ยุคนี้คือยุคแห่งสงครามค้าปลีกอย่างแท้จริง

เจียรวนนท์ สิริวัฒนภักดี และ จิราธิวัฒน์ โรมรันพันตูในสงครามค้าปลีกในหลากหลายรูปแบบมานาน

มีอีกหลายค่ายที่อยากลงมาทำสงครามนี้ แม้แต่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ปตท. ยังแยกออกมาเป็น OR และเร่งเครื่องเต็มที่กับธุรกิจค้าปลีกในสถานีบริการน้ำมัน

แต่ที่ทำให้ว้าวุ่นไปทั้งบางคือการกระโจนลงมาในสงครามค้าปลีกอย่างเต็มตัวของ เสถียร เสถียรธรรมะ เจ้าพ่อคาราบาวแดง

วันนี้ ขุมทรัพย์ค้าปลีกมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาท (SCB EIC) ส่วนใหญ่เลยอยู่ในมือ 4 ตระกูลดัง ที่แข่งกันขยายเครือข่ายเพื่อจับกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย จากค้าปลีก  ค้าส่ง ลงมาถึงโชห่วย จนจำแทบไม่ได้ว่าแบรนด์ไหนเป็นของใคร

ถ้ามองกันในแง่รายได้ ซีพีออลล์ ของ เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ครองยอดขายสูงสุดถึง 680,749 ล้านบาท (ใน 9 เดือนแรก/2566) โดยมีเซเว่นอีเลฟเว่นที่ก่อตั้งมานานถึง 36 ปีเป็นธุกิจหลักในการทำรายได้

ตัวเลขสิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 เซเว่นอีเลฟเว่น มีสาขาทั่วประเทศ 14,391 สาขา (ไม่รวม 72 สาขาในกัมพูชา และ 1 สาขา ในลาว) ส่วนใหญ่ยังเป็นร้าน Stand Alone ประมาณ 86% ของสาขาทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมันของ OR

ปีเดียวกันกับการเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านขายส่ง ขายปลีก MAKRO ในชื่อ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด ก็เกิดขึ้น

ปี 2564 กลุ่มซีพี ได้เข้าซื้อกิจการ Lotus’s และได้โอนกิจการทั้งหมดให้กับสยามแม็คโคร

ปี 2566 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO มาเป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT

ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 แม็คโครมีสาขาทั้งหมด 168 สาขา ส่วนโลตัสในทุกรูปแบบรวมกันทั้งหมด 2,293 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2565)

CRC (เซ็นทรัล รีเทล) กลุ่มเซ็นทรัล เกิดขึ้นเมื่อ 77 ปีมาแล้ว และเมื่อปี 2563 ได้มีการปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการแยกธุรกิจรีเทล CRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปัจจุบัน CRC ได้ขยายเข้าไปทำธุรกิจในประเทศอิตาลีและประเทศเวียดนาม มีเครือข่ายร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีก 3,648 ร้านค้า (ข้อมูล 30/9/2566) ครอบคลุมทั้งหมด 5 กลุ่มธุรกิจคือฮาร์ดไลน์ ฟู้ด แฟชั่น พร็อพเพอร์ตี้ และเฮลท์แอนด์เวลเนส ดำเนินธุรกิจใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ทั้งหมด 59 จังหวัด, ประเทศเวียดนาม ทั้งหมด 41 จังหวัด และประเทศอิตาลี

ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา CRC ยังได้ลงมาสู่ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ผ่านแบรนด์ GO Wholesale ด้วย

ปี 2566  บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ปรับโครงสร้างใหม่ เอากิจการค้าปลีก ค้าส่ง และธุรกิจเดิมของ Big C ทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC”

และเตรียมจะนำ  BRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ  แต่ได้ประกาศชะลอการไอพีโอออกไปก่อนเพื่อรอสภาวะเศรษฐกิจให้ดีกว่านี้

การปูทางเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ BRC ภายใต้การบริหารจัดการของลูกเขย อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ BRC จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับการสร้างอาณาจักรด้านค้าปลีกครั้งใหญ่อีกครั้ง

BRC มีร้านค้าในรูปแบบขนาดใหญ่ (199 แห่งในไทย และ 1 แห่งในกัมพูชา) ภายใต้แบรนด์บิ๊กซี (บิ๊กซี เพลส, บิ๊กซี มาร์เก็ต ฯลฯ) ร้านค้าในรูปแบบ บิ๊กซี มินิ รวม 1,518 แห่ง บิ๊กซีฟู้ด เซอร์วิส (4 สาขาในไทย) คือ บิ๊กซี ดีโป้ (11 สาขาในไทย) รวมทั้งตลาดสด Open-Air อีก 8 แห่ง (มิ.ย. 2566 )

และยังอยู่ในระหว่างปั้นแบรนด์ “โดนใจ” ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการร่วมพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย

รวมทั้งปั้นแบรนด์ “บิ๊กซีฟู้ด เซอร์วิส” ในรูปแบบขายส่งและขายปลีก อีกด้วย

แค่ 3 ตระกูลใหญ่การแข่งขันก็ดุเดือดมากมายอยู่แล้ว แต่แล้วเสถียร เสถียรธรรมมะ เจ้าพ่อคาราบาวแดง ที่ซุ่มทำธุรกิจค้าปลีกเงียบ ๆ มาหลายปี ก็ได้เวลาเร่งเครื่องธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มที่

ธุรกิจค้าปลีกของเสถียรทำผ่าน ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป และบริษัท ทีดี ตะวันแดง

เสถียร เคยระบุว่า ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส มีสาขาร้านค้าปลีกรวมประมาณ 1,000 สาขาในปี 2569 คาดว่าจะมีสาขาทั้งหมด 2,000 สาขา แบ่งเป็น CJ Express และ CJ Supermarket 1,500 สาขา CJ MORE (ศูนย์การค้าขนาดเล็ก) 500 สาขา

ส่วนร้านถูกดี มีมาตรฐาน ภายใต้ทีดี ตะวันแดง คาดว่าจะถึงเป้าหมาย 8,000 สาขาในสิ้นปีนี้ (ปัจจุบันยังไม่อัปเดต)

สงครามค้าส่งกำลังเริ่มต้น

แม็คโครยืนหนึ่งอยู่ในธุรกิจค้าส่งมานานกว่า 3 ทศวรรษ จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา CRC ของกลุ่มเซ็นทรัลก็เปิดตัว GO Wholesale โดยปัจจุบัน GO Wholesale มี 4 สาขา ได้แก่ ศรีนครินทร์ เชียงใหม่ อมตะนคร พัทยา และกำลังจะเปิดสาขาพระราม 2 เป็นสาขาที่ 5 ในวันที่ 19 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้

ส่วนค่าย CJ ของ เสถียร เสถียรธรรมมะ ก็เปิดตัว ซีเจ เอ็กซ์ (CJX) ปัจจุบัน มี 4 สาขา รวมทั้งกลุ่มบิ๊กซี รีเทล (BRC) ของเจ้าสัวเจริญ ก็เปิด “บิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส” ในรูปแบบธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ที่พร้อมชนแม็คโครโดยตรง

ศึกโชห่วย เพื่อรากหญ้าของนายทุนใหญ่

ศึกครั้งนี้มีร้านโชห่วยทั่วประเทศที่คาดการณ์ว่ามีอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนร้านเป็นเป้าหมาย

ร้านโชห่วย หรือ ร้านขายของชำ ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กในชุมชน ถูกกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อประมาณปี 2562 เมื่อเสถียรได้นำระบบการจัดการแบบโมเดิร์นเทรดเข้าไปยกระดับร้านโชห่วยในชุมชนเพื่อสู้กับร้านค้าปลีกที่ทันสมัยอื่น ๆ ที่กำลังรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว ผ่านแบรนด์ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน

งานนี้ไม่ใช่การเปิดร้านแข่งแต่ไปร่วมมือกับเจ้าของร้านโชห่วยที่เปิดร้านในชุมชนอยู่แล้ว และแบ่งเปอร์เซ็นต์ส่วนหนึ่งของกำไรที่เกิดขึ้นเป็นค่าการจัดการ

เป็น Business Model ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการค้าปลีก เมื่อเจ้าสัวยักษ์ใหญ่อีก 2 รายต้องลงมาเล่นเกมเข้าไปเป็นมิตรกับร้านโชห่วยต่าง ๆ ด้วย

ปัจจุบัน BRC (บิ๊กซี รีเทล) ของเจ้าสัวเจริญ มี “ร้านโดนใจ” โดยเริ่ม “ซอฟต์ ลอนช์” ไปตั้งแต่ต้นปี 2565  ส่วนเป้าหมายระยะยาว เคยมองถึงการมีเครือข่ายร้านโดนใจทั่วประเทศ 30,000 ร้านค้าภายในปี 2570

ส่วนเจ้าสัวธนินท์ก็กำลังปั้นแบรนด์ “ร้านนี้ขายดี” ในเครือของโลตัส รวมทั้ง “บัดดี้มาร์ท” ในเครือของแม็คโคร

วันนี้  BRC กำลังรอจังหวะยื่นไอพีโออีกครั้ง ส่วนค่าย CJ เสถียรบอกว่ากำลังแต่งตัวเพื่อเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online