เปิดเทอมใหญ่ปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองที่พำนักอาศัยในกรุงเทพฯ พอสมควร แต่ถึงกระนั้น การศึกษาถือได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่มั่นคงของบุตรหลาน ดังนั้น ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงวางแผนและทำทุกวิถีทางเพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาต่อ จากการ สำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอม ใหญ่ปี 2558 ของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ” ในช่วงระหว่างวันที่ 17 เมษายน – 24 เมษายน 2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
ผู้ปกครองเมืองกรุงฯ ยังคงจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาบุตรหลาน ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2558 แม้จะเผชิญแรงกดดันด้านหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับมุมมองของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมปี 2558 จากผลการสำรวจพบว่า ในแต่ละเดือนผู้ปกครองเมืองกรุงฯ ได้มีการจัดสรรค่าใช้จ่าย/ เงินออม เพื่อใช้จ่ายในแต่ละด้าน ซึ่งค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานนั้น มีสัดส่วนนำมาเป็นอันดับสอง (ร้อยละ 17) รองจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะค่าอาหารและค่าเดินทาง (ร้อยละ 30) แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยด้านการศึกษางมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการบริหารจัดการรายได้ของผู้ปกครองในแต่ละเดือนมากพอสมควร
โดยร้อยละ 67 ยังมีความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน หรือกลุ่มผู้ปกครองที่มีภาระหนี้สินที่ต้องชำระจากหนี้ อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองเมืองกรุงฯ ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าครองชีพและภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบุตรหลาน ดังนั้น ในแต่ละปีก็ยังคงมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้ให้บุตรหลานในช่วงเปิดเทอมอยู่เสมอ
โดยในช่วงเปิดเทอมปีนี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่หันไปปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยเลือกที่จะประหยัดหรือลดค่าใช้จ่ายปกติอื่นๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงค่าใช้จ่ายซื้อของใช้ส่วนตัวที่ไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอม
ซึ่งเงินเก็บ/ เงินออม/ เงินที่แบ่งจัดสรรไว้สำหรับค่าใช้จ่ายของบุตรหลาน คือ แหล่งงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของผู้ปกครองเมืองกรุงฯ คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ผู้ปกครองได้มีการเตรียมพร้อมและจัดสรรจากรายได้ตลอดทั้งปี เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงเปิดเทอม ในขณะที่แหล่งงบประมาณอื่นๆ ที่ผู้ปกครองเมืองกรุงฯ คาดว่าจะนำมาใช้ในช่วงเปิดเทอม ได้แก่ การนำสินทรัพย์ไปจำนำที่โรงรับจำนำ เงินจากการเล่นแชร์ และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
ภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองเมืองกรุงฯ ช่วงเปิดเทอม “เพิ่มขึ้น” โดยเฉพาะค่าชุดนักเรียน – ค่ากวดวิชา
ภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานของผู้ปกครองเมืองกรุงฯ ปี 2558 โดยรวม “เพิ่มขึ้น”: ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในปีนี้ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผู้ปกครองเริ่มมีความมั่นใจและตัดสินใจซื้อมากขึ้น หลังจากในปีที่แล้วผู้ปกครองส่วนใหญ่จำกัดงบประมาณและปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง อาทิ การซื้อเครื่องแบบนักเรียน/ อุปกรณ์การเรียนต่างๆ รวมถึงค่าเรียนกวดวิชา เป็นต้น
ค่าเทอม โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่ส่วนใหญ่จะปรับค่าเทอมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 5-10 ในขณะที่โรงเรียนรัฐบาล ยังคงได้รับเงินอุดหนุนจากทางภาครัฐ ซึ่งอาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ค่าเรียนกวดวิชา มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากปัจจัยจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มราคาค่าเรียนต่อหลักสูตรการเรียน อันเนื่องมาจากต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นของโรงเรียนกวดวิชา นอกจากนี้ ภายหลังจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับโรงเรียนกวดวิชาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ต้นทุนการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาในระยะข้างหน้าอาจจะจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ค่าชุดนักเรียน แม้ว่าผู้ปกครองจะได้รับเงินอุดหนุนจากทางภาครัฐ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในส่วนของชุดนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่ได้มาจากเหตุผลของราคา เนื่องจากปีนี้บรรดาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงตรึงราคาจำหน่ายชุดนักเรียนให้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่อาจจะเป็นผลที่เกิดจากจำนวนชุดนักเรียนที่ซื้อในปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-4 ชุด/คน หลังจากที่ปีที่แล้วได้ลดปริมาณการซื้อลงเหลือเพียง 2-3 ชุด/คน อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองก็ยังคงคำนึงถึงความประหยัดและความคุ้มค่า โดยอาจจะซื้อชุดนักเรียนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าตัวของบุตรหลานเล็กน้อย เพื่อให้สามารถใส่ได้นานขึ้น
ผู้ปกครองเมืองกรุงฯ ตั้งงบประมาณใช้จ่ายเปิดเทอม “เพิ่มขึ้น” คาดเม็ดเงินสะพัดกว่า 25,000 ล้านบาท
จากแนวโน้มค่าใช้จ่ายเปิดเทอมของผู้ปกครองกรุงเทพฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ในปีนี้ น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดกว่า 25,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของค่าเล่าเรียนโรงเรียนเอกชน (ค่าเทอม) และค่าเรียนกวดวิชา/เสริมทักษะ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 70 ของเม็ดเงินสะพัดทั้งหมดในกรุงเทพฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้แรงกดดันด้านกำลังซื้อของกลุ่มผู้ปกครองที่มีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังนั้น นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะธุรกิจจัดจำหน่ายชุดนักเรียน ธุรกิจกวดวิชา/เสริมทักษะ หรือแม้แต่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ดังนั้น แม้ว่าการตรึงราคาจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ในระดับหนึ่ง
ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจก็จำเป็นต้องมีการทำกลยุทธ์ทางการตลาดในช่วงเปิดเทอมใหญ่เพิ่มเติมเพื่อดึงดูดกำลังซื้อของผู้ปกครอง เพราะถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจที่น่าจะทำยอดขายได้มากที่สุดของปี โดยผู้ประกอบการอาจจะเน้นไปที่กลยุทธ์ด้านความคุ้มค่าไปสู่ผู้บริโภค ทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ หรือการจัดโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า อาทิ การให้สิทธิพิเศษส่วนลดต่างๆ และเงื่อนไขการชำระเงิน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย ซึ่งก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลเปิดเทอมได้เป็นอย่างดี
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ