ไม่เพียงเป็นแบรนด์ค้าปลีกสนีกเกอร์ขวัญใจแฟนบาสเกตบอล และชาวไลฟ์สไตล์สปอร์ตแบรนด์เลิฟเวอร์ทั่วโลกเท่านั้น
เพราะ Foot Locker (ฟุต ล็อคเกอร์) ยังนับเป็นแบรนด์ที่ผ่านหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของโลกธุรกิจสหรัฐฯ มาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นตลาดค้าปลีกรองเท้า
ช่วงบุกเบิกตลาดห้างสรรพสินค้าสหรัฐฯ ที่กลายเป็น Trend Setter ของห้างฯ ทั่วโลกในเวลาต่อมา หรือการแจ้งเกิดครั้งใหญ่ของไนกี้ และสาเหตุที่ต้องใช้เวลามากถึง 80 ปี กว่าแบรนด์จะถือกำเนิด
สะสมชั่วโมงบินในโรงงานรองเท้า
G.R. Kinney (เกิดปี 1866) ที่เปรียบเสมือนบิดาของแบรนด์ Foot Locker เป็นชาวเมืองนิวยอร์ก ที่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักของครอบครัวตั้งแต่วัยหนุ่ม จากภาระหนี้สินที่ผู้เป็นพ่อสร้างไว้เพราะการบริหารธุรกิจร้านโชห่วยผิดพลาด ก่อนเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
เขาเริ่มต้นเส้นทางผู้ปฏิวัติตลาดค้าปลีกรองเท้าในสหรัฐฯ ปี 1885 ด้วยตำแหน่งเสมียนในโรงงานผลิตรองเท้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของนิวยอร์ก
โดยใช้เวลาตลอดระยะ 10 ปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานผลิตและบริหารในธุรกิจรองเท้า ควบคู่ไปกับการนำรายได้ส่งกลับไปเลี้ยงดูครอบครัวที่บ้านเกิดในนิวยอร์ก และทยอยชำระหนี้สินที่พ่อทิ้งไว้ไปพร้อม ๆ กัน
เริ่มต้นจากรองเท้าโลว์คอสต์
ปี 1894 ขณะอายุได้ 28 ปี G.R. Kinney ใช้เงินเก็บที่ได้มาตลอดชีวิตการทำงาน เข้าซื้อร้านค้าปลีกรองเท้าแห่งหนึ่งในเครือ Lester Shoe Co. ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา
G.R. Kinney เริ่มต้นธุรกิจในร้านค้าปลีกรองเท้าของตัวเองแห่งแรกในนาม Kinney Shoe ด้วยการตัดพ่อค้าคนกลาง และรับสินค้าส่งตรงปริมาณมากจากโรงงาน เพื่อคุมราคาให้อยู่ในระดับโลว์คอสต์ สำหรับผู้บริโภค
ร้าน Kinney Shoe ช่วงประมาณปี 1915
ปี 1903 Kinney Shoe กลายเป็นร้านรองเท้าค้าปลีกรายแรก ๆ ในนิวยอร์ก สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการรองเท้าโลว์คอสต์ในราคาเริ่มต้น ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ และมีการขยายสาขาไปยังเพนซิลเวเนีย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักขุดเหมืองในพื้นที่ ซึ่งใช้งานรองเท้าอย่างสมบุกสมบัน จึงมีรอบเปลี่ยนคู่ใหม่บ่อย ๆ
ปี 1916 หรือ 22 ปีผ่านมานับแต่ก่อตั้งร้านแรก Kinney Shoe ขยายเครือข่ายสาขาของร้านอย่างรวดเร็ว ด้วยกลยุทธ์ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการร้านสาขาในพื้นที่ต่าง ๆ โดย G.R. Kinney จะถือครองหุ้นอยู่ในสัดส่วนอย่างน้อย 50%
และกลายเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกรองเท้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ด้วยจำนวน 56 สาขา ปี 1917 Kinney Shoe ก็ได้กลายเป็น Kinney Shoe Co. บริษัทที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นชัดเจน โดย G.R. Kinney ถือหุ้นสูงสุด
เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
G.R. Kinney เสียชีวิตในปี 1919 ขณะอายุ 53 ปี แต่ Kinney Shoe Co. ยังคงเติบโตต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษ 1920 โดยขยายไปสู่การเข้าซื้อโรงงานผลิตเอง ซึ่งช่วยลดการพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้า และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่งให้ร้าน Kinney Shoe เริ่มเข้าสู่การปรับแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย จากเดิมที่เป็นเพียงร้านขายปลีกรองเท้าของกลุ่มชนชั้นแรงงาน โดยหันมาออกผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มชนชั้นกลางในสหรัฐฯ มากขึ้น
Kinney Shoe Co. กลายเป็นร้านค้าปลีกรองเท้าที่ประสบความสำเร็จในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ตอนปี 1923
และปี 1926 Kinney Shoe Co. ก็มีคลังกระจายสินค้าที่จัดส่งรองเท้าให้ร้านสาขาได้ถึง 60% จากความต้องการสินค้าวางขายหน้าร้านทั้งหมด และสามารถขยายสาขาร้าน Kinney Shoe จนมีถึง 366 แห่งใน 38 รัฐ และ 295 เมืองของสหรัฐฯ ตอนปี 1929
ทั้งนี้ การมาถึงของวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐฯ และทั่วโลก ปี 1930 ทำให้ Kinney Shoe Co. เจอปัญหาขาดแคลนทรัพยากรอยู่บ้าง ก่อนจะเริ่มไต่ระดับกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-45)
ควบรวมกิจการ
ปี 1950-55 Kinney Shoe Co. ขยายตัวกลายเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ด้วยการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มเสื้อผ้า เพิ่มเติมจากรองเท้า และดำเนินขยายร้านสาขาตามห้างสรรพสินค้า
แต่ด้วยสายป่านที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นในตลาดห้างค้าปลีกเกิดใหม่ของสหรัฐฯ Kinney Shoe Co. เริ่มมองถึงแนวทางการควบรวมกิจการ
ปี 1956 Kinney Shoe Co. ถูกเข้าซื้อโดย Brown Shoe Co. บริษัทผลิตรองเท้ารายใหญ่สุดอันดับ 4 และผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของสหรัฐฯ ขณะนั้น
เข้าสู่ Trend Setter ห้างสรรพสินค้าสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การควบรวมของ 2 กิจการรองเท้าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ทำให้เกิดข้อคัดค้านจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต่อต้านทุนผูกขาดของรัฐบาลกลาง
เพราะเป็นการเสริมอำนาจทางการค้าให้แก่ Brown Shoe Co. เกินไป โดยบริษัทแห่งนี้ใช้เวลาหลายปีและจมเงินหลายล้านดอลลาร์ไปกับการต่อสู้คดีกับภาครัฐ จนปี 1962 ศาลฎีกาก็ตัดสินให้ Brown Shoe Co. เป็นฝ่ายแพ้คดี
บริษัทถูกบีบให้ขายส่วนธุรกิจ Kinney Shoe Co. ซึ่งก็ยังคงเติบโตเป็น 2 เท่า ระหว่างอยู่ในการบริหารของบริษัทขณะนั้น แก่ F. W. Woolworth Co. ในปี 1963
ขณะนั้น F. W. Woolworth Co. ซึ่งก่อตั้งมาตอนปี 1879 นับเป็นบริษัทผู้บุกเบิกธุรกิจห้างค้าปลีกของสหรัฐฯ และกลายเป็น Trend Setter ของห้างสรรพสินค้าที่จะทยอยถือกำเนิดตาม ๆ กันมาทั่วโลกตลอดศตวรรษที่ 20 (1901-2000)
ร้านค้าปลีก Woolworth แห่งแรก ปี 1879
โดยห้างฯ Woolworth นับเป็นผู้เล่นในตลาดห้างฯ ยุคแรก ๆ ของสหรัฐฯ ที่ขยายสาขาไปยังตลาดต่างประเทศ และเป็นผู้บุกเบิก พัฒนาแนวทางการทำงานต่าง ๆ
อาทิ การจัดวางสินค้าอุปโภคบริโภคบนชั้นในมาร์เก็ต, ระบบบริหารสินค้าคงคลังและบัญชี, เซอร์วิสลูกค้า, การเลือกสรรแบรนด์เข้ามาเปิดร้านในห้างฯ ที่ยังคงถูกใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานของเครือข่ายห้างฯ ทั่วโลกในปัจจุบัน
กำเนิด Foot Locker
- W. Woolworth Co. ได้เปลี่ยนชื่อ Kinney Shoe Co. เป็น Kinney Shoe Corp. ซึ่งกลายมาเป็นส่วนบริษัทในเครือที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องตลอดช่วงปี 1960-70
โดย Kinney Shoe มีแผนกรองเท้าแตกออกมาเป็นหน้าร้านสาขาของตัวเองโดยเฉพาะ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในเซกเมนต์ต่าง ๆ กันไป
ไม่ว่าจะเป็นร้านรองเท้าแฟชั่นสำหรับสุภาพบุรุษ Stylco (1967), ร้านรองเท้าและเสื้อผ้าแฟชั่นสตรี Susie Casuals (1968)
ตลอดจนร้านรองเท้าและชุดกีฬา Foot Locker ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในวันที่ 12 ก.ย. 1974 หรือ 80 ปีผ่านมา นับตั้งแต่ G.R. Kinney เปิดร้านค้าปลีกรองเท้าแห่งแรกตอนปี 1894 โดย Foot Locker สาขาแรกตั้งอยู่ในห้างฯ Puente Hills รัฐแคลิฟอร์เนีย
อย่างไรก็ตาม ตลอดทศวรรษ 1970 Foot Locker มีสัดส่วนยอดขายเพียง 2% ของทั้งกลุ่ม Kinney Shoe และมีจำนวนหน้าร้านสาขาช่วงปลายทศวรรษ 1970 อยู่ประมาณ 70 แห่ง
The Great American Shoe Store
นอกจากเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคแล้ว Kinney Shoe ยังกลายมาเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกรองเท้าที่ทำตลาดสร้างการรับรู้ ด้วยสโลแกนที่ประสบความสำเร็จที่สุดครั้งหนึ่งในตลาดค้าปลีกของสหรัฐฯ อย่าง “The Great American Shoe Store”
ปี 1980 Kinney Shoe มีเครือข่ายร้านค้าปลีกรองเท้าภายใต้การบริหารงานทั้งหมด 2,115 แห่ง โดยได้รับแรงส่งจากสายป่านเครือข่ายห้างฯ ในกลุ่ม F. W. Woolworth Co. บริษัทแม่
และความแข็งแรงเป็นทุนเดิมของ Kinney Shoe ที่มีหน้าร้านสาขากระจายจับกลุ่มลูกค้าไว้ในทุกเซกเมนต์ โดยมียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 15% ของทั้งกลุ่มบริษัทแม่ F. W. Woolworth Co.
ไฮเปอร์มาร์เก็ตของ Walmart
ขาลงของ Kinney Shoe มาถึงในช่วงปี 1980-90 จากการที่บริษัทแม่ F. W. Woolworth Co. เริ่มสูญเสียสถานะผู้นำเครือข่ายห้างฯ ในตลาดสหรัฐฯ จากการผุดขึ้นของผู้เล่นมากมาย ซึ่งส่งผลให้มีการแข่งขันกันดุเดือดขึ้นหลายเท่าตัว
โดยเฉพาะการขยายตัวของห้างฯ Walmart ในกลุ่มบริษัท Walmart Inc. ซึ่งก่อตั้งในปี 1962 โดยทยอยเข้ามาแทนที่ห้างฯ Woolworth ด้วยโมเดลใหม่ในยุคนั้น อย่างห้างฯ ขนาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่มีสัดส่วนพื้นที่ให้บริการใหญ่กว่าผู้เล่นหลายเจ้าในตลาด
ปรับตัวสู่ค้าปลีกรองเท้ากีฬา
ปี 1997 F. W. Woolworth Co. ประกาศปิดห้างฯ Woolworth ที่เหลือดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Venator Group
หลังถูกเข้ามาแทนที่โดยสมบูรณ์ จาก Walmart Inc. ซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดห้างฯ เพิ่มอีกหลายเท่า หลังได้รับการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ปี 1997
Print Ads กลุ่มโปรดักต์รองเท้ากีฬาของร้าน Kinney Shoe ช่วงทศวรรษ 1970
ต่อมาปี 1998 Venator Group ก็ได้ปิดกิจการ Kinney Shoe ที่เหลืออยู่ทั้งหมด ยกเว้น Foot Locker เพื่อตัดสินใจหันทิศทางบริษัท สู่ธุรกิจเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาเป็นหลัก
หลังช่วงทศวรรษ 1990 Foot Locker ซึ่งเคยเป็นเพียงหางสิงโตของกลุ่ม Kinney Shoe กลายมาเป็นแผนกที่ครองส่วนแบ่งยอดขายของทั้งกลุ่มถึง 70%
เพราะดีมานด์รองเท้ากีฬาที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดมาตั้งแต่ปี 1980 โดยได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของแบรนด์ผลิตภัณฑ์กีฬา
อาทิ ไนกี้ (Nike) ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้าง Brand Awareness หลังได้เซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์ให้ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ตั้งแต่ปี 1984 ซึ่งยังเป็นเพียงผู้เล่นดาวรุ่งในขณะนั้น ก่อนกลายมาเป็นตำนานนักบาสเกตบอลของลีก NBA ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งในเวลาต่อมา
หรือจะเป็นความนิยมของลีกบาสเกตบอลอาชีพ NBA และอุตสาหกรรมกีฬาในประเทศสหรัฐฯ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากยูนิฟอร์มของทีมบริการหน้าร้าน Foot Locker ที่มาในชุดเสื้อเชิ้ตลายทางดำสลับขาว
แบบเดียวกับที่ผู้ตัดสินในกีฬาบาสเกตบอลใส่ลงไปทำหน้าที่ในสนาม และกลายมาเป็นยูนิฟอร์มของทีมบริการหน้าร้าน Foot Locker ทั่วโลก รวมทั้งโลโก้ของแบรนด์ในปัจจุบันอีกด้วย
กลับมาที่ช่วงทศวรรษ 1980 Foot Locker สามารถครองมาร์เก็ตแชร์ยอดขายปลีกรองเท้ากีฬาแบรนด์เนมถึง 20% จากร้านค้าปลีกทั่วสหรัฐฯ
โดย Venator Group กลายมาเป็นบริษัทค้าปลีกรองเท้าและชุดกีฬาเต็มตัว ตั้งแต่ปี 2001 ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Foot Locker, Inc.
โลโก้ฟุต ล็อคเกอร์ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน
เกิดเป็นบริษัทลูกผสม ระหว่างผู้บุกเบิกตลาดค้าปลีกรองเท้า และผู้บุกเบิกตลาดห้างฯ ของสหรัฐฯ ที่ผันตัวมาเป็นบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าและรองเท้าไลฟ์สไตล์สปอร์ตแบรนด์ข้ามชาติ รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ณ ปัจจุบัน
อ้างอิง: 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8
อ่าน: Foot Locker แลนด์ดิ้งสยามเซ็นเตอร์ รุกตลาดไลฟ์สไตล์สปอร์ตแบรนด์ 3 หมื่นล้าน
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ