเพจฮับความสุขนักวิ่ง

พี่อ๊อฟเล่าให้เราฟังว่าเขาตัดสินใจเปิดเพจ ThaiRunขึ้นมาก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่เอาไว้เชื่อมต่อเทคโนโลยีกับคนใช้งาน หากผู้ใช้สงสัย มีปัญหา หรืออยากจะติดต่อใช้บริการอะไรก็จะ inbox และสอบถามเข้ามาที่เพจของThaiRun

จนเมื่อ Service ต่างๆ ขยาย Scale ไปในวงกว้างมากขึ้น มีคนเข้ามาบ่นระบบ สอบถาม ติดต่อกันมากมาย ทำให้ยอดไลค์ของเพจสูงขึ้นในแบบที่เขาก็ไม่ได้คาดหวังไว้ และจากนั้นก็กลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจ ที่จะเปลี่ยนให้เพจซึ่งเคยเอาไว้ติดต่อสอบถาม มาเป็นพับบลิชเชอร์ด้านการวิ่ง

“แม้จะเริ่มต้นมาจากเทคโนโลยี และเทคโนโลยีทั้งหลายก็คือรายได้กว่า 80% ของบริษัท แต่สิ่งที่ทำให้คนรู้จักกับเทคโนโลยีของเราและเข้าถึงง่ายมากขึ้นก็คือเพจThaiRun

เราต่อยอดจากความไม่ได้คาดหวัง ทำคอนเทนต์ ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่นักวิ่งสนใจ และสิ่งที่ได้กลับมาก็ไม่ได้มีแค่รายได้ แต่ยังรวมไปถึงการที่เราได้เชื่อมต่อกับนักวิ่งแบบอินไซต์มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่านักวิ่งอีกหลายๆ คนด้วย”

ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าจากความไม่คาดหวังตอนนั้น ในวันนี้จะทำให้ ThaiRunเป็นเพจเกี่ยวกับการวิ่งที่ผู้คนจะนึกถึงในอันดับต้นๆ และมีคนกดไลค์กว่า 540k

จนเมื่อทุกอย่างเติบโต พี่อ๊อฟก็ยังได้ต่อยอดสู่ service อีกสองอย่างนั่นก็คือการเปิด shop.thai.run ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซที่ขายสินค้าทุกอย่างเกี่ยวกับการวิ่ง มีทั้งจากของ ThaiRunเองรวมถึงเปิดให้คนอื่นได้มาเช่าพื้นที่ในการขาย และจากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการวิ่งแบบอินไซต์ พี่อ๊อฟก็ยังต่อยอดสู่ธุรกิจที่เป็นเซอร์วิสในการช่วยผู้จัดงานวิ่งหน้าใหม่อีกด้วย

เทรนด์งานวิ่งลดลง แต่ ThaiRun ยังโตต่อได้

ด้วยความที่แหล่งรายได้หลักอย่าง photo.thai.run เป็นธุรกิจที่มี Margin น้อย บวกกับเทรนด์งานวิ่งที่หลายคนออกมาคาดการณ์ว่ามันจะเกร่อและลดลง Marketeer จึงตั้งคำถามว่าแล้ว ThaiRunมีวิธีการปรับตัวกับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้นี้อย่างไร สิ่งที่พี่อ๊อฟตอบเรากลับมาก็คือ

“จำนวนงานวิ่งในตอนนี้เติบโตขึ้นอย่างน่าตกใจ บางสัปดาห์นี่มี 30-40 งาน ซึ่งมันเป็นธรรมดาว่าอะไรที่เยอะไปมันก็จะเริ่มเฟ้อ และแน่ละ มันจะต้องมีงานที่ไม่ดีโผล่เข้ามาเป็นระยะ

ผมว่าอีกไม่นานจำนวนงานวิ่งมันก็จะลดลงแหละ แต่เป็นพวกงานไม่ดีที่ถูกสังคมคัดกรองออกไปโดยอัตโนมัติ จะเหลือแต่งานดีๆ แล้วคนก็จะแย่งกันลง ดูอย่างพวกรายการดังๆ ระดับโลกสิเขายังต้องแย่งกันลอตโต้เพื่อให้ได้ลงวิ่งกันอยู่แทบทุกปี

กลับมาที่คำถาม ในวันที่งานวิ่งลดลง แต่ผมเชื่อว่า ThaiRunก็ยังเติบโตอยู่ เพราะเรามีแผนจะขยายไปต่างประเทศ ไปขาย License ของแพลตฟอร์มการค้นหาภาพถ่ายด้วยใบหน้าในญี่ปุ่น สิงคโปร์ แล้วก็ฮ่องกง ซึ่งไม่ใช่แค่ 3 ประเทศนี้เท่านั้น แต่เราก็ยังโตที่ประเทศอื่นได้เช่นกัน อย่างพม่าและลาวการวิ่งก็เพิ่งจะมาบูม

และด้วย core business ของเรามันคือบริษัทเทคโนโลยี เราก็สามารถขายความเป็นแพลตฟอร์มนี้ไปยังรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การวิ่งได้อีกมากมาย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online