เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ค่ายไหนลูกค้ามากที่สุด พร้อมบทวิเคราะห์อุตสาหกรรมเครือข่ายโทรศัพท์มือถือช่วงโควิดระบาด

วิกฤตโควิด-19 กระทบทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแต่ธุรกิจมือถือ อุตสาหกรรมเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะการทำงานในรูปแบบ Work from Home และการเรียนออนไลน์

ในไตรมาสแรกของปี 2563 อุตสาหกรรมเครือข่ายมือถือในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยรายได้และจำนวนลูกค้ารวมที่ลดลง ดูได้จากผลประกอบการธุรกิจมือถือของ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทั้ง 3 ราย ทั้ง เอไอเอส ทรูมูฟ เอช และดีแทค มีรายได้ที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

การลดลงของรายได้ผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ มาจาก

1.ผลกระทบโควิดที่ทำให้รายได้ของผู้บริโภคลดน้อยลง จากการว่างงาน การขาดรายได้จากการทำงาน และทำให้มีเงินใช้จ่ายกับค่ามือถือน้อยลงตามมา เช่นเติมเงินน้อยลง ยกเลิกบริการเสริมที่ไม่จำเป็น หรือลงแพ็คเกจรายเดือนเป็นแพ็คเกจที่มีราคาต่ำลง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

และสิ่งนี้ทำให้โอเปอเรเตอร์อย่างเอไอเอส และดีแทค มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายหรือ ARPU ลดลงจากไตรมาสสี่ของปี 2562 โดยเอไอเอส เหลือรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย 241 บาทต่อเดือน ลดลง 4.1%  ส่วนดีแทค รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย 258 บาท ลดลง 3.8%

มีเพียงทรูมูฟเอช เพียงโอเปอเรเตอร์เดียวที่มีรายได้ต่อเลขหมายเติบโตขึ้น 1.9% หรือมีรายได้เฉลี่ยที่ 213 บาทต่อเลขหมาย ต่อเดือน จากการผลักดันตลาดผ่านกลยุทธ Convergence พร้อมกับสิทธิพิเศษ และพริวิเลจให้กับลูกค้า

 

2.มาตรการช่วยเหลือประชาชน ในช่วงโควิด-19 ของกสทช. ที่เปิดให้ผู้ใช้งานมือถือที่จดทะเบียนในนามบุคคลและลงทะเบียนซิมโดยบัตรประชาชน สามารถขอรับสิทธิ์ใช้งานโทรฟรี 100 นาที และอินเทอร์เน็ตฟรี 10 กิ๊กกะไบต์ ที่ทำให้ลูกค้าซิมมือถือมีความจำเป็นในการเติมเงิน หรือซื้อแพ็คเกจเสริมเพื่อใช้บริการที่น้อยลง

การลงทะเบียนโทรฟรี 100 นาที มีผู้ได้รับสิทธิ์ 9.30 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นเติมเงิน 73% รายเดือน 27%

จากค่ายเอไอเอส 5.17 ล้านเลขหมาย ทรูมูฟเอช 2.55 ล้านเลขหมาย ดีแทค 1.49 ล้านเลขหมาย และที่เหลือเป็นของ CAT, TOT และเพนกวิ้น

ส่วนอินเทอร์เน็ตมือถือ 10กิ๊กกะไบต์ มีผู้ได้รับสิทธิ์ มีผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านเลขหมาย

แบ่งเป็น เอไอเอส 8.5 ล้านเลขหมาย ทรูมูฟเอช 3.5 ล้านเลขหมาย ดีแทค 2.4 ล้านเลขหมาย  และที่เหลือเป็นของ CAT และ TOT

 

3.ผลกระทบจากการท่องเที่ยว รวมถึงการกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจากความกลัวต่อเหตุการณ์สถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยต่อวันในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในประเทศไทย ทำให้รายได้และจำนวนลูกค้าในกลุ่มมือถือเติมเงินที่มาจากนักท่องเที่ยว และชาวต่างด้าวหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้จากสภาพคล่องทางการเงินยังทำให้ผู้บริโภคบางรายยกเลิกเบอร์ที่ไม่จำเป็นเพื่อตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป โดยเฉพาะเบอร์แบบเติมเงิน ที่ทั้งสามโอเปอเรเตอร์มีลูกค้าระบบเติมเงินลดลง โดยลูกค้ารายเดือนเอไอเอสลดลง 2.7% ทรูมูฟเอช ลดลง 2.9% และดีแทคลดลง 5.2%

 

4.มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ไม่สามารถให้ประกอบกิจกรรมในรูปแบบ On Ground ที่เชิญชวนลูกค้าเปลี่ยนแพ็คเกจ สมัครบริการเสริม และหาลูกค้าใหม่ได้ นอกจากนี้ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้บริโภคอยู่ติดบ้านมากขึ้น และไปแหล่งชุมชนน้อยลงทำให้โอกาสในการเปิดเบอร์มือถือใหม่มีน้อยลงตามมาเช่นกัน

 

5.แม้จำนวนลูกค้าของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายลงลดลง แต่ เอไอเอส และทรูมูฟเอส มีการเติบโตของลูกค้าใหม่ในระบบรายเดือน ส่วนหนึ่งจากการช่วงชิงลูกค้าเก่าจากดีแทค และการเปลี่ยนการใช้บริการจากรายเดือนเป็นเติมเงินของลูกค้าบางกลุ่ม จากความต้องการใช้งานดาต้ามือถือที่เพิ่มขึ้น

และการเติบโตของลูกค้ารายเดือนที่มีการจ่ายค่าแพ็คเกจที่มีกำหนดขั้นต่ำตามแพ็คเกจสม่ำเสมอทุกเดือน มีผลให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของทรูมูฟเอช โอเปอเรเตอร์ที่มีการเติบโตของผู้ใช้งานรายเดือนสูงขึ้นตามมา

แต่ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของทรูมูฟ ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการเสียง และน็อนวอยซ์ รวมถึงรายได้จากบริการโทรศัพท์ข้ามประเทศและอื่นๆ ที่เป็นรายได้หลักทรูมูฟเอช มีการเติบโตจาก 19,850 ล้านบาท ในไตรมาสสี่ของปี 2562 เป็น 20,094 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2563 แต่ถ้านำมารวมกับรายได้อื่นๆ เช่นรายได้เชื่อมต่อโครงข่าย รายได้เช่าโครงข่าย รายได้จากการชายสินค้า เพื่อคิดเป็นรายได้รวมเช่นเดียวกับโอเปอเรเตอร์อื่นๆ ถือว่ารายได้รวมของทรมูฟเอช มีการลดลงจากไตรมาสสี่ปีที่ผ่านมา

และ Marketeer เชื่อว่าในวันนี้แม้โอเปอเรเตอร์จะมีรายได้ที่ลดลง แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคสู่ New Normal ใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด อนาคตรายได้โอเปอเรเตอร์จะสดใสกว่าที่เคยเป็นแน่นอน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online