หากพูดถึงนักธุรกิจเมืองไทยที่ช้อปปิ้งกิจการบริษัทคนอื่น มาเป็นของตัวเองเป็นว่าเล่น

2 ชื่อแรกที่คนจะนึกถึงนั้นคือ เจ้าสัว CP อย่าง “ธนินท์ เจียรวนนท์” และเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่งอาณาจักรไทยเบฟฯ ส่วนอีกหนึ่งรายที่ช้อปปิ้งเก่งไม่แพ้กันก็คือกลุ่มตระกูล “จิราธิวัฒน์” เจ้าของเซ็นทรัล

แต่ในที่นี้ Marketeer ขอโฟกัสเฉพาะแค่ “เจ้าสัวธนินท์” เจ้าของอาณาจักร CP และ “เจ้าสัวเจริญ” อาณาจักรไทยเบฟฯ  และจะพูดถึงแค่ดีลใน 2 บริษัทหลักอย่าง CP และ ไทยเบฟฯ เท่านั้น

เพราะหากนับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในอีกหลายๆ บริษัทในมือ 2 เจ้าสัว คงต้องไล่กันยาวเลยทีเดียว

ที่น่าสนใจ หาก 2 เจ้าสัวนี้ต้องการบริษัทไหนมาอยู่ในมือตัวเอง ก็พร้อมจะทุ่มไม่อั้นเพื่อให้ได้มา

ถึงดีลการซื้อกิจการแต่ละครั้งจะทำให้หลายคนต้องร้อง โอโห! ทำไมถึงกล้าจ่ายขนาดนี้

แต่ทุกดีลการซื้อของ 2 เจ้าสัวนั้นถูกคิดไว้อย่างรอบคอบ และส่วนใหญ่เกือบ 100% จะเป็นการซื้อเพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิมให้ทรงพลังมากขึ้น

มาดูกันว่าในรอบ 6 ปีทั้ง 2 เจ้าสัวเขาช้อปปิ้งกันสนุกสนานแค่ไหน?

“เจ้าสัว ธนินท์ 6 ปี 6 ดีล จ่ายไป ครึ่งล้านล้านบาท”

5 ใน 6 ดีลของการซื้อกิจการของเจ้าสัว CP ในรอบ 6 ปีนั้น เป็นการซื้อกิจการเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจหลักของตัวเอง จะมีแค่การซื้อบริษัทประกันภัย ผิงอัน มูลค่า 2.82 แสนล้านบาท ในประเทศจีนเท่านั้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร

ดีลที่ 1  แม้การซื้อ makro จะเป็นการเพิ่มแพลตฟอร์มใหม่ในธุรกิจ “ร้านค้า” ของตัวเอง แต่อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือการใช้ makro เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะให้สารพัดสินค้าอาหารที่อยู่ในกลุ่มบริษัท CPF ของเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” มีช่องทางขายเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตไม่ว่าจะเป็นในประเทศ รวมไปถึงในต่างประเทศที่ makro สามารถขยายสาขาไปได้ตามที่สัญญาดีลการซื้อ-ขาย ระบุไว้

ดีลที่ 2 การซื้อกิจการบริษัท S&W ผู้ผลิตไก่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในประเทศรัสเซีย ที่ในแต่ละปีบริษัทนี้มียอดขายมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีกำไรมากกว่า 3 พันล้านบาท

โดยดีลครั้งนี้นอกจากจะได้ครอบครองกิจการไก่ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ในประเทศรัสเซีย ยังได้เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ในเมืองหนาว ซึ่งสามารถนำไปใช้ต่อยอดการเพาะเลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

ดีลที่ 3  การซื้อเบลลิซิโอ ฟู้ด อิงก์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป้าหมายหลักของเจ้าสัว CP ก็คือการใช้บริษัทนี้เป็น “หมากรุก” ในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายเปิดประเทศให้ต่างประเทศเข้าไปลงทุนได้ ด้วยการลดกำแพงภาษีต่างๆ

แน่นอน เมื่อภาษีการทำธุรกิจในประเทศอเมริกาลดลง “เบลลิซิโอ ฟู้ด อิงก์” ที่นอกจากจะขายสินค้าหลักอาหารทะเลแช่แข็งแล้วนั้น กลุ่มสินค้าแช่แข็งและ RTE ของ CP ก็จะถูกนำเข้าไปจำหน่ายในตลาดอเมริกาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ดีลที่ 4  ก่อนที่เจ้าสัว CP จะตัดสินใจซื้อกิจการบริษัท คอฟโค บีท บริษัทผู้ผลิตไก่เนื้อในจีนนั้น บริษัทนี้ไม่รู้จักกับคำว่า “กำไร” ในการทำธุรกิจมานาน 3 ปี โดยในปี 2013 ขาดทุน 665 ล้านบาท ต่อมาในปี 2014 ขาดทุนอีก 392 ล้านบาท มาถึงปี 2015 ขาดทุน 432 ล้านบาท

ถึงจะดูขาดทุนไม่มีอนาคต แต่เจ้าสัว CP กลับมองเห็นแสงสว่างในการซื้อกิจการบริษัทนี้ นั่นคือการขยายฐานธุรกิจเกษตรกรรมและอาหารในประเทศจีน ถึงจะเป็นตลาดที่ใหญ่และมีคู่แข่งมาก แต่เจ้าสัว CP ก็ไม่หวั่น   

ดีลที่ 5  เป็นการเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ Westbridge Food Group Limited (WFGL) ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์และอาหารสำเร็จรูปให้แก่ร้านค้าปลีก, ฟู้ดเซอร์วิส, โรงงานผลิตอาหาร ทั้งในอังกฤษและกลุ่มประเทศยุโรป

ดีลครั้งนี้ของเจ้าสัว CP ก็คือการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเนื้อสัตว์, และอาหาร RTE, อาหารแช่แข็ง ไปยังกลุ่มประเทศยุโรป

“เจ้าสัวเจริญ” นักช้อปผู้ยิ่งใหญ่  

ก่อนหน้าที่จะซื้อกิจการ F&N ในปี 2012 เจ้าสัวเจริญเคยใช้เงินมหาศาลเพื่อซื้อกิจการ “โออิชิ” จาก “ตัน ภาสกรนที” ด้วยจำนวนเงิน 3,325 ล้านบาท เพื่อครอบครองธุรกิจอาหารญี่ปุ่นและชาพร้อมดื่ม แม้ภายหลังตันจะทำให้ “เจ้าสัว เจริญ” เจ็บไม่ลืม เมื่อลาออกจากตำแหน่ง CEO โออิชิ และเลือกจะมาผลิต “อิชิตัน” แข่งกับ “โออิชิ”

จากนั้นไม่นาน ในปี 2011 ก็ตัดสินใจควักเงิน 6,400 ล้านบาท ในการครอบครองอาณาจักร “เสริมสุข” ในการผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ

จนมาถึงในปี 2017 ไทยเบฟฯ ตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ KFC 11,300 ล้านบาท จำนวนกว่า 240 สาขา มาจากบริษัท Yum Restaurants International (ประเทศไทย)

การเข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มและร้านอาหารทั้ง F&N, โออิชิ, เสริมสุข, และ KFC นั้นเพราะเป้าหมายของ “เจ้าสัวเจริญ” ต้องการให้บริษัท ไทยเบฟเรจ จำกัด มหาชน ในอนาคตนั้นกลุ่มสินค้า Non alcoholic จะต้องมีสัดส่วน 50% จากรายได้ทั้งหมด

แต่ความเป็นจริง ณ เวลานี้ ยังคงห่างไกลจากความฝันเสียเหลือเกิน เพราะจากรายได้บริษัท ไทยเบฟฯ ในปี 2018 แม้รายได้ของบริษัทจะมีมากถึง 229,695 ล้านบาท

แต่ 87% นั้นมาจากธุรกิจสุราและเบียร์ ส่วนธุรกิจ Non alcoholic อย่างเครื่องดื่มและอาหารรวมกันมีแค่ 13% เท่านั้น (ที่มา: รายงานประจำปีไทยเบฟฯ)

การขับเคลื่อนเชิงรุกในธุรกิจ Non alcoholic นอกจากเรื่องรายได้ที่จะเพิ่มมากขึ้นกว่าการทำธุรกิจสุราและเบียร์เพียงอย่างเดียวแล้วนั้น อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อภาพลักษณ์บริษัทที่ไม่ให้คนภายนอกมองว่า

“ไทยเบฟฯ เน้นขายแต่สินค้า alcoholic เพียงอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม เจ้าสัวเจริญก็ไม่ได้เลือกจะหยุดนิ่งในธุรกิจหลักอย่างเบียร์และสุรา เพราะแค่ในปี 2017 ปีเดียว “เจ้าสัวเจริญ” จ่ายเงินไปเกือบ 2 แสนล้านบาทในธุรกิจ alcoholic

ไม่ว่าจะเป็นดีลการชนะประมูล บริษัท ซาบีโก  ผู้ผลิตวิสกี้ในเวียดนามที่ใช้เงินไป 1.5 แสนล้านบาท และการซื้อกิจการโรงสุราในพม่า 2.4 หมื่นล้านบาท

และนับจากนี้ต้องตามดูกันต่อไปว่าทั้ง 2 เจ้าสัวแห่ง 2 อาณาจักรใหญ่ในเมืองไทยจะช้อปปิ้งอะไรมาทำให้อาณาจักรตัวเองใหญ่ขึ้นกว่าเดิม?

เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของเจ้าสัวแต่ละคน โดยเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เคยประกาศว่าเขาต้องการให้ CP กลายเป็นครัวของโลก

ส่วนเป้าหมายของบริษัทไทยเบฟฯ ก็คือ การก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในอาเซียนอย่างยั่งยืน

ใครจะทำสำเร็จก่อนกัน!!



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online