ธุรกิจร้านอาหารหลังโควิด ชาบู-ปิ้งย่าง เตาละคน ผลจะเป็นอย่างไร ? เปิดมุมมอง 4 แบรนด์ในวันที่ธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Bar B Q Plaza
บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ Chief Possible Officer เล่าใน Facebook เอาไว้ว่า
“ค่าใช้จ่ายหนักๆ คือ Food restaurant บรรทัดหนักๆ มีไม่กี่บรรทัด
แต่ที่โหดมากในการที่จะผ่านมรสุม covid-19 และนโยบายกลับมาเปิดห้าง เปิดร้านใหม่คือ “ค่าเช่า”
ธุรกิจ Food restaurant แบกชีวิตพนักงานหลายร้อย หลายพันคน ไม่ได้ขอให้รัฐมาช่วยจ่ายค่าเช่า
แต่ landlord รายใหญ่ของประเทศ หลายครอบครัว หลายตระกูลใหญ่ที่ตอบจดหมายถึงรัฐ ไม่เห็นมีใครพูดถึงส่วนนี้เลย
ทุกวันนี้ต้องคอยตามข่าว ตามศูนย์ทุกวันว่า เดือนพฤษภาคมหรือเดือนต่อๆ ไปจะช่วยยังไง
เปิดห้างใหม่คนเข้าน้อยลง คนมากินน้อยลงรับลูกค้าได้ไม่ถึง 50%
ถ้าถูกเก็บค่าเช่า 100% เพราะศูนย์บอกเปิดเมืองแล้วคนมาปกติ
ถ้าจ่ายพนักงาน 100% เพราะรัฐไม่ช่วยเรื่องเงินประกันสังคม
ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการรันร้านเพิ่มขึ้น สารพันกฎเกณฑ์
บวกลบกันเองแบบเด็กประถม
รับต่ำกว่า 50 บาท จ่าย 100 บาท
แค่นี้พอจะเห็นภาพ
ทุกวันนี้มีถังออกซิเจนเหลือน้อยทุกวัน
ถ้าไม่ใช่วิชาดำน้ำอึด กลั้นหายใจ หายใจทางปาก
ไม่รู้จะหมดลมหายใจเมื่อไร
ท้ายสุดถ้าร้านอาหารต่างๆ ไม่ไหว เพราะเจอค่าเช่า 100%
ลองจินตนาการชั้นอาหารที่เคยมีหลากหลายมากมาย
จะเป็นยังไง สักกี่ร้านที่จะทนพิษบาดแผลนี้ได้
พูดแบบนี้ไม่ได้ยอมแพ้หรอกนะ
แค่พูดในฐานะตัวแทนของคนในธุรกิจอาหาร
งานนี้หลังจบสงครามไม่รู้จะเหลือเพื่อนกี่คน
ยิ่งกว่าวิชาตัวเบา
งานนี้ อาจต้องใช้วิชาล่องหน…ก็เป็นได้”
Penguin Eat Shabu
ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu เล่าใน Facebook ไว้ว่า
“พร้อมรับทุกสถานการณ์
รู้ว่ายังไงเปิดไปก็ไม่มีทางคุ้มกับค่าใช้จ่าย
แต่ถ้ารัฐให้เปิดเราก็ต้องเปิด เพื่อให้พนักงานได้กลับมาทำงานและให้ลูกค้าที่อัดอั้นกับการสั่งเดลิเวอรี่ได้มารีแลกซ์กับการรับประทานที่ร้าน
แต่ยังไงสิ่งที่ทุกร้านจะต้องใส่ใจมากๆ คือเรื่องของความสะอาด ไม่งั้นถ้าเกิดกลับมาติดอีกรอบนี่ รับรองได้ปิดร้านถาวรกันแน่ๆ”
ธุรกิจร้านอาหารหลังโควิด
เฝอหม้อไฟ สุกี้สไตล์เวียดนาม (วงเวียนใหญ่)
เจ้าของร้านเฝอหม้อไฟ เล่าให้ Marketeer ฟังว่า
“ผู้ประกอบการที่ร้านเล็กๆ ทุนไม่หนา สายป่านไม่ยาวให้เปิดมาอย่างนี้ก็มีแต่ตายอย่างเดียว เปิดมามันก็ไม่คุ้มหรอกครับ
พวกเพื่อนๆ ผมที่ทำชาบูปิ้งย่างหลายๆ ร้านก็เลือกที่จะปิดเหมือนเดิม รอดูท่าทีไปก่อน เพราะตอนที่ปิดพวกเขาปรับตัวโดยใช้วิธีจ่ายค่าแรงครึ่งหนึ่ง จ่ายค่าเช่าครึ่งหนึ่ง
แต่ถ้าเปิดมาปุ๊บ โดนเต็มๆ ยังไงมันก็ไม่คุ้ม ปิดเหมือนเดิมดีกว่าครับ
ส่วนของผมเองก็ยังคงเปิดอยู่ โดยการจัดร้านใหม่ตามมาตรการของรัฐ โต๊ะในร้านผมเหลือแค่ 20% จากจำนวนปกติครับ”
สุกี้ตี๋น้อย
ในมุมของเจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย เธอมองว่าแม้มาตรการที่ให้นั่ง 1 คนต่อ 1 เตา จะทำให้ยอดขายต่อรอบหายไปเกินครึ่ง คือจากรอบหนึ่งที่จุได้ 200 ที่นั่ง ก็เหลืออยู่แค่ 47 ที่นั่ง จากโต๊ะหนึ่งเคยเก็บได้ 4 หัว ก็เหลือแค่โต๊ะละหัวเท่านั้น
หรือกับประเด็นที่ว่าแม้จะนั่งแยกกัน 1 คนต่อ 1 เตา แต่เวลาไปกลับก็นั่งรถคันเดียวกัน เธอก็เข้าใจ เพราะอาจมีลูกค้าบางคนลักไก่อ้างว่าเป็นครอบครัวเดียวกันก็ได้
และถ้าหากมันกลับมาระบาดอีกรอบ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเธอมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน”
ขอบคุณภาพจาก: Bar B Q Plaza, Tor Vongchinsri
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



