แอสเสท เวิรด์ (AWC) ทำไมพอร์ตจึงแข็งแกร่งท่ามกลางท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 (วิเคราะห์)
วันที่ 10 ตุลาคม 2564 เป็นวันครบรอบ 2 ปี ของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือAWC
.
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ถือเอาโอกาสนี้ประชุมพนักงานทั้งกลุ่มผ่านออนไลน์ในรูปแบบใหม่ ในช่วงเช้า และประกาศตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งขององค์กรอีกครั้งหนึ่งกับสื่อมวลชนในช่วงบ่าย
.
ถึงแม้ว่าในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา AWC จะเจอกับมรสุมโควิด-19 เข้าอย่างจัง
.
แต่เธอบอกว่าการที่บริษัทได้รวมโครงการคุณภาพทั้งหมดที่มีนำมาวางกลยุทธ์สมดุลในการจัดพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งมีทรัพย์สินในหลายเซกเตอร์ ทำให้ AWC ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้
.
และยังไม่หยุดเปิดโครงการใหม่ในปี 2563 ที่ผ่านมา เช่น โรงแรมบันยันทรีกระบี่ หรือห้องอาหารบนเรือสิริมหรรณพ
.
ปีนี้ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 64 จะเปิดโรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท ภูเก็ต และกลางเดือนธันวา 64 เปิดโรงแรม MELIAที่เชียงใหม่
.

แอสเสท เวิรด์ ยังคงเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะยาว

.
เพียงแต่คราวนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการจริงของลูกค้าในยุคนิวนอร์มอล ซึ่งได้เตรียมแผนปรับปรุงและรีโพสิชั่นนิ่งในโครงการต่าง ๆ ไว้แล้ว
.
ในอีก 5 ปีข้างหน้ายังมีอีก 3 โปรเจกต์แลนด์มาร์ก ซึ่งจะสร้างปรากฏการณ์ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยคือ
.
1. ASIATIQUE THE RIVERFRONT DESTINATION ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีบริษัท Adrian Smith + Gordon Gill Architecture (AS+GG) ผู้ออกแบบ ตึกสูงที่สุดปัจจุบันในโลกอย่าง “เบิร์จ คาลิฟา” ในนครดูไบ มาเป็นผู้ออกแบบ ใช้เวลาในการออกแบบประมาณ 2 ปี
.
มีแบรนด์ระดับทอปของโลกที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตร เช่น โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, โรงแรมเจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ รวมถึง ริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนส์ ซึ่งเป็นเซอร์วิส เรสซิเดนส์
.
โดยมีแผนเปิดให้บริการเริ่มจากเปิดโซนค้าปลีกและสำนักงานในปี 2567 ส่วนตัว Iconic Landmark ใช้เวลาสร้างเสร็จประมาณ 9 ปี นับตั้งแต่ปีนี้
.
โครงการที่ 2. AQUATIQUE DISTRICT PATTAYA เป็นมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองพัทยา ที่จะตอบโจทย์เรื่องความสุขความสนุก มีโรงแรมหรู 5 แบรนด์ และแบรนเด็ด เรสซิเดนส์อีก 2 แบรนด์ และพื้นที่ค้าปลีก
.
โครงการที่ 3. เวิ้งนครเขษม เป็นโครงการพิเศษแบบ Mixed Development ทั้งโรงแรม ที่อยู่อาศัย และค้าปลีกด้วยการลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท โดยดึงเสน่ห์และอนุรักษ์ความเป็นไชน่า ทาวน์ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับร้านค้าปลีกใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ
.
เริ่มก่อสร้างในปี 2565 คาดแล้วเสร็จปี 2570
.
ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอของAWC มีสินทรัพย์รวม 134,283 ล้านบาท ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ ที่ประกอบด้วยโรงแรม 18 แห่ง, รีเทล 8 แห่ง, อาคารสำนักงาน 4 แห่ง, ค้าส่ง 2 แห่ง รวม 32 แห่ง
.
และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่อีก 18 โครงการ ซึ่งจะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในพอร์ตโฟลิโอของ AWC จะมีจำนวนอสังหาริมทรัพย์
รวม 50 แห่งในหลากหลายทำเลสำคัญของประเทศ
.
สำหรับรายได้จะสามารถกลับมาทำได้ดีเช่นเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดอีกครั้งเมื่อไหร่นั้น
.
วัลลภากล่าวว่าขึ้นอยู่กับดีมานด์ว่าจะกลับมาเร็วแค่ไหน โดยเฉพาะกำลังซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งสำคัญอย่างมาก ๆ ในการช่วยดึงภาวะเศรษฐกิจให้กลับคืนมาเร็วขึ้น
รายได้ของ AWC
ปี 2561 12,415 ล้านบาท กำไร 469 ล้านบาท
ต่อมาปี 2562 11,522 ล้านบาท กำไร 1,054 ล้านบาท
ส่วนปี 2563 6,136 ล้านบาท ขาดทุน 1,881 ล้านบาท
ครึ่งปี 2564 2,089 ล้านบาท ขาดทุน 792 ล้านบาท
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน