ประวัติ ริชาร์ด แบรนสัน ทำความรู้จักกับเจ้าพ่อ Virgin Group ที่วันนี้ธุรกิจสายการบินดูเหมือนว่ากำลังปีกหัก
“ริชาร์ด แบรนสัน” จากเด็กผู้ชายธรรมดาที่ออกจากโรงเรียนในวัย 15-16 ปี เพื่อออกมาจริงจังกับการทำธุรกิจ
ประวัติ ริชาร์ด แบรนสัน
เขาเกิดและเติบโตในอังกฤษ เริ่มต้นด้วยธุรกิจแมกกาซีนในวัย 16 ปี ในชื่อ student magazine ในช่วง 1960s แต่เขามองว่าธุรกิจแมกกาซีนที่ทำนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เขาจึงมองหาธุรกิจใหม่
เขาเริ่มต้นธุรกิจขายแผ่นเสียงที่มีราคาถูกกว่าร้านทั่วไป และจัดส่งทางไปรษณีย์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นธุรกิจแผ่นเสียงที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของ Virgin Group ในปี 1970
จากนั้นแบรนสันได้ขยายธุรกิจไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรมทั้งเทคโนโลยี สุขภาพ การเงิน เกม อวกาศ รถไฟ โรงแรม สายการบิน
จนปัจจุบันธุรกิจที่แบรนสันทำนั้นมีกว่า 400 บริษัท มีพนักงานกว่า 69,000 คน ใน 35 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้แบรนสันมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โฟกัสเฉพาะธุรกิจสายการบิน จากที่เขาเริ่มมีความสนใจบวกกับ Randolph Fields มาเสนอให้ร่วมกันทำสายการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
สายการบินแรกที่ก่อตั้งขึ้นในนาม Virgin คือ “Virgin Atlantic” จึงเกิดขึ้นในปี 1984 มีคู่แข่งที่มีเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหมือนกันคือ ‘British Airway’
ปี 2000 กำเนิด ‘Virgin Australia’ เป็นสายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับสองของออสเตรเลีย รองจากสายการบิน Qantas
เส้นทางนับสิบปี ยี่สิบปีในธุรกิจสายการบินไม่ได้สวยหรู เพราะก่อนที่จะเจอกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด นั้นสายการบินก็มีปัญหาด้านการเงินอยู่แล้วเช่นกัน
โดยปี 2019 สายการบิน Virgin Australia มีผลประกอบการขาดทุนอยู่ที่ 71.2 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ก่อนหักภาษี)
ประกอบกับผลกระทบของการหยุดบินเนื่องมาจากโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นเมื่อวานนี้ (21 เม.ย.) สายการบิน Virgin Australia ยื่นล้มละลายหลังไม่สามารถทำการบินได้
และยอมให้ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเข้ามาปรับโครงสร้างและติดต่อบริษัทที่จะเข้ามาซื้อกิจการเพื่อให้พ้นจากวิกฤตครั้งนี้
การยื่นล้มละลายดังกล่าวมีขึ้นหลังรัฐบาลออสเตรเลียไม่อนุมัติเงินกู้ 888 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 29,304 ล้านบาท) ให้สายการบินนำไปแก้ไขปัญหาหนี้สะสม
ปัจจุบันครองส่วนตลาดเส้นทางบินในประเทศอยู่ที่ 31% และมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ สายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 20.94% , สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ 20.09% ,
บริษัทหนานชาน กรุ๊ป ของจีน 19.98%, บริษัทเอชเอ็นเอ กรุ๊ป ของจีน 19.82% และเวอร์จิน กรุ๊ป ของแบรนสันเองอีก 10.42%
ขณะที่ Virgin Atlantic ก็ได้มีการยื่นขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษแต่ไม่อนุมัติเช่นกัน
จนทำให้ริชาร์ด แบรนสัน ออกมาประกาศจะใช้ที่ดินบนเกาะ ‘Necker Island’ ที่เขาซื้อไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1970s บนเกาะมีโรงแรม รีสอร์ตหรู มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อหาเงินมากอบกู้สายการบิน Virgin Atlantic และ Virgin Australia
นับจากนี้คงต้องรอดูว่าธุรกิจสายการบินที่แบรนสันปั้นมากับมือจะเดินไปทิศทางไหนต่อ
แต่ถ้าหากยังกอบกู้สถานการณ์นี้ไม่ได้ Virgin Airline ของแบรนด์สันอาจจะต้องปีกหักก็เป็นได้
//CNN, Forbes, Telegraph, Financial times, Virgin
– คลื่น 95.5 virgin hitz ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2002 ก็เป็นของริชาร์ด แบรนสัน เหมือนกัน
ปัจจุบันเป็นของบีอีซี-เทโรเต็มตัว โดยเมื่อปี 2561 ได้เปลี่ยนชื่อจาก 95.5 Virgin Hitz มาเป็น HITZ 955 แทน
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ