ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยมีรูปแบบผู้ให้บริการน้อยราย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่สองราย ในขณะที่มีผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดจำนวนไม่มากนัก จากการที่โรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ การเติบโตอย่างชะลอตัวของเศรษฐกิจและหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปี 2558 นี้ จึงส่งผลกระทบต่อ รายได้โรงภาพยนตร์ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

โรงภาพยนตร์ลดความผันผวนของรายได้ ให้ความสำคัญกับ รายได้โรงภาพยนตร์ จากบริการอื่นๆมากขึ้น

การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์เป็นไปอย่างรุนแรง สอดคล้องกับภาพการใช้กลยุทธ์ต่างๆของผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ ที่มุ่งช่วงชิงผู้ชมภาพยนตร์ ทั้งในวันธรรมดา วันหยุดสุดสัปดาห์ และช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ในส่วนของการขายบัตรชมภาพยนตร์ได้อย่างสูงสุด

แม้ว่ารายได้หลักของธุรกิจโรงภาพยนตร์เกินกว่าครึ่งหนึ่งจะมาจากการขายบัตรชมภาพยนตร์ แต่รายได้จากการขายบัตรชมภาพยนตร์ในแต่ละปีก็ผันผวนตามจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายและจำนวนผู้ชมภาพยนตร์ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วส่งผลให้ช่องทางการชมภาพยนตร์มีความหลากหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การชมภาพยนตร์ในรูปแบบวีดีโอออนดีมานด์ ผ่านสมาร์ททีวี จอคอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ท การชมภาพยนตร์ผ่านแผ่นวีซีดี ดีวีดี และแผ่นบลูเรย์ ผ่านชุดโฮมเธียเตอร์ เป็นต้น

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่หันมาลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ ในขณะที่ยังสามารถรักษาการเติบโตของรายได้ของโรงภาพยนตร์โดยรวมให้ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการสร้างรายได้จากบริการด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ ยกตัวอย่างเช่น บริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม บริการพื้นที่สื่อโฆษณา ให้เช่าพื้นที่ร้านค้าปลีกและจัดกิจกรรมสำหรับธุรกิจต่างๆ บริการความบันเทิงอื่นๆ เช่น โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ เป็นต้น

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้ชมภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไป จากการให้ความสำคัญกับการออกจากบ้านเพื่อชมภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว มาสู่การออกจากบ้านเพื่อทำกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ช้อปปิ้ง พบปะสังสรรค์ รับประทานอาหาร ทำธุรกรรมต่างๆ เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์มุ่งขยายสาขาโรงภาพยนตร์ไปตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และคอมมูนิตี้มอลล์ ในพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว และหัวเมืองรองต่างๆ

จากการที่รายได้หลักของธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังมาจากรายได้จากการขายบัตรชมภาพยนตร์เป็นหลัก ส่งผลให้ในปี 2558 นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการชมภาพยนตร์จากผู้ชมภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบัตรชมภาพยนตร์ การขยายสาขาโรงภาพยนตร์ไปในพื้นที่ต่างๆ และการนำเสนอโรงภาพยนตร์ในรูปแบบใหม่ๆเพื่อเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

โรงภาพยนตร์ระดับกลางจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกระตุ้นการชมภาพยนตร์

ในระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ได้มีการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ระดับกลางอย่างคึกคัก โดยกำหนดระดับราคาบัตรชมภาพยนตร์ 120-400 บาทต่อที่นั่ง และเน้นการเจาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อระดับปานกลางขึ้นไป โดยในปี 2558 นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์น่าจะให้ความสำคัญกับการคัดเลือกทำเลที่จะขยายสาขาโรงภาพยนตร์ระดับกลางอย่างเข้มข้น โดยต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้ชมมีกำลังซื้อ และการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังไม่รุนแรง

ในปี 2558 นี้ การเติบโตอย่างชะลอตัวของเศรษฐกิจและหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น น่าจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทย โดยโรงภาพยนตร์ระดับกลาง น่าจะได้รับผลกระทบ โดยกลุ่มผู้มีกำลังซื้อระดับปานกลางน่าจะปรับพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์เฉพาะช่วงเวลาที่มีการจัดโปรโมชั่น การลดจำนวนครั้งในการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ลง โดยเลือกชมเฉพาะในช่วงเทศกาลและวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือเลือกชมเฉพาะภาพยนตร์ที่มีความสนใจเป็นพิเศษเท่านั้น เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบัตรชมภาพยนตร์เพื่อกระตุ้นการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ระดับกลางมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การขายบัตรชมภาพยนตร์ในรูปแบบ Gift Vouchers การดึงดูดผู้ชมภาพยนตร์เป็นกลุ่มใหญ่ การรับสมัครบัตรสมาชิกที่มอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ชมภาพยนตร์เฉพาะกลุ่ม เช่น นักเรียนนักศึกษา การมอบส่วนลดในการซื้อบัตรชมภาพยนตร์ในบางวันของแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น

ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ผุดโรงภาพยนตร์ระดับบนเจาะกลุ่มคนเมือง

ในปี 2558 ได้มีการเปิดตัวโรงภาพยนตร์ระดับบนควบคู่ไปกับการเปิดตัวห้างสรรพสินค้าระดับบนในทำเลใจกลางเมืองอย่างคึกคัก ซึ่งโรงภาพยนตร์ระดับบนมุ่งเน้นเจาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อระดับสูง และกำหนดระดับราคาบัตรชมภาพยนตร์ 400-2,000 บาทต่อที่นั่ง โดยมีบริการพิเศษที่แตกต่างจากโรงภาพยนตร์ระดับกลาง ยกตัวอย่างเช่น บริการอาหาร เครื่องดื่ม และห้องรับรอง จอภาพและระบบการฉายภาพยนตร์แบบสามมิติหรือสี่มิติที่ทันสมัย ที่นั่งชมภาพยนตร์ที่มีความสบายและหลากหลายรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของผู้ชม เป็นต้น

รูปแบบของการเปิดตัวโรงภาพยนตร์ระดับบนส่วนใหญ่เป็นการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ เช่น สถาบันการเงิน กลุ่มสื่อสาร กลุ่มยานยนต์ เป็นต้น ในการเป็นสปอนเซอร์โรงภาพยนตร์ และตั้งชื่อสินค้าและบริการนั้นๆร่วมกับโรงภาพยนตร์ (Naming Rights Sponsor) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์และแชร์กลุ่มลูกค้าร่วมกันระหว่างพันธมิตรที่เป็นสปอนเซอร์โรงภาพยนตร์กับโรงภาพยนตร์ โดยพันธมิตรที่เป็นสปอนเซอร์โรงภาพยนตร์ยังสามารถจัดกิจกรรมสำหรับลูกค้าของตนเอง ณ โรงภาพยนตร์ได้ รวมถึงลูกค้าของพันธมิตรที่เป็นสปอนเซอร์โรงภาพยนตร์ยังได้รับสิทธิพิเศษต่างๆในการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์นั้นๆอีกด้วย

ทั้งนี้ การปรับพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อระดับปานกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างชะลอตัวของเศรษฐกิจและหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์หันมาให้ความสำคัญกับตลาดโรงภาพยนตร์ระดับบนมากขึ้น เพื่อให้การเติบโตของรายได้ของโรงภาพยนตร์โดยรวมยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย

โรงภาพยนตร์ชุมชน ทางเลือกใหม่ของกลุ่มคนกำลังซื้อระดับล่างในอนาคต

จากการที่โรงภาพยนตร์ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโรงภาพยนตร์ในเครือของผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์รายใหญ่สองราย ซึ่งเป็นการให้บริการโรงภาพยนตร์ระดับกลางขึ้นไป ในขณะที่มีผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดจำนวนไม่มากนัก ส่งผลให้ยังมีช่องว่างในการเจาะกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์กลุ่มอื่นๆ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในการเจาะตลาดผู้ชมภาพยนตร์กลุ่มผู้มีกำลังซื้อระดับล่าง และมีแผนประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ชุมชน โดยมุ่งเน้นการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ในวงกว้าง ทั้งหัวเมืองหลัก หัวเมืองรอง และหัวเมืองตรี ผ่านการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่นั้นๆ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ชุมชนกำหนดตำแหน่งการแข่งขันที่มีความแตกต่างจากโรงภาพยนตร์ทั่วไปอย่างชัดเจน ผ่านการขายบัตรชมภาพยนตร์ในระดับราคาไม่สูง เพื่อเจาะฐานผู้ชมภาพยนตร์ที่เป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อระดับล่างกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ยังเข้าไม่ถึง หรือไม่มีความคุ้มค่าที่จะขยายการลงทุน

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วส่งผลให้ช่องทางการชมภาพยนตร์มีความหลากหลายมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตอย่างชะลอตัวของเศรษฐกิจและหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปี 2558 ส่งผลกระทบให้ผู้ชมภาพยนตร์ปรับพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางอื่นๆก็ยังไม่สามารถทดแทนการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากการชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์เป็นการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างจากการชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางอื่นๆ โดยนอกเหนือจากการชมภาพยนตร์แล้ว ผู้ชมภาพยนตร์ยังได้สัมผัสถึงบรรยากาศของโรงภาพยนตร์ เช่น การให้บริการ จอภาพและระบบการฉายภาพยนตร์ ที่นั่งชมภาพยนตร์ เป็นต้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ยังคงเป็นกิจกรรมยอดนิยมสำหรับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเทศกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองของการนำภาพยนตร์ใหม่เข้าฉาย เพื่อดึงดูดผู้ชมและสร้างกระแสในการชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

MOVIES---CONTENT

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่มาจากการขายบัตรชมภาพยนตร์น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณ 6,400 ล้านบาท ในปี 2557 มาสู่ 6,800-7,000 ล้านบาท ในปี 2558 หรือเติบโตร้อยละ 6-9 ซึ่งมีปัจจัยหนุนมาจากในช่วงครึ่งปีแรกซึ่งมีการเข้าฉายภาพยนตร์ต่างชาติฟอร์มใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมภาพยนตร์อย่างคึกคัก อีกทั้งในช่วงครึ่งปีหลังยังมีภาพยนตร์ต่างชาติฟอร์มใหญ่ที่มีกำหนดการเข้าฉายอีกจำนวนหนึ่ง โดยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่เป็นภาคต่อจากภาพยนตร์ที่เคยเข้าฉายและประสบความสำเร็จ ซึ่งมีฐานผู้ชมภาพยนตร์ที่รอชมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การเปิดตัวโรงภาพยนตร์ระดับบนโรงใหม่ๆในปี 2558 นี้ ส่งผลให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ระดับบนน่าจะมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ในขณะที่โรงภาพยนตร์ท้องถิ่นในบางพื้นที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ของผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ ส่งผลให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นน่าจะมีแนวโน้มหดตัวลง

บริการพื้นที่สื่อโฆษณาน่าจะเติบโตโดดเด่น

จากการที่รายได้ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ยังมาจากการขายบัตรชมภาพยนตร์เป็นหลัก จึงกล่าวได้ว่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังต้องพึ่งพาการฉายภาพยนตร์ ซึ่งมีความเสี่ยงทั้งในด้านของจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายในแต่ละปี และจำนวนผู้ชมภาพยนตร์ในแต่ละเรื่อง ที่อาจไม่สูงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์มีข้อจำกัดในการขึ้นราคาบัตรชมภาพยนตร์ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ในส่วนของการขายบัตรชมภาพยนตร์ในแต่ละปีมีความผันผวน สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ให้ความสำคัญกับรายได้จากการให้บริการอื่นๆมากขึ้น

บริการพื้นที่สื่อโฆษณาน่าจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและสร้างรายได้อย่างโดดเด่นให้กับผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์ โดยกล่าวได้ว่า ผู้ชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เป็นกลุ่มผู้ชมที่ชอบดูภาพยนตร์อย่างแท้จริงและระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่นและครอบครัว ผู้ซื้อสื่อโฆษณาจึงนิยมใช้สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้สื่อโฆษณาบนจอภาพยนตร์ ที่สามารถสร้างความรับรู้และจดจำในตัวโฆษณาได้เป็นอย่างดี และยังสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ได้ตามเนื้อหาหรือประเภทภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องได้อย่างชัดเจน

นอกจากสื่อโฆษณาบนจอภาพยนตร์แล้ว โรงภาพยนตร์ยังมีพื้นที่โฆษณาอื่นๆที่มีความหลากหลาย เช่น พื้นที่โดยรอบโรงภาพยนตร์ สื่อโฆษณากลางแจ้ง เป็นต้น ที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์นำเสนอความคุ้มค่าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดการตัดสินใจใช้งบประมาณโฆษณาของผู้ซื้อสื่อโฆษณา ยกตัวอย่างเช่น นำเสนอความยืดหยุ่นในการซื้อพื้นที่โฆษณา สามารถเลือกช่องทาง เวลาฉายโฆษณา ระยะเวลาการโฆษณา จุดติดตั้ง การปรับเปลี่ยนเนื้อหาโฆษณาให้สอดคล้องตามกลุ่มเป้าหมายในช่วงเวลาต่างๆได้ เป็นต้น

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน