วัตสัน มีดีอะไร ? ทำไมครองบัลลังก์ผู้นำร้านสุขภาพและความงามแบบขาดลอย (วิเคราะห์)

คุณใช้เวลาเข้าร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงาม หรือพวกร้านดรักสโตร์ เฉลี่ยสัปดาห์ละกี่ครั้งกัน

และเมื่อนึกถึงร้านเหล่านี้แล้ว แวบแรกที่นึกขึ้นมาได้ในหัวคือร้านอะไร?

เชื่อว่าหนึ่งในชื่อที่แวบขึ้นมานั้นต้องมีชื่อของ “วัตสัน” สโตร์สีเขียวเป็นเอกลักษณ์ อย่างแน่นอน

แม้ว่าในเกมการแข่งขันจะมีคู่แข่งรายเก๋าอย่าง “บู๊ทส์” และรายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ซูรุฮะ, มัตสึโมโตะ ฯลฯ เข้ามาร่วมชิงเค้กร้านสุขภาพและความงาม รวมถึงดรักสโตร์มากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไร “วัตสัน” ได้

แต่ละร้านเป็นใครมายังไง

วัตสัน-จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปที่ปี 1841 (พ.ศ. 2384) ที่แรกเริ่มเป็นร้านขายยาในฮ่องกง ปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัท  A.S. Watson Group ที่เป็นร้านค้าปลีกด้านสุขภาพและความงามรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ปัจจุบันมีร้านในเครือ A.S. Watson Group 15,000 แห่ง ใน 25 ประเทศเอเชีย และยุโรป

สำหรับเฉพาะร้านวัตสันนั้นมีด้วยกัน 7,200 สาขาทั้งในเอเชีย และยุโรป

ฟาก “บู๊ทส์” แบรนด์ร้านสุขภาพและความงามที่อยู่ภายใต้ Walgreens Boots Alliance ร้านค้าปลีกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1849 (พ.ศ. 2392) มีร้านค้ามากกว่า 18,500 แห่ง ใน 11 ประเทศ

ขณะที่”ซูรูฮะ” ดรักสโตร์สัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี 1929 (พ.ศ. 2472) มีสาขาในญี่ปุ่นมากกว่า 1,000 สาขา

โดยวัตสันเข้ามาในไทยภายใต้เครือเซ็นทรัล บริหารงานโดย “เซ็นทรัลวัตสัน” ในปี 2539

“บู๊ทส์” เข้ามาในไทยปี 2540 และ”ซูรูฮะ” เข้ามาในไทยโดยเครือสหพัฒน์ ในปี 2554

 

กำไร วัตสัน แตะระดับ 1,000 ล้านบาท

แต่ละเจ้าเข้ามาทำตลาดในไทยกว่า 20 ปี (ยกเว้นซูรูฮะที่เข้ามาทำตลาดได้เพียง 8 ปี) และมีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หนุนอยู่ พวกเขามีรายได้และกำไรเท่าไรกัน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั้ง 3 บริษัทแจ้งงบประมาณปี 2561 ไว้ดังนี้

วัตสันมีรายได้รวม N/A บาท (รายได้หลัก 16,190,913,810 บาท)

กำไร 1,892,127,486 บาท

——

บู๊ทส์ มีรายรวมได้ 8,994,882,476 บาท

กำไร 449,984,419 บาท

——

ซูรูฮะ มีรายรวมได้ 579,729,437.78 บาท

ขาดทุน 4,195,645.48 บาท

—–

หากเทียบต่อสาขาจะพบว่ากำไรต่อสาขาของวัตสันอยู่ที่ 3.78 ล้านบาท

ขณะที่บู๊ทส์กำไรต่อสาขาอยู่ที่ 1.62 ล้านบาท

ส่วนซูรูฮะจะขาดทุนต่อสาขาที่ 1.82 แสนบาท

น้องใหม่อย่างซูรูฮะดูจะยังไม่ตอบโจทย์ของตลาด ส่วนพี่ใหญ่ทั้งวัตสัน และ”บู๊ทส์” ยังคงสู้กันอย่างดุเดือด

งานนี้เห็นผู้ชนะอยู่รำไรว่า เจ้าตลาดอย่างวัตสันที่เข้ามาทำตลาดก่อนใครเพื่อน ยืนเหนือคู่แข่งอยู่มาก เพราะเมื่อเทียบกับบู๊ทส์ วัตสันมีกำไรมากกว่า 4 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลที่วัตสันยังคงยืนหนึ่งมาตลอด

Marketeer มองว่า

(1) จำนวนสาขา-วัตสันมีสาขาในไทยมากกว่า 500 สาขา ขณะที่บู๊ทส์มีสาขาอยู่ที่ 277 สาขา

จำนวนที่มากกว่าเกือบ 2 เท่าของวัตสันนี้ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าไม่ยาก ซึ่งวัตสันจะเน้นขยายไปตามแหล่งช้อปปิ้งมอลล์

(2) โปรโมชั่น/สะสมแต้ม-การทำการตลาดด้วยโปรโมชั่นและการสะสมแต้มเป็นอีกสิ่งที่ดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านเพราะซื้อของแล้ว ทั้งถูกและได้ของแถมกลับมาเป็นพอยต์ต่างๆ ใครล่ะจะไม่อยากได้

ในส่วนนี้มองว่า วัตสันทำได้ดีและเร้าใจกว่าคู่แข่งมาก ทั้งโปรโมชั่น 1 แถม 1, ชิ้นที่สอง 1 บาท รวมถึงความถี่ในการจัดโปรโมชั่น เรียกกำลังซื้อจากลูกค้าได้มากทีเดียว

(3) ความหลากหลายของสินค้า-ข้อนี้วัตสันมีไลน์สินค้าที่หลากหลายมากกว่า “บู๊ทส์” แต่จากการสำรวจความคิดเห็นมักจะบอกว่าเป็นสินค้าที่จำหน่ายอยู่ใน ”บู๊ทส์” มีเฉพาะแบรนด์จากอเมริกาและยุโรปมากกว่า (ไม่นับรวมสินค้าพวกเฮาส์แบรนด์)

เพราะฉะนั้นจุดนี้คงต้องให้ผู้บริโภคตัดสินกันเองว่าชอบผลิตภัณฑ์จากไหนมากกว่ากัน

(4) ปรับตัวรับยุคดิจิทัล-วัตสันไม่รอให้เทคโนโลยีมาดิสรัปชั่น เพราะเจ้าตลาดรายนี้ทั้งปรับและหากลยุทธ์นำเทคโนโลยีเข้ามาบริการลูกค้ามากขึ้น

ไม่ว่าจะ StyleMe เป็นการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR) ให้บริการแต่งหน้า เลือกเครื่องสำอางแบบเสมือนจริง และ TRY ME เทคโนโลยีแสดงสินค้าผ่านรูปแบบวิดีโอ รวมถึง Makeup Studio มุมแต่งหน้า และทดลองสินค้าด้วย (โดยปัจจุบันมีแค่เพียงบางสาขาเท่านั้น)

(5) ขายช่องทางออนไลน์-กลยุทธ์ Seamless ที่แบรนด์หวังตัดเส้นรอยต่อให้ช่องทางออนไลน์และออฟไลน์กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้อนี้วัตสันทำได้ดีกว่าเช่นกันเพราะมีช่องทางการซื้อผ่านออนไลน์มากกว่านั่นเอง

ด้วยประการทั้งปวงที่กล่าวมาทำให้วัตสัน มี Brand Image, Brand Awareness รวมถึงรายได้ที่ยืนหนึ่งในตลาดร้านค้าปลีกสุขภาพและความงามได้ไม่ยาก

แล้วพวกคุณชอบเข้าร้านไหนมากกว่ากันล่ะ

“วัตสัน” หรือ “บู๊ทส์” หรือเจ้าอื่นๆ 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online