ทำความรู้จัก พิพิธภัณฑ์เสื้อยืด แห่งแรกของไทย พร้อมเจาะลึกหาเหตุผลอะไรที่ทำให้เสื้อยืดราคาแตะหลักแสนบาท !!!

ใดๆ ในโลกล้วนมีถูกแพง

ตั้งแต่กระเป๋า รองเท้า รถยนต์ หรืออะไรก็ตามแต่

เช่นเดียวกับเสื้อยืดสีเหลืองตรงหน้า แม้หลายคนอาจมองว่ามันคือเสื้อมือสองเก่าๆ แต่ เบียร์- พันธวิศ ลวเรืองโชค กลับไม่คิดแบบนั้น

เพราะสิ่งที่ทำให้เขา ‘มองเห็นคุณค่าในของที่ใครหลายคนมองข้าม’ คือเรื่องราวในเสื้อยืดซึ่งเป็นเสมือนงานศิลปะที่สวมใส่ได้

และคุณค่าของมันก็คือการเป็นเสื้อที่อยู่ในซีรีส์เดียวกับที่ศิลปินในตำนานอย่าง Kurt Cobain เคยสวมใส่ ซึ่งมีคนบันทึกเอาไว้ว่ามันเคยมีมูลค่าแตะไปถึง 550,000 บาท

และไม่ใช่แค่เสื้อยืดสีเหลืองด้านบน แต่เบียร์ยังมีงานศิลปะที่อยู่ในรูปแบบของเสื้อยืดตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักแสนอีกมากมายหลายพันตัว รวมเป็นมูลค่าก็น่าจะมี 7-8 หลัก

กระทั่งจำนวนที่มาก ทำให้เขาตัดสินใจรวบรวมเสื้อยืดที่มีทั้งหมดมาทำเป็น Museum Of Tees Thailand (MOTT) พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดแห่งแรกในไทยที่ไม่เก็บค่าเข้าชม ไม่มีป้าย Don’t touch เพื่อทำให้ผู้คนเข้าถึงงานศิลปะได้อย่างใกล้ชิด

ไม่ใช่เป็นงานศิลปะล้ำค่าที่ถูกตั้งอยู่ในกรอบล้อมรั้วเอาไว้ แต่คนกลับเข้าถึงไม่ได้ และไม่เข้าใจว่ามันมีความหมายอย่างไร

เปลี่ยน Passion ให้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์

จากการขยับขยายพื้นที่ให้กับ Apostrophy’s บริษัทรับทำอีเวนต์และมีเดียต่างๆ ของเบียร์ที่มีมานานกว่า 13 ปีไปยังออฟฟิศแห่งใหม่ เขาจึงไปรื้อโกดังเก็บของเก่าเพื่อดูว่าจะเอาสิ่งที่มีอยู่มาทำอะไรต่อได้อีกบ้าง

และสิ่งที่พบไม่น้อยไปกว่าอุปกรณ์ที่ใช้จัดอีเวนต์ คือเสื้อยืดที่เขาสะสมเอาไว้อย่างไม่ได้ตั้งใจ เป็นเสื้อยืดที่ซื้อเก็บแต่ลืมทิ้งเอาไว้หลายร้อยตัว เบียร์จึงอยากจะคืนชีพให้กับสิ่งที่รัก เอาเสื้อยืดที่มีอยู่มาจัดแสดงในรูปแบบของเป็นพิพิธภัณฑ์

ที่นอกจากจะได้แบ่งปันงานศิลปะบนเสื้อยืดให้คนอื่นได้ชื่นชมกันแล้ว การทำพิพิธภัณฑ์เสื้อยืดนี้ยังช่วยหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้ทั้งตัวเขาและลูกน้องมีแรงจะทำงานสร้างสรรค์อีกต่อไปเรื่อยๆ

“คืองานของ Apostrophy’s มันเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำ ผมเลยอยากทำให้ MOTT เป็นอีกพื้นที่ที่ทำให้พนักงานของเราได้ปล่อยของปล่อยไอเดียของตัวเองออกมาโดยที่ไม่มีบรีฟของลูกค้ามาเป็นข้อจำกัด

มันเป็นเหมือนสถานที่ที่เอาไว้เลี้ยงจิตวิญญาณของพวกเขา แล้วด้วยความที่มันอยู่ในพื้นที่ของออฟฟิศ เขาก็สามารถใช้ตรงนี้เป็นที่ทำงานได้ ที่พอมองไปเห็นลายต่างๆ บนเสื้อยืด ก็อาจทำให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานได้เหมือนกัน

ทำตรงนี้ขึ้นมาไม่ได้หวังผลกำไรทางเงินหรอก แต่หวังผลกำไรทางใจที่อยากให้ทีมของเรามี Passion ทำงานต่อไปด้วยกัน”

มูลค่าที่เติมเต็มคุณค่าทางใจในวัยเด็ก

หลายคนอาจมองว่าเขาบ้า ที่ใช้เงินหลายบาทซื้อเสื้อยืดเก่าๆ มาเก็บเอาไว้ แต่เราว่าคงไม่มีอะไรแพงเกินไปหากสิ่งนั้นช่วยเติมเต็มคุณค่าทางใจให้กับเด็กชายเบียร์ในวัยเด็ก

“ผมทำงานอย่างหนักมาตลอด จนมาถึงจุดหนึ่งที่พอมีเงินก็อยากจะเติมเต็มความฝันในวัยเด็ก ซึ่งเอาจริงๆ มันก็คือ Boy Toy เหมือนกับรองเท้า ตุ๊กตา กันดั้ม อย่างที่คนอื่นมีกันแหละ

เพียงแต่ Boy Toy ของผมมันอยู่ในรูปแบบของเสื้อยืด ที่ไม่ได้มีเอาไว้แค่สวมใส่เท่านั้น แต่มันยังสามารถเป็นเครื่องมือที่เอาไว้บอกเล่าวัฒนธรรมดนตรีให้คนอื่นรับรู้ได้ด้วยเหมือนกัน”

เหตุผลที่ทำให้เสื้อยืดราคาแตะหลักแสน

หลายคนอาจสงสัยเหมือนกับเรา ว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้เสื้อยืดตัวเก่ามีมูลค่าจนแตะไปถึงหลักแสนบาทได้

ซึ่งในเรื่องนี้เบียร์ก็ได้อธิบายให้ฟังว่า

“หลักๆ ก็คงจะมีอยู่ด้วยกันอยู่ 3 เหตุผล

เหตุผลแรกคือสตอรี่ในเสื้อตัวนั้น ว่ามีที่มาที่ไปยังไง ยิ่งถ้าเป็นเสื้อที่ถูกผลิตขึ้นในยุค 70-80 หรือที่เรียกว่าเสื้อปีลึกก็จะแพงหน่อย เพราะนอกจากจะหายาก มันยังเป็นเสื้อที่มีคุณภาพด้วย

อย่างในยุค 90s จะมีการผลิตเสื้อด้วยเทคนิคเฉพาะตัวแบบหนึ่ง เรียกว่า OVP หรือ Over Print ที่ลายของเสื้อจะต่อกันทั้งตัว ไม่มีตะเข็บข้าง ลายด้านหน้าและด้านหลังเสื้อจะเชื่อมโยงกัน ซึ่งยุคนี้ไม่ค่อยมีใครทำกันแล้วเพราะต้นทุนในการผลิตมันสูง การจะทำให้ลายทั้งตัวต่อเนื่องกันไม่ใช่เรื่องง่าย เท่าที่เห็นอยู่ก็จะเห็นแต่ Versace นี่แหละที่ยังคงใช้เทคนิคแบบ OVP อยู่

เหตุผลที่สองคือไม้แขวนที่สวมใส่ คนใส่ยิ่งดังราคาเสื้อก็ยิ่งแพง โดยเฉพาะเสื้อที่ Justin Bieber และ Kurt Cobain ใส่นี่คือแพงทุกตัวเลย เหมือนกับคนดังพวกนี้เขารวยมากๆ จะซื้อเสื้อราคาแพงแค่ไหนใส่ก็ได้

แต่เหตุผลที่ทำให้เขายังเลือกใส่เสื้อยืดลายวงดนตรีต่างๆ ก็เพราะมันน่าจะเป็นวงที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกของพวกเขาในวัยเด็ก มันก็เลยยิ่งมีมูลค่าทางจิตใจสูงขึ้น

ส่วนเหตุผลสุดท้ายคือความนิยมของคนในเจเนอเรชั่นนั้นๆ ที่ผลัดเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา อย่างในช่วงนี้เสื้อที่ผลิตขึ้นในยุค 90 ก็จะได้รับความนิยม เพราะเด็กที่โตมากับยุค 90 เริ่มทำงานเริ่มมีกำลังซื้อ ปริมาณ Demand ก็มีมากกว่า Supply

ถ้าถัดจากนี้ไปอีกสักพักผมว่าเสื้อวง Limp bizkit , Linkin Park ก็น่าจะได้รับความนิยมเหมือนกัน เพราะเด็กรุ่นนั้นน่าจะโตมามีงานทำแล้วมีเงินซื้อพอดี และคิดว่าความนิยมมันก็จะวนไปแบบนี้อยู่เรื่อยๆ

นอกจากจะจัดแสดงเสื้อของตัวเอง เบียร์ยังเปิดให้ MOTT มีพื้นที่สำหรับให้นักสะสมมาจัดแสดงเสื้อยืดที่มีอยู่ด้วยเหมือนกัน โดยเสื้อยืดเซตนี้เป็นของ Off Collector ซึ่งเป็นพ่อค้าและนักสะสมอันดับต้นๆ ของไทย

ลงทุนใน Passion กับการแบ่งเสื้อไว้เป็น 2 พอร์ต

นอกจากจะเก็บสะสมเพราะความชอบ ยังมีเสื้อยืดบางส่วนที่เบียร์เก็บสะสมเอาไว้เพื่อลงทุน ที่เขาได้แบ่งเอาไว้เป็นอีก 2 พอร์ต

โดยพอร์ตแรกเขาตั้งชื่อให้มันว่า พอร์ตแบบเดย์เทรด เป็นเสื้อยืดที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขายและทำกำไรได้ทันที นอกจากนั้นเขายังแบ่งเสื้อปีใหม่ๆ บางส่วนออกมาขายด้วยเหมือนกัน ที่แม้จะไม่ได้ตั้งใจขาย แต่ก็กลับได้เงินมาเป็นหลักแสนบาทเลยทีเดียว

สำหรับพอร์ตต่อมาคือ พอร์ตอนาคต กับการเก็บเสื้อที่ยังไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย แต่เป็นเสื้อที่คนฝั่งอเมริกากำลังตามหา นั่นทำให้เบียร์สามารถซื้อมาได้ในราคาที่ไม่แพงมากนัก

จนเมื่อเวลาผ่านไปสักพักที่เทรนด์จากอเมริกาเข้ามาในไทย ก็ทำให้เขาสามารถขายเสื้อพอร์ตนี้ในราคาที่สูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมาหลายเท่าตัว

แหล่งหาเสื้อเจ๋งๆ ที่รู้ในหมู่คนรักเสื้อยืด

ด้วยจำนวนเสื้อยืดที่มีมากกว่าพันตัว เราถามว่าแล้วเบียร์ไปหาเสื้อยืดเจ๋งๆ เหล่านี้มาจากที่ไหนมากมาย เขาตอบเรากลับมาแบบไม่หวงความรู้ ไม่กลัวคนจะไปแย่งของ พร้อมชี้เป้าให้เรารู้จักกับแหล่งหาเสื้อเจ๋งๆ ว่า

“มันก็มีหลายที่เลยทั้งที่เป็นหน้าร้านและบนออนไลน์ อย่างหน้าร้านถ้าเอาเข้าถึงง่ายๆ ก็จตุจักร ตลาดนัดรถไฟ โดยพ่อค้าเหล่านี้ก็จะรับสินค้ามาจากโรงเกลือ โดยโรงเกลือก็รับมาจากปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่เอาไว้รับขยะที่ไม่ใช้แล้วของฝั่งอเมริกา แล้วส่งมาตามเมืองท่าของประเทศต่างๆ ใน SEA

ส่วนในออนไลน์ก็จะมีคนไลฟ์ขาย มีกรุ๊ปใน Facebook อยู่เยอะแยะ แต่ถ้าสนใจผมอยากแนะนำกรุ๊ป “ผ้าบาง” ซึ่งคำว่าผ้าบางนี้ก็หมายถึงผ้าของเสื้อยืดที่เป็นแบบ 50/50 คือเป็นผ้าผสมระหว่าง Cotton กับ Polyester (50% cotton – 50% Polyester) ที่พอใช้ไปเรื่อยๆ มันก็จะบางลง คนไทยก็เลยเรียกกันว่าผ้าบาง”

ก่อนจะกลายมาเป็นเจ้าของ พิพิธภัณฑ์เสื้อยืด ก็เสียค่าวิชาโดนของปลอมไปเยอะเหมือนกัน 

เราถามเบียร์ว่ามีเสื้อยืดเยอะขนาดนี้ แล้วเคยมีโดนหลอกให้ซื้อของปลอมบ้างไหม เขาหัวเราะก่อนตอบเรากลับมาว่า

“จะเหลือเหรอครับ! มันก็ต้องมีค่าวิชากันบ้างเป็นธรรมดา

แต่พอซื้อเข้าบ่อยๆ ประสบการณ์ก็จะเป็นตัวบอกเราเอง เช่น ต้องดูว่าเสื้อตัวนั้นมันตรงกับแฟชั่นยุคนั้นไหม เช่น ถ้าเป็นเสื้อยุค 70-80 ไซส์ XL มันจะเท่ากับ M ในปัจจุบัน หรือไม่ก็ดูตะเข็บด้านในว่าเขาตัดเย็บกันยังไง ถ้าทรงผิดไปจากนี้คือน่าจะไม่ใช่แล้ว”

ความ Niche ที่ไม่ Niche อย่างที่คิดไว้

แม้จะเปิดอย่างไม่ทางการมาเพียงไม่กี่เดือน แต่ MOTT กลับได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมากมาย เกินความคาดหมาย ที่ในตอนแรกเบียร์คิดไว้ว่าจะมีแต่คนเฉพาะกลุ่มเข้ามาเท่านั้น

“อย่างที่เล่าไปว่าผมไม่ได้ทำ MOTT มาเพื่อหวังผลกำไร แต่อยากให้มันเป็นสถานที่ที่เติม Passion ให้กับพนักงานของ Apostrophy’s และอยากจะให้มันเป็นพื้นที่ที่คนอินเรื่องเสื้อยืดเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งผมว่ามันเป็นกลุ่มคนที่ niche มากๆ

แต่พอเปิดจริงกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น มีกลุ่มครอบครัวเข้ามา มีคนที่เราไม่คิดว่าจะสนใจในเสื้อยืดเข้ามาอีกมากมาย เข้ามาทั้งเพื่อกินกาแฟ มาเดินเล่น มาหยิบจับ มาถามสตอรี่ของเสื้อตัวต่างๆ ว่าเป็นมายังไง

ซึ่งผมก็ดีใจนะที่ทำให้เขาได้เห็นว่าจริงๆ แล้วศิลปะมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แค่เขาเปิดตู้เสื้อผ้ามาก็เจอแล้ว

แล้วก็จะดีใจขึ้นไปอีก ถ้า MOTT จะเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ ที่อาจทำให้ใครบางคนลุกขึ้นมาเปิดพิพิธภัณฑ์ในสิ่งที่เขาชอบก็เป็นได้

คิดดูสิ ถ้ามันมีแบบนี้สัก 10 ที่ 10 แบบ มันจะเท่ขนาดไหน เด็กรุ่นใหม่ก็จะได้มีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย

ไม่ใช่มีแต่พิพิธภัณฑ์ที่เก็บงานศิลปะไว้ในกรอบแล้วคนก็เข้าถึงไม่ได้”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online