การได้เป็นเจ้าของร้านอาหาร ดูจะเป็นอะไรที่หอมหวานสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ได้เติมเต็มความฝัน ได้เปลี่ยนแพชชันเป็นอาชีพ แต่ต้องอย่าลืมว่าทุกการทำธุรกิจล้วนแต่มี กับดัก หลุมพราง ที่คอยดักความฝันของผู้ประกอบการที่ทำการบ้านมาไม่ดีพอ
“จากข้อมูลปี 61 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารของไทย ปิดปีด้วยการเติบโตถึง 4-5% สร้างมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดให้เกิดร้านอาหารใหม่ๆ ไม่ซ้ำแบรนด์ หลากสไตล์ เกิดขึ้นเต็มหมด”
แน่นอนว่าการทำธุรกิจย่อมมีทั้งร้านที่อยู่รอด และมีเจ้าที่ต้องพับเสื่อล้มเลิกธุรกิจ… แต่จุดที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ “จะมีสักกี่แบรนด์ที่สามารถต่อยอดธุรกิจออกไปได้ไกลกว่าคู่แข่ง”
ร้านอาหารรุ่นใหม่ “ปรับอย่างไรให้รอด! เปลี่ยนอย่างไรให้เปรี้ยง!”
เพื่อเป็นการเสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการร้านรุ่นใหม่ที่อาจเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการต่อยอด รวมถึงคนที่กำลังมีแพลนเปิดร้านอาหารเป็นของตนเองในยุคดิจิทัลแบบนี้ ธนาคารกสิกรไทย ได้รวมเอา 3 ผู้ประกอบการตัวจริง! ของวงการธุรกิจร้านอาหาร ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหัวเรือใหญ่ในการพาแบรนด์ของตนให้โดดเด่นท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด
ประกอบไปด้วย อาริยะ คำภิโล เจ้าของร้านสลัดเพื่อสุขภาพ Jones’ Salad กันติชา สมศักดิ์ เจ้าของร้านขนมหวานสไตล์เกาหลี Cheevit Cheeva และ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้านบุฟเฟต์ชาบู Penguin Eat Shabu มาร่วมพูดคุยเสวนาแบ่งปันความรู้ในการทำธุรกิจ
ภายใต้หัวข้อ “ร้านอาหารยุคใหม่ ปรับอย่างไรให้ทันยุคดิจิทัล” ที่ K ONLINESHOP SPACE “KOS” ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 5 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของธุรกิจ และการรับมือกับปัญหาที่ต้องเกิด
เชื่อว่าชื่อของร้าน Jones’ Salad, Cheevit Cheeva และ Penguin Eat Shabu คงเคยผ่านหูผ่านตาทางโลกโซเชียล หรือหลายคนในที่นี้อาจเคยเป็นลูกค้าของพวกเขามาแล้ว ซึ่งต้องบอกว่ากว่าธุรกิจของผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้จะมาถึงระดับนี้ล้วนแต่ผ่านจุดที่เรียกว่า “ปัญหา” ด้วยกันทั้งสิ้น

อาริยะ คำภิโล หรือ “กล้อง” เริ่มเล่าถึงที่มาของ Jones’ Salad ร้านสลัดที่เริ่มต้นจากการที่ตนเองป่วยจึงอยากหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงเห็นช่องว่างของตลาดที่ผู้บริโภคก็ต้องการรับประทานผักดีๆ ไร้สารพิษกันมากขึ้น เพราะต้องการดูแลสุขภาพเช่นกัน บวกกับได้สูตรของน้ำสลัดโฮมเมดที่มาจากคนในครอบครัว “น้าเขยที่ชื่อโจนส์”
ก่อนจะนำเอาสูตรน้ำสลัดโฮมเมดมาปรับเพื่อให้เข้ากับลิ้นคนไทย อีกทั้งเลือกใช้ชื่อของ น้าโจนส์ เป็นชื่อร้าน Jones’ Salad รวมทั้งสร้างคาแรกเตอร์อย่าง ลุงโจนส์ ที่คอยนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ บนเพจ Jones’ Salad ซึ่งในปัจจุบันมีคนติดตามกว่า 1 ล้านคน
ปัญหาในการทำธุรกิจของร้าน Jones’ Salad ในช่วงแรกๆ ที่เปิดร้าน คือเรื่องการไม่มีความรู้ด้านธุรกิจอาหารมาก่อน จึงจำเป็นต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อย ทำให้เริ่มธุรกิจได้ช้ากว่าคนอื่น รวมถึงได้การสร้างคอนเทนต์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กที่แข็งแกร่งมาช่วย ทำให้ธุรกิจค่อยๆ เติบโต และทำให้รู้ว่าการทำธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาและแก้ไขอยู่ตลอดเวลา

สำหรับ กันติชา สมศักดิ์ หรือ “แพร” เจ้าของธุรกิจร้านขนมหวานจากเชียงใหม่ที่มีสาขาไกลถึงไต้หวัน รวมถึงคิวยาวๆ ที่สาขาสยาม แพรเล่าถึงที่มาของ ร้าน Cheevit Cheeva ซึ่งเกิดจากแพชชันโดยแท้จริง แรกเริ่มอยากมีร้านขนมเป็นของตนเอง แต่ด้วยความที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีร้านกาแฟแทบทุกหัวมุม ร้านขนมก็แข่งขันกันสูงมากๆ
ดังนั้นจึงต้องมองหาจุดแตกต่าง จนมาเจอเข้ากับเครื่องทำบิงซูน้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี ที่งานไทยเฟลก จุดเปลี่ยนแรกที่ทำให้ร้านเริ่มมีชีวิตชีวามากขึ้น จากการรู้จักมองตลาดและหาจุดแตกต่างให้กับธุรกิจที่กำลังทำ ด้วยความที่ร้าน Cheevit Cheeva เป็นร้านของหวานโฮมเมด ปัญหาเรื่องคนจึงสำคัญมาก ตอนมีร้านเดียวอาจเป็นร้านที่ใช้กำลังคนในครอบครัวได้
แต่เมื่อธุรกิจไปได้สวยขยับขยายร้านมากขึ้น จึงเริ่มฟีดแบ็กไม่ดีเกี่ยวกับการบริการที่บางครั้งช้าเพราะต้องทำเองหมด แพรจึงเริ่มแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มพนักงานและเน้นไปที่การเทรนนิ่งพนักงานมากขึ้น เพื่อรักษาคุณภาพของร้านไว้ รวมถึงการดึงเอาซอฟต์แวร์ต่างๆ มาช่วยเรื่องการจัดการร้าน สต๊อกสินค้าแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนั้นยังเลือกใช้ ระบบครัวกลาง ที่แม้ว่าต้นทุนสูงแต่แลกมาด้วยการควบคุณภาพ เพราะเชื่อว่าจุดขายของร้านคือเรื่องของสินค้าที่ขายต้องมัดใจคนที่เข้ามากินได้ด้วยคุณภาพสไตล์ของเธอ

ไปต่อกันที่ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี หรือ “ต่อ” เจ้าของร้านบุฟเฟต์ชาบู Penguin Eat Shabu อีกหนึ่งต้นแบบการทำร้านชาบูที่ไม่กลัวร้านเชนยักษ์ใหญ่ หรือคู่แข่งที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะเขาเชื่อว่า การเป็นธุรกิจเล็กๆ ร้านเล็กๆ นี่แหละทำให้เขาวิ่งเร็วกว่า ปรับตัวได้เร็วกว่ายักษ์ใหญ่
ต่อมองว่าธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจเงินสด เงินหมุนไว เติบโตสูงก็จริง แต่คู่แข่งก็เยอะมาก เพราะใครก็เปิดได้ เปิดง่าย แต่รอดรึเปล่าคงอยู่ที่การบริหารการจัดการ และการสร้างความแตกต่างให้ได้ เพียงแค่ชื่อร้าน Penguin Eat Shabu ก็เเตกต่างกว่าคู่เเข่งในตลาด
ต่อเล่าเสริมว่า ที่มาของชื่อร้านเกิดจากต้องการทลายความเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ชอบมาพร้อมกับชื่อร้านยากๆ อาหารอร่อยจริงแต่ลูกค้ากินแล้วจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร เอาไปบอกต่อไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นชื่อร้านของเราต้องโดน เด่น จำง่าย เป็นอะไรชื่อง่ายๆ ที่เเค่เอ่ยหรือบอกต่อคนก็เก็ตทันทีว่าร้านเราคือร้านอะไร
นอกจากนั้นยังรวมถึงเรื่องการตกแต่งร้านด้วยความที่ต่อเป็นสถาปนิกมาก่อน มองว่าร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ชอบแต่งร้านมืดๆ แต่ที่ Penguin เน้นเปิดโล่ง สว่าง จัดไฟเคลียร์ๆ สวยๆ ลงทุกโต๊ะ ผลลัพธ์ที่ได้คือคนที่เข้ามารับประทานก็อยากถ่ายรูปแชร์ออกไป ลูกค้าจึงกลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับร้านไปในตัว
สำหรับปัญหาของร้าน Penguin Eat Shabu คงหนีไม่พ้นเรื่องระบบและเรื่องของคนที่ต้องเร่งพัฒนาเป็นอันดับแรก เพราะเรื่องของหลังบ้านคือจุดอ่อนที่คนทำ SME ชอบมองข้าม เพราะมัวแต่มองว่าจะทำตลาดทำโปรโมชั่นอย่างไร จนลืมไปว่าหากร้านมีระบบที่แข็งแรงเป็นระบบระเบียบถูกต้อง ซึ่งสามารถช่วยลดทั้งต้นทุนและเพิ่มคุณภาพให้กับร้านได้โดยตรง
หนึ่งในเคสที่น่าสนใจคือการพัฒนาระบบหน้าบ้านและหลังบ้านให้ดี เก็บข้อมูลทุกอย่างเพื่อให้ได้ดาต้าข้อมูลของร้านมาพัฒนาต่อยอด รวมถึงแต่ละร้านแต่ละสาขายังไม่เหมือนกัน เพราะโลเคชั่นและคนที่เข้ามากินต่างกัน
“เมื่อก่อนผมต้องเสียเงินไปกับการให้ลูกน้องนั่งแท็กซี่ไปซื้อของมาเติมเข้าร้าน รวมๆ เดือนละกว่า 30,000 บาท พอรู้แบบนี้เลยต้องพัฒนาระบบสต๊อกให้แม่นยำขึ้นเพื่อลดต้นทุนตรงนี้”
ซึ่งการที่ร้านเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง นอกจากจะทำให้ร้านรู้จักลูกค้าดีขึ้นแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถต่อยอดเป็นแคมเปญการตลาดต่างๆ ดึงคนเข้าร้านและลดภาระของคนทำงานได้อีกด้วย
ออนไลน์ ออฟไลน์ และพนักงาน
ในเมื่อโลกกำลังถูกดิจิทัล Disrupt ในทุกทาง สำหรับแวดวงธุรกิจร้านอาหารย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน หนึ่งในหัวข้อเสวนาบนเวทีนี้จึงน่าสนใจมาก เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันระหว่าง ออนไลน์ ออฟไลน์ และเรื่องของพนักงาน
ต้องยอมรับว่า Jones’ Salad, Cheevit Cheeva และ Penguin Eat Shabu ทั้ง 3 ร้านถือเป็นตัวทอปของร้านอาหารที่ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของบทความเจาะลึกความสำเร็จต่างๆ คอนเทนต์ที่ทางร้านผลิตออกมา
อย่างกรณีของเพจ Jones’ Salad และที่ดูจะสำคัญที่สุดคือเรื่อง คอนเทนต์ที่มาจากผู้บริโภค อาจเป็นทั้งฟีดแบ็กที่ดี ไม่ดี เป็นคำแนะนำติชม รวมถึงรีวิวต่างๆ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจร้านอาหารยุคนี้ไปแล้ว
คาแรกเตอร์บนโลกออนไลน์กับออฟไลน์ที่หน้าร้าน ต้องสอดคล้องกัน เพราะไม่ดีแน่ถ้าทุกคนรู้จัก ลุงโจนส์ แห่งร้าน Jones’ Salad ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ แต่พอไปที่หน้าร้านกลับเจอพนักงานหน้าตาไม่รับแขก แนะนำเมนูอาหารผิดๆ ถูกๆ อาริยะจึงให้ความสำคัญกับการเลือกใช้พนักงานกับงานที่เหมาะกับพวกเขาเป็นอย่างมาก ประมาณว่า Put the right man on the right job
“ที่ร้าน Jones’ Salad แบ่งพนักงานออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ พนักงานประจำ พนักงานพาร์ตไทม์ และนักศึกษาทวิภาคี ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็มีความถนัดรวมถึงบุคลิกที่เหมาะกับงานต่างกัน เราก็แค่มอบงานที่เหมาะให้กับพวกเขา อย่างนักศึกษาที่คล่องตัวมีสกิลด้านภาษา ก็อาจให้พวกเขาเป็นฝ่ายต้อนรับ รับออร์เดอร์ พนักงานประจำที่มีประสบการณ์ก็ต้องมีเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพที่ชัดเจน เพื่อที่เขาอยู่กับเราอย่างมีความสุข และรู้สึกมีคุณค่าเป็นส่วนสำคัญของร้าน ซึ่งเป็นจุดแข็งของ SME ที่สามารถคลุกคลีกับพนักงานได้มากกว่าแบรนด์ใหญ่ๆ ”
สำหรับร้าน Penguin Eat Shabu ธนพงศ์แชร์ให้ฟังว่าปัจจุบันมีพนักงานกว่า 150 คน เมื่อก่อนมีปัญหาเรื่องคนเข้าออกเยอะมาก เพราะไม่มีการวางกฎ วางหน้าที่ที่ชัดเจนให้กับพวกเขา ไหนจะปัญหาส่วนตัว ปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงาน ซึ่งปัญหาที่ว่าแก้ได้ด้วยการวกกลับมาที่จัดการระบบให้ดี วางหน้าที่ บอกคุณที่จะได้รับเมื่อทำดี ชี้แจงโทษให้ชัดเมื่อทำผิด รวมถึงการเทรนให้พนักงานทุกคนเข้าใจถึง DNA ของแบรนด์ “ออนไลน์และออฟไลน์ต้องศีลเสมอกัน”
ปัจจุบันเมื่อระบบถูกเซตเข้าที่เข้าทางแล้วมีการสอนงานระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ถ่ายทอดความรู้และการสร้างคาแรกเตอร์ของแบรนด์ ปีนี้อัตราการเทิร์นโอเวอร์ของพนักงานลดลงเหลือ 20% จากเมื่อก่อนพนักงานเทิร์นเข้าออกกว่า 90%
ด้านการดูแลคนและการบริหารความเป็นออนไลน์และออฟไลน์ของ Cheevit Cheeva ยังคงเน้นไปที่เรื่องของการเทรนพนักงานบวกกับการอบรมที่เข้มแข็งเป็นหลัก รวมถึงมองคาแรกเตอร์กันตั้งแต่วันที่มาสมัคร เพราะมองว่าพนักงานที่ร้านทุกคนคือตัวแทนของแบรนด์ในรูปแบบออฟไลน์ ต่อให้ทำออนไลน์ออกมาสดใส มีชีวิตชีวาขนาดไหน พอมาเจอกับพนักงานที่ดูไม่มีชีวิตชีวา แน่นอนคงไม่มีใครอยากเข้าร้านอีก
อยากปัง อยากเปรี้ยง! ต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งทั้งออนไลน์และออฟไลน์
การทำธุรกิจร้านอาหารสมัยนี้ไม่ยากไม่ง่ายไปกว่าแต่ก่อน เพราะจะบอกว่าเมื่อก่อนไม่มีโซเชียลให้ใช้กว่าจะดังก็ต้องปากต่อปากหรือรอคนดังมารีวิว แต่โลกของโซเชียลออนไลน์ที่ใครๆ ก็เป็นนักรีวิวได้นี่แหละก็ถือเป็นโอกาสที่เปิดทางให้หน้าใหม่ผุดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว
การทำธุรกิจร้านอาหารสมัยนี้จึงต้องผสมผสานเอาอะไรหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน ทั้งออนไลน์ออฟไลน์จึงกลายเป็นส่วนเดียวกันหมด อย่างเช่นร้าน Cheevit Cheeva ที่เริ่มจากร้านโลคัลที่เชียงใหม่ พัฒนาไกลไปถึงไต้หวัน ก่อนที่จะมาเปิดสาขาดังในสยาม เธอให้ความสำคัญกับเรื่องของแบรนดิ้งและการทำตลาดด้วยออนไลน์เป็นอย่างมาก แต่เรื่องของออฟไลน์อย่างการตกแต่งร้าน พนักงาน ก็สำคัญไม่แพ้กัน
“อย่างแรกเลยเราต้องทำสินค้าให้ดูน่ากิน ไม่พอยังต้องพยายามสร้างสรรค์จัดตกแต่งแพ็กเกจจิ้งให้ดูน่าแชร์ออกไปอีกด้วย เพราะลูกค้าและขนมที่ทำออกไปเสิร์ฟนี่แหละคือการตลาดชั้นดีที่ช่วยโปรโมตร้านเราออกไป”
นอกจากนั้น Cheevit Cheeva แต่ละสาขายังตกแต่งไม่เหมือนกัน แต่คงคอนเซ็ปต์ของร้านไว้ เพื่อให้คนที่เคยกินที่เชียงใหม่อยากลองไปเปลี่ยนบรรยากาศที่กรุงเทพฯ เขาก็ไม่ลืมที่จะแวะไปร้านของเราเมื่อมีโอกาส
ส่วนร้าน Penguin Eat Shabu คงไม่ค่อยมีใครจะถ่ายรูปหมูคุโระบูตะลง IG เหมือนขนมหวานน่ารักๆ ทางร้านจึงต้องมองหากิมมิกเพื่อสร้างโอกาสตรงนี้ขึ้นมาให้ได้ “ไม่ต้องไปไล่บอกใครว่าร้านเราอร่อยที่สุด แต่ต้องคิดหาวิธีให้คนพูดแทนเรา และลูกค้าของเราทำหน้าที่พูดแทนเรา
ตัวอย่างเช่น ที่ร้านระหว่างรอของที่สั่งเราก็มีชุดเพนกวินให้ใส่ถ่ายรูป มีตุ๊กตา มีมุมถ่ายรูป ขนาดหมูสไลด์ที่อาจดูธรรมดาๆ ที่เพนกวินเลยจัดเสิร์ฟเป็นดอกกุหลาบ หรือจะเป็นไอศกรีมรูปเพนกวินไม่ได้อยู่ในบุฟเฟต์ แต่คนที่มากินที่ร้านต้องยอมจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อและถ่ายรูปแชร์ออกไปก่อนกิน “ชั่วโมงครึ่งที่ลูกค้าเข้ามาจ่ายเงินค่าอาหารให้เรา เขายังทำหน้าที่เป็นนักการตลาดให้กับเราไปพร้อมๆ กันอีกด้วย”
ส่วนเรื่องร้านของเพนกวินที่ไม่ว่าไปตั้งอยู่ที่ไหนลูกค้าก็รู้ทันทีว่านี่คือ Penguin Eat Shabu ไม่ใช่ของเจ้าอื่น นอกจากนั้น ต่อยังดึงเอาการเป็นสถาปนิกมาใช้อย่างเต็มความสามารถ ทั้งการคุมคอนเซ็ปต์ร้าน เลือกใช้สี ของตกแต่งไม่ได้แพงแต่แสดงออกถึงความเป็น Penguin Eat Shabu ได้อย่างชัดเจน
ความลับอีกหนึ่งอย่าง คือ 7 สาขาของ Penguin มาจากการเซ้งร้านชาบูที่ปิดสาขาไปแล้ว 5 สาขา “เราแค่เปลี่ยนสีเก้าอี้ ทาสีเหลืองเข้าไป ก็กลายเป็น Penguin เพราะมีแบรนดิ้งที่แข็งแรงทำให้เราได้ต้นทุนในการเปิดร้านที่ถูกกว่าคนอื่นได้”
โอกาสของร้าน Jones’ Salad ด้วยความที่ลูกค้าส่วนใหญ่คือกลุ่มรักสุขภาพ ลูกค้าเหล่านี้จะรู้สึกภูมิใจและอยากแชร์กิจกรรมที่เขาทำ อาหารสุขภาพที่เขากินลงบนโซเชียลบ่อยๆ อยู่แล้ว ซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็นข้อดีที่ร้านโจนส์สลัดได้รับไปเต็มๆ นอกจากนั้น การที่ร้านมีช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กที่แข็งแกร่งยังช่วยให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่มีพลัง อยู่กันเหมือนเป็นพี่น้อง ครอบครัว ที่ถกเถียงเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ทำให้เวลาขยายร้านไปที่ไหน หรือมีสินค้าใหม่คอมมูนิตี้ตรงนี้คือแรงที่คอยสนับสนุน
“เพจ Jones’ Salad ที่มียอดไลค์หลักล้านจึงไม่ใช่พื้นที่ขายของ แต่ที่จริงคือพื้นที่สร้างแบรนด์และสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงมากกว่า”
ด้านการตกแต่งร้านสาขาของ Jones’ Salad ส่วนใหญ่มักเลือกโลเคชั่นที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เดินทางไป กลับมาซื้อได้บ่อยๆ เพราะอาหารสุขภาพมักกินกันเป็นประจำ ที่สำคัญคือไม่เน้นขายแพง เน้นขายเร็ว ซื้อประจำมากกว่า
ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดดีๆ นำไปปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ
หลังจากที่ได้ฟังประสบการณ์ แนวคิด และวิธีการบริหารธุรกิจร้านอาหารให้เจ๋งแบบไม่มีเจ๊งท่ามกลางยุคดิจิทัลที่อยู่รอบตัวเราไปแล้ว ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 3 คนยังทิ้งท้ายงานนี้ด้วยแนวคิดในการทำธุรกิจที่เชื่อว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ แนวคิดของร้าน Jones’ Salad คือ ต้องสู้ในเวทีที่เรารู้ว่าเราแข็งแกร่ง และเริ่มลงมือทำ สะสมความรู้ สะสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาธุรกิจไปเรื่อยๆ เมื่อเราเก่งขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น โอกาสความสำเร็จก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
รวมถึงเรื่องของโลเคชั่นคือเรื่องสำคัญ คำว่า “โลเคชั่นดีไม่ใช่แค่ค่าที่แพงหรือมีคนเยอะ” แต่โลเคชั่นดีนั้นต้องเหมาะกับสินค้าที่เราขาย มองให้รอบด้านว่าเหมาะกับแบรนด์หรือร้านของเราไหม ลูกค้าเราอยู่ตรงนั้นจริงหรือเปล่า Cheevit Cheeva: เราต้องเริ่มทำจากสิ่งที่เรารัก ที่สำคัญคือห้ามขาดความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อมี Passion ก็อย่าลืมที่จะ Action เพราะมันสำคัญมาก และต้องห้ามหยุดพัฒนา
Penguin Eat Shabu: ที่สำคัญแม้ว่าจะเป็นผู้ประกอบการไซส์ SME แต่ห้ามมองข้ามเรื่องการวางระบบหลังบ้านที่ดี เพราะนี่คือทางลัดที่ช่วยให้เราไม่ต้องเหนื่อย รวมถึงทำให้ธุรกิจโตต่อได้
เรื่องของปัญหา คนเรามี 2 ประเภท คือคนที่ยอมแพ้และไม่ยอมแพ้ คนที่ยอมแพ้ไปแล้ว คือคนที่ไม่ได้ทำร้านอาหารแล้ว คนทำธุรกิจอย่างไรก็ต้องเจอปัญหาเหมือนกันหมด อยู่ที่เราจะปล่อยให้ปัญหาใหญ่กว่าหัวใจเราหรือเปล่า เพราะ SME คือ Superman Can do Everything แค่มองปัญหาให้เป็นเรื่องที่ต้องเจอทุกวัน ดังนั้นเราก็แค่ค่อยๆ แก้ไป
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ