CJ Express รายได้เท่าไร ? เจาะกลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ไทยที่เป็นรองเพียงแค่ 7-Eleven

ถ้าถามว่า วันนี้ “ร้านสะดวกซื้อ” สัญชาติญี่ปุ่นระดับ Big Player มีใครที่ทำธุรกิจนี้ในเมืองไทยแล้วได้กำไรบ้าง?

คำตอบคือมีแค่ 7-ELEVEN ของ CP ALL ที่ซื้อแฟรนไชส์มาจากประเทศญี่ปุ่นเพียงเจ้าเดียวเท่านั้นที่โกยกำไรแต่ละปีมากกว่า 15,000 ล้านบาท

นอกนั้นร้านสะดวกซื้อรายอื่นๆ อย่าง Family Mart และ LAWSON 108 ตัวเลขในบัญชีบริษัทยังเป็นสีแดง ขาดทุนต่อเนื่อง

และในวันที่หลายคนมองว่า 7-ELEVEN ยากที่จะหาใครมาต่อกร และกำลังกินรวบตลาดร้านสะดวกซื้อในเมืองไทย เพราะคู่แข่งยักษ์ใหญ่อีก 2 รายที่มีสัญชาติญี่ปุ่นเหมือนกัน ยังไม่มีวี่แววว่าจะมี “กำไร” ในธุรกิจนี้

แต่กลับมีร้านสะดวกซื้อแบรนด์ไทยร้านหนึ่งที่มีจุดกำเนิดในจังหวัดราชบุรีเมื่อ 14 ปีที่แล้ว สามารถขยายสาขาได้ถึง 250 สาขา และมีกำไรต่อเนื่อง  โดยในปี พ.ศ.2560 มีรายได้ 9,219 ล้านบาท และกำไร 205 ล้านบาท

ร้านสะดวกซื้อนี้ชื่อ CJ Express

คำถามที่น่าสนใจคืออะไรที่ทำให้ภายในเวลา 14 ปี CJ Express มีมากกว่า 250 สาขา (รวมสาขาที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก) แถมยังมี “กำไร” ในการทำธุรกิจเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งในขณะที่ Family Mart และ LAWSON 108 ยังไม่เคยรู้จักคำว่า “กำไร” นับตั้งแต่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย

อันดับแรกสุด คือทำเล เพราะหากสังเกตสาขาของ CJ Express ใน 22 จังหวัดที่ตัวเองเข้าไปทำตลาด ถึงจะมีบางทำเลชนกับ 7-ELEVEN และร้านสะดวกซื้อรายอื่นๆ โดยตรง แต่นั่นคือส่วนน้อย เพราะทำเลที่ CJ Express ปักหมุดส่วนใหญ่คือ พื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก และปริมณฑล รวมทั้งในภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และใต้ตอนบน ที่เป็นแหล่งชุมชน ย่านโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งคนพลุกพล่านพักอาศัย

 

และหากสังเกตรูปแบบการขยายสาขาของ CJ Expressคือในแต่ละจังหวัดจะค่อยๆ เริ่มต้นด้านนอกรอบๆ ตัวเมือง จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับเข้าสู่ใกล้ๆ ใจกลางเมือง

อีกหนึ่ง “จุดขาย” ของ CJ Expressก็คือ การมีสินค้าแบรนด์เล็กๆ ที่มีราคาขายถูกกว่าร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นทุกราย เพราะหากใครเข้าไปในร้านนี้จะเจอแบรนด์สินค้าที่หาไม่ได้ตามร้านสะดวกซื้ออื่นๆ อาทิ แบรนด์ “ยกนิ้ว” ที่ขายสินค้าประเภทสารพัดเครื่องปรุงรสราคาถูก, ขนมขบเคี้ยวแบรนด์ “เลเยอร์”, ครีมอาบน้ำ ”จอย” หรือแม้แต่สารพัดน้ำพริกสำเร็จรูป ร้านนี้ก็มีให้เลือกซื้อมากมาย  อีกทั้งสินค้าเกือบทุกประเภทยังมีราคาขายแบบ “ยกลัง” หรือจะซื้อปลีกก็แล้วแต่ลูกค้า

“สวนทาง” กับร้านสะดวกซื้อรายอื่นๆ ที่ผันตัวเองไปสู่ร้าน “อิ่มสะดวก” ที่เกือบทุกรายต่างเดินตามรอย 7-ELEVEN ที่มีสารพัดเมนูอาหาร RTE และอาหารรับประทานเล่นมากมาย

แต่ CJ Express เลือกเน้นขายสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันที่ราคาถูกกว่าคู่แข่ง ที่มาพร้อมน้ำพริกรสเด็ด อาหารรับประทานเล่นแบบบ้านๆ

ด้วยกลยุทธ์ราคาสินค้า แน่นอนกลุ่มลูกค้าหลักของ CJ Express จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำเป็นหลัก ทำให้มีการจัดโปรโมชั่นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะโปรโมชั่นราคาที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนในทุกๆ 2 สัปดาห์

โดยโปรโมชั่นเด็ดที่โดนใจมหาชน ก็คือ ลูกค้าที่ถือบัตร “สวัสดิการแห่งรัฐ” ที่จะได้ส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือสะสมยอดซื้อสินค้าเพื่อรับแลกของรางวัล

เมื่อ “คาราบาวแดง” อยากเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ

ส่วนที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของ CJ Expressก็คือการเปลี่ยนมือเจ้าของในช่วงกลางปี พ.ศ.2556

เมื่อ“เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานกรรมการบริหารเครื่องดื่ม “คาราบาวแดง” และพันธมิตร เข้ามาซื้อหุ้นบริษัทต่อจากนาย “วิทย์ ศศลักษณานนท์” เจ้าของเดิม

ทำให้ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่มากกว่า 80% ของบริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด

และเมื่อได้เจ้าของใหม่ที่มีเงินทุนหนา CJ Expressก็มีพลังในการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จริงอยู่ แม้การซื้อครั้งนี้จะเป็นการให้เครื่องดื่ม “คาราบาวแดง” ลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าไปวางขายในร้าน CJ Expressแต่นั่น แค่ผลพลอยได้

เพราะเป้าหมายของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” คือการให้ CJ Expressไปไกลกว่าที่อยู่ในมือเจ้าของคนเดิม

โดยเริ่มต้น CJ Expressในยุค “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ก็คือการโฆษณาผ่านทาง TVC เพราะที่ผ่านมาแม้ธุรกิจจะมีกำไร แต่หากถามคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัด ที่แถวบ้านตัวเองไม่มี CJ Expressไปเปิดสาขานั้น

หลายคนยังไม่รู้จัก CJ Expressและเมื่อค่อยๆ ทำให้คนทั่วประเทศค่อยๆ รู้จักร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทยรายนี้มากขึ้นกว่าในอดีต

เป้าหมายของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ก็คือการกระจายสาขาให้ครอบคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่แค่ 22 จังหวัด

แผนการลงทุน 4,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ นอกจากปรับปรุงสาขาที่มีอยู่ 250 สาขาแล้วนั้น ก็คือการขยายสาขาให้ครบ 600 สาขา ภายในปี พ.ศ.2563  และในอนาคตจะมีแผนใช้โมเดลแฟรนไชส์ เพื่อเร่งสปีดจำนวนสาขา รวมทั้งการขยายสาขาไปในกลุ่มประเทศ AEC

พร้อมกับตั้งเป้าหมายรายได้ในปี พ.ศ.2563 คือ 20,000 ล้านบาท

ความสำเร็จของ CJ Expressกลายเป็นโมเดลร้านสะดวกซื้อแบรนด์ไทย 100% ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยเท้ายักษ์ใหญ่เหมือนร้านสะดวกซื้อแบรนด์ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟเมนูอาหารญี่ปุ่น, ไส้กรอกฟุตลอง, ข้าวผัดอเมริกัน

แต่ CJ Expressเลือกจะเสิร์ฟน้ำพริกบ้านๆ ราคาถูก ซึ่งเป็น “จุดขาย” และคาแรกเตอร์ที่ “แตกต่าง” ของตัวเอง

แถมเป็นความ “ต่าง” ที่สามารถชนะใจลูกค้าของตัวเอง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online