ตลาด Energy Drink ปี 2565 เกมรบบนสนามใหม่ที่เริ่มถอยห่างชูกำลัง
ตลาด Energy Drink มูลค่า 19,000 ล้านบาท เปลี่ยนบริบทการแข่งขันไปเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จากแบรนด์ต่างๆ ที่พยายามปรับภาพลักษณ์ตัวเอง หนีห่างคำว่าเครื่องดื่มชูกำลัง สำหรับคนใช้แรงงาน ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตน้อยลง
และเป็นเซ็กเมนต์ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่ลดลง
แต่ในอดีต การปรับภาพลักษณ์ของเครื่องดื่ม Energy Drink จะเป็นการปรับจากเครื่องดื่มแบรนด์เดิม สร้างภาพลักษณ์ใหม่ เน้นแคมเปญ กิจกรรมการตลาดเข้าถึงวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ อย่างต่อเนื่อง จากการมองเห็นตลาดวันรุ่น คนรุ่นใหม่ มีโอกาสในการแข่งขันและเติบโตที่น่าสนใจ และยังเป็นการรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้หนีห่างการแข่งขันเดิมๆ ที่กลุ่มเครื่องดื่ม Energy Drink กลุ่มแมสมุ่งสู่ตลาดแรงงาน
แต่การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ Energy Drink ระดับแมส ยังคงมีความท้าทายในเรื่องของ “ภาพจำ” ของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังมองเครื่องดื่ม Energy Drink = เครื่องดื่มชูกำลังของคนใช้แรงงาน
และภาพจำเหล่านี้เอง ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มรู้สึกว่าไม่เหมาะกับภาพลักษณ์ตัวเอง
และภาพจำนี้ยังทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่กล้าเลือกซื้อเครื่องดื่มประเภทนี้มาดื่ม เพราะมองว่าตัวเองไมได้ใช้แรงงาน และไม่ต้องการเครื่องดื่มมาชูกำลัง
ซึ่งต่างจากต่างประเทศ ที่มองว่าเครื่องดื่ม Energy Drink คือฟังก์ชันนอลดริ้งก์ชนิดหนึ่งที่สามารถหยิบมาดื่มได้ แม้ไม่ได้ใช้แรงงานก็ตาม
เมื่อตลาดถูกความท้าทายด้วยภาพจำของผู้บริโภคชาวไทย
แบรนด์ที่เข้ามาแข่งขันในตลาด Energy Drink รุ่นใหม่ๆ จึงเลือกที่จะสร้างตลาดหนีห่างจากคำว่าชูกำลัง ผ่านการเพิ่มสารอาหารเข้าไป เปลี่ยนรูปแบบบรรจุ ใช้วิธีการสื่อสารการตลาด ที่เน้นสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภครับรู้ว่า เครื่องดื่มที่เห็นอยู่ตรงหน้า ไม่ใช้เครื่องดื่มชูกำลัง แต่เป็นเครื่องดื่ม Energy Drink เครื่องดื่มให้พลังงาน เครื่องดื่มผสมคาเฟอิน และอื่นๆ อีกมากมายที่เรียกแทนคำว่าชูกำลัง
รวมถึงพาตัวเองเข้าสูงเซ็กเมนต์พรีเมียมมากขึ้น
อย่างเช่น ในอดีต เราได้เห็นแบรนด์เรดดี้ จากค่ายกระทิงแดง ที่เปิดตัวแบรนด์ในตลาดพรีเมียม และทำตลาดสร้างภาพลักษณ์ที่หนีห่างจากคำจำกัดความว่าเครื่องดื่มชูกำลังอย่างต่อเนื่อง
จนเรดดี้ได้กลายเป็นหนึ่งผู้นำของในตลาด Energy Drink ระดับพรีเมี่ยม
เมื่อตลาดมีโอกาส และมีช่องว่างอยู่ เราเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแบรนด์เครื่องดื่ม Energy Drink หน้าใหม่ๆ ในกลุ่มพรีเมียมเกิดขึ้นมาหลากต่อหลายแบรนด์
และบางแบรนด์เป็นแบรนด์มาจากธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ธุรกิจเครื่องดื่ม อย่างเช่น แบรนด์ Predator Shot เครื่องดื่ม Energy Drink ของบริษัทคอมพิวเตอร์อย่างเอเซอร์
การเข้ามาในตลาด Energy Drink ของเอเซอร์ มาจากบริษัทแม่ที่ต้องการขยายขาไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่มากกว่าคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวในอนาคต
การมาของ Energy Drink ภายใต้บริษัทเอเซอร์ได้ตั้งชื่อแบรนด์ว่า Predator Shot เพื่อลิงค์ไปกับคอมพิวเตอร์ในตระกูล Predator ที่เจาะตลาดเกมเมอร์โดยเฉพาะ
เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักของ Predator Shot ในระยะแรกคือกลุ่มเกมเมอร์ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักอีกฐานหนึ่งของเอเซอร์
โดยใช้จุดขายผสมวิตามิน A และวิตามิน B ช่วยบำรุงสายตา และให้ความสดชื่นเนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เล่นเกม และอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน
การตลาดของ Predator Shot จะใช้วิธีวางขายในเซเว่นอีเลฟเว่นในช่วงเวลาแรก และสร้างการรับรู้ผ่านเครื่องมือการตลาดที่เอเซอร์มีอยู่ รวมถึงทำตลาดไปพร้อมกับโรดโชว์ และกิจกรรมการตลาดของเอเซอร์ เพื่อประหยัดงบการตลาดแต่ได้ประสิทธิภาพการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายสูงสุด
หลังจากที่เอเซอร์เปิดตัว Predator Shot ไม่ถึงปีสามารถสร้างยอดจำหน่ายเกิดเป้าหมายที่วางไว้ คือ 1.5 ล้านกระป๋องไปเป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งทำให้เห็นว่าตลาดนี้มีโอกาส ถ้าเข้าถึงเป้าหมายได้ถูกต้อง ในช่องทางจำหน่ายที่เหมาะสม
เมื่อเอเซอร์เปิด Predator Shot เจาะกลุ่มเกมเมอร์ในไทยเพียงไม่กี่เดือน บริษัท บีท เดอะ เวิลด์ จำกัด ได้เปิดตัว G-BEAT เป็นเครื่องดื่ม Energy Drink ออกมาจำหน่าย 2 รสชาติ จับกลุ่มเป้าหมาย Gen Y, Gen Z และเกมเมอร์
โดยใช้จุดขาย Energy Drink ผสมวิตามิน บำรุงสายตาและสมองที่อ่อนล้าจากการจ้องจอเป็นเวลานานสำหรับเกมเมอร์ ผู้ที่ชื่นชอบการสตรีมเกม
เนื่องจากการสื่อสารของ G-BEAT จะสื่อสารผ่านกลยุทธ์อีสปอร์ต ร่วมเป็น Official Energy Drink Partner ของนักกีฬาอีสปอร์ต อย่างทีม Talon Esports เจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ ปี 2021 ที่เวียดนาม เพื่อผลักดันแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างมากที่สุด
และทำการตลาดผ่าน Music Marketing ผ่านเพลง เพลง “Life is a Game นำแสดงโดย 2 พรีเซ็นเตอร์ “เก้า-สุภัสสรา ธนชาต และ “URBOYTJ
เพราะเป้าหมายของ G-BEAT คือส่วนแบ่งตลาด 10% ในตลาด Energy Drink กลุ่มพรีเมียมในปีนี้
หลังจากที่ G-BEAT เปิดตัวไม่นาน ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ นำเครื่องดื่ม Energy Drink แบรนด์ Rockstar เข้ามาทำตลาด 2 สูตร
และวางจุดขายตัวเองคือเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน อัดก๊าซ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเครื่องดื่มกระป๋องนี้ไม่ใช้เครื่องดื่ม Energy Drink ให้พลังงานเหมือนเครื่องดื่มอื่นๆ
พร้อมทำตลาดภายใต้คอนเซ็ปต์ ไม่หมดใจ…ยังไงก็ไปต่อได้ และกลยุทธ์อินฟลูเอ็นเซอร์และ Music Marketing เพื่อให้เป็นตัวเชื่อมความสนใจระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีความฝัน ยึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง ไม่ย่อท้อ มองโลกในแง่บวก และขวนขวายไปให้ถึงความสำเร็จ
การมาของ Rockstar ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ ได้คาดหวังว่าจะสามารถเข้ามาขยายฐานลูกค้าใหม่ในตลาดประเทศไทยได้
อย่างไรก็ดี ตลาด Energy Drink พรีเมียมมีโอกาสในการเติบโตจากผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เราเชื่อว่าการแข่งขันในตลาดคงสนุกขึ้น
เพราะผู้เล่นเก่าในตลาดคงไม่ปล่อยให้น้องใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ