ทีเอ็มบีรวมธนชาต ใครได้ ใครเสีย ? วิเคราะห์ผลลัพธ์ของบิ๊กดีลที่ยังต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ถ้าพูดถึงวงการธนาคารดีล TMB และธนชาต ถือเป็นดีลยักษ์ใหญ่แห่งประวัติศาสตร์อีกดีลหนึ่งในวงการธนาคาร ที่ธนาคารขนาดกลางอย่าง TMB และธนชาตจะควบรวมกันเพื่อขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บนความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้น

แม้จะเป็นข่าวมานานสำหรับดีลนี้ แต่ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 เป็นครั้งแรกที่ TMB และธนชาตได้ออกมาแถลงข่าว เปิดแผนรวมกิจการระหว่าง TMB และธนชาตเข้าด้วยกันเป็นธนาคารใหม่ (ซึ่งในวันนี้ยังไม่ได้เปิดเผยชื่อธนาคารใหม่ออกมา) โดยธนาคารใหม่แห่งนี้จะเปิดให้บริการในกลางปี 2564

ในปีนี้จะเป็นช่วงเวลาของการจัดการเรื่องหุ้นของทั้ง 2 ธนาคาร ผ่านกระบวนการซื้อขายหุ้นระหว่างกัน โดยการซื้อขายหุ้นนี้คาดการณ์ว่าเสร็จสิ้นธันวาคม 2562

และมกราคม 2563 ทั้งสองธนาคารจะมีคณะกรรมการและผู้บริหารชุดเดียวกัน และทยอยรวมการดำเนินงานทีละส่วน คาดการณ์ควบรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์เป็นธนาคารใหม่ในกลางปี 2564

กว่า TMB กับธนชาตจะพร้อมควบรวมเป็นกิจการธนาคารเดียวกันในชื่อธนาคารใหม่นั้น ถือว่าใช้เวลาในการทำงานมากถึง 2 ปีในการหาแนวทางในการทำธุรกิจร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน

เพราะการจับมือกันครั้งนี้ไม่ใช่การควบรวมกิจการจากการเข้าซื้อกิจการธนาคารที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตด้านการเงินอย่างในตอนที่ธนชาตได้ซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยในปี 2554 แต่เป็นการจับมือกันเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน

โดย Marketeer มองเหตุผลสำคัญที่ ทีเอ็มบีรวมธนชาต ครั้งนี้มาจาก

1. TMB และ ธนชาต ต้องการหนีจากธนาคารขนาดกลางเพื่อความแข็งแกร่งด้านการแข่งขัน

แม้ธนาคาร TMB และธนชาตถือเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีการเติบโตด้านธุรกิจจากสินค้าและบริการทางการเงินต่างๆ

แต่การเติบโตนี้ก็ไม่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพื่อพาตัวเองสู่ธนาคารขนาดใหญ่ได้ เพราะในตลาดนี้มีการอิ่มตัวด้านฐานลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารใดมาก่อน

และทุกธนาคารใช้วิธีการหาลูกค้าใหม่ให้กับธนาคารตัวเองด้วยการดึงลูกค้าจากธนาคารอื่นเข้ามาเป็นลูกค้าธนาคารตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นให้ฐานลูกค้าที่มีอยู่ของตัวเองใช้บริการธนาคารของตัวเองเป็นธนาคารหลัก

เพราะการที่ลูกค้าใช้เป็นธนาคารหลัก เท่ากับว่าธนาคารจะได้ผลกำไรจากการให้บริการที่มาถึง และมาพร้อมกับดาต้าเบสด้านการเงินที่ทำให้ธนาคารรู้จักลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดไปยังบริการทางการเงินใหม่ๆ หรือใช้เป็นดาต้าเบสในการปล่อยสินเชื่อที่ก่อให้เกิดหนี้เสียที่น้อยลง

และการมีจำนวนลูกค้าที่มีโพเทนเชียลมากขึ้น เท่ากับว่าธนาคารจะมีอำนาจในการต่อรองธุรกิจกับพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมธุรกิจเพิ่มขึ้นตามมา

สิ่งที่ขยายฐานลูกค้าสู่ธนาคารขนาดใหญ่ที่รวดเร็วที่สุดจึงหนีไม่พ้นเรื่องการจับมือควบรวมกิจการกับธนาคารเพื่อให้ทรัพย์สินและจำนวนฐานลูกค้าที่รวมกันมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จนได้ขึ้นชั้นเป็นธนาคารขนาดใหญ่ในที่สุด

2. พลังในการต่อกรกับธนาคารใหญ่

ที่ผ่านมาธนาคารธนชาตและ TMB ถือว่าเป็นธนาคารที่ยังมีจำนวนลูกค้า รายได้ ผลกำไร และสาขาในการให้บริการไล่ตามธนาคารขนาดใหญ่อยู่มาก

การร่วมมือควบรวมกันของทั้ง 2 ธนาคารนี้จะทำให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย โดยใน 10 ล้านรายนี้มีลูกค้าที่ทับซ้อนกันประมาณ 10%

และยังทำให้ทั้งสองธนาคารมีรายได้และกำไรไล่ตามธนาคารยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่างไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, กรุงเทพ, กรุงไทย และกรุงศรีอยุธยา ได้ตามติดมากขึ้น

เพราะข้อมูลจาก TMB และธนชาตที่รายงานกับนักลงทุนพบว่า

ในไตรมาส 2/2562 ธนาคารธนชาตมีรายได้ 12,283 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,592 ล้านบาท

ส่วน TMB มีรายได้ที่ 8,892 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,917 ล้านบาท

และเมื่อทั้ง 2 ธนาคารมารวมกันจะมีรายได้ 21,175 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,509 ล้านบาท

ซึ่งเมื่อมาเปรียบเทียบกับกำไรของ 5 ธนาคารที่ได้กำไรสุทธิสูงสุด

กำไรสุทธิของทั้งสองธนาคารจะไล่ตามธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่กำไรเป็นอันดับ 5 ห่างกันเพียง 1,501 ล้านบาทเท่านั้น

 

5 ธนาคารพาณิชย์ที่สร้างผลกำไรสุทธิสูงสุด

ธนาคารไทยพาณิชย์ กำไรสุทธิ 10,976  ล้านบาท

ธนาคารกสิกร กำไรสุทธิ 9,929 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิ 9,247 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย กำไรสุทธิ 8,170 ล้านบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำไรสุทธิ 7,010 ล้านบาท

ที่มา: รายงานของแต่ละธนาคารที่แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์

3. นำจุดเด่นทางธุรกิจที่ต่างร่วมกันไล่บี้คู่แข่ง

ธนาคารธนชาตและ TMB มีจุดเด่นทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มารวมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านการแข่งขัน และเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

โดย TMB มีจุดเด่นด้านลูกค้าเงินฝากทั่วไป จากผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบต่างๆ ที่ได้รับผลประโยชน์ที่มากขึ้นทำให้ที่ผ่านมา TMB มีการเติบโตด้านลูกค้ารายย่อยอย่างต่อเนื่อง

ส่วนธนชาตมีความโดดเด่นด้านสินเชื่อต่างๆ เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

ทั้งนี้การควบรวมของทั้ง 2 ธนาคาร ถือว่า TMB มีภาษีที่เหนือกว่า จากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น และในทางปฏิบัติทางการหุ้นธนชาตผู้บริหารธนชาตได้บอกว่า ธนชาตจะเป็นบริษัทลูกของ TMB ชั่วคราว ก่อนที่การควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นไปด้วยดี

แต่งานนี้ลูกค้าและพนักงานของทั้ง 2 ธนาคารอย่าเพิ่งกังวล เพราะจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารยังคงใช้ช่องทางเดิมของธนาคารในการทำธุรกรรมได้เหมือนเดิม

และสามารถทำธุรกรรมข้ามธนาคารกันได้ในปี 2563 ก่อนที่จะเป็นธนาคารเดียวกันในธนาคารใหม่ในปี 2564

ส่วนพนักงาน 19,000 คนของทั้ง 2 ธนาคาร ผู้บริหารให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการปลดพนักงานออกแต่อย่างใด แม้จะต้องยุบสาขาบางสาขาที่อยู่ใกล้กันก็ตาม เพราะผู้บริหารมีงานอื่นๆ ให้ทำอย่างแน่นอน

 

Marketeer FYI

สัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังควบรวมกิจการ

ING ถือหุ้น 21.3%

บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ถือหุ้น 20.4%

กระทรวงการคลังถือหุ้น 18.4%

สโกเทียแบงก์ (BNS) ถือหุ้น 5.6%

และผู้ถือหุ้นรายย่อย 34.3%

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน