ไทยประกันชีวิต อยู่มาถึง 80 ปี ทำไมจึงเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ (วิเคราะห์)
22 มกราคม พ.ศ. 2485 บริษัทประกันชีวิตของไทยประกันชีวิต ก่อตั้งขึ้นโดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทยกลุ่มหนึ่ง
ปี พ.ศ. 2513 วานิช ไชยวรรณ อดีตพ่อค้าข้าวรายใหญ่เข้ามาเป็นผู้บริหาร และปรับปรุงโครงสร้างครั้งใหญ่
ปัจจุบันมี ไชย ไชยวรรณ ลูกชายคนโตของวานิช เป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ไชยถูกวางตัวไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะต้องเป็นผู้เข้ามาสืบทอดกิจการ ที่ได้เริ่มเข้าทำงานในไทยประกันชีวิตตั้งแต่อายุ 25 ปี หลังจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ
เขาได้เรียนรู้งานตั้งแต่ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนดูแลด้านการลงทุน แล้วค่อย ๆ ศึกษางาน และไต่เต้าขึ้นไปจนถึงระดับบริหาร
ไชยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่เหนื่อย นอกจากมาร์จินจะต่ำแล้ว ยังต้องเหนื่อยเรื่องของคน ที่จะต้องสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า และที่สำคัญคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจธุรกิจประกัน
หากไม่ได้เกิดมาเป็น ไชยวรรณ คงไม่เข้ามาทำ
ปีนี้บริษัทครบรอบ 80 ปี วานิช อายุ 90 ปี และไชย อายุ 65 ปี
พวกเขาสามารถบริหารธุรกิจท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทายจนสามารถทำให้กิจการประกันชีวิตที่เล็กมากในสมัยนั้น กลายเป็นบริษัทประกันชีวิตของคนไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 1
มีส่วนแบ่งในตลาดเป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท เอไอเอ สร้างรายได้ในปีที่ผ่านมา 109,246 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีสินทรัพย์รวมกว่า 534,628 ล้านบาท
ใหญ่ขนาดนี้อะไรคือความจำเป็นที่ไชยต้องการสลัดภาพของธุรกิจแบบครอบครัวไปเป็นบริษัทมหาชน
เขาเคยบอกว่า Key Success ที่ผ่านมาขององค์กรที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือการบริหารคน หรือการบริหารตัวแทนที่มีมากกว่า 2 หมื่นคน
ไชยเป็นนักบริหารคนหนึ่งที่มีวิธีคิดในการบริหาร “งาน” แบบโลกตะวันตก แต่เชื่อมั่นหลักปรัชญาในการบริหาร “คน” แบบโลกตะวันออก
โลกตะวันตกอาจจะสร้าง Business Model ได้เก่ง แต่โลกตะวันออกเน้นในเรื่องเข้าใจในความเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าของตัวเองและเห็นคุณค่าของผู้อื่น
เขามักพูดถึงแนวคิดของชาวญี่ปุ่นในเรื่องของ “อิจิโกะ อิจิเอะ” คือการปฏิบัติต่อคนให้ดีที่สุด เหมือนกับว่าเราไม่มีโอกาสได้เจอเขาอีกแล้วในชีวิต มีน้ำใจแบ่งปัน ทำให้เขาประทับใจกับเราไปตลอดชีวิต
อีกคำคือ “โอโมเตะนาชิ” คือจิตวิญญาณในการให้บริการแบบญี่ปุ่น แปลเป็นไทยหมายถึงความใส่ใจอย่างจริงใจ
หรือการบริหารคนด้วยพรหมวิหาร 4 เมตตา คือปรารถนาให้ลูกน้องมีความสุข กรุณา คือช่วยให้เขาพ้นทุกข์ มุทิตา คือยินดีเมื่อเขาได้ดี อุเบกขา คือเมื่อเกิดเรื่องราวขึ้นมาแล้วเราวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน ปัญหาระหว่างทีมงานก็จะไม่เกิด
ทั้งหมดคือแก่นในการบริหารคน ที่ไชยสะท้อนให้เห็นว่าการทำธุรกิจก็เช่นเดียวกัน วิธีคิดของ Customer Centric อาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องเข้าถึง Customer at Heart คือดูแลลูกค้าด้วยหัวใจ ด้วยการสร้างจิตวิญญาณแห่งการบริการ หรือ Heart Made ให้กับพนักงานและฝ่ายขาย
วิธีคิดในเรื่องดูแลลูกค้าด้วยหัวใจถูกส่งต่อไปยังพนักงานทุกคนจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเข้มข้น
และยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญขององค์กรต่อไป แต่อาจจะไม่เพียงพอสำหรับโลกอนาคตที่ลูกค้าต้องการสินค้าที่ Personalized มากขึ้น
ไทยประกันชีวิต จำเป็นต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองไปเป็น Data-Driven Company และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการดูแลและบริการลูกค้า หรือ Heart Tech เพื่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตรงใจมากขึ้น
การเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำเงินไปทำเรื่อง Digital Transformation จึงเป็นสิ่งที่เขาเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป เพื่อโอกาสอันยิ่งใหญ่ของไทยประกันชีวิต
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



