หลังจากสึนามิลูกใหญ่สาดเข้าอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่มีการขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลไปทั้งหมด 7 ช่อง เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

และ กสทช. ต้องจ่ายชดเชยทีวีดิจิทัล 7 ช่องเป็นเงิน 2,932 ล้านบาท

อ่าน: สรุป ‘ค่าชดเชย’ คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

ส่วนช่องทีวีดิจิทัลที่เหลือก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป พร้อมกับจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลในงวดที่เหลือ

ล่าสุด กสทช. เปิดเผยว่า NEW TV เป็นช่องเดียวที่ไม่จ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัล งวดที่ 4/2 ส่วนช่องอื่นจ่ายครบ นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินกว่า 2,813 ล้านบาท

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ  กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (8 ส.ค. 2562) เป็นวันครบกำหนดชำระค่าประมูลทีวีดิจิทัล งวดที่ 4/2 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 ตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด พบว่า

มีเพียงบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ช่อง NEW TV ช่องเดียวที่ไม่มาชำระ สำนักงาน กสทช. จึงเตรียมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการเยียวยาฯ ที่แต่งตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของสำนักงานฯ ว่า

ในกรณีช่อง NEW TV ที่ทำผิดเงื่อนไขไม่ชำระเงินงวด 4/2 ให้ครบถ้วนตามคำสั่งแล้ว ช่อง NEW TV จะไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวด 5 และ 6 หรือไม่ และรวมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนเงินค่าเช่าโครงข่าย MUX ด้วยหรือไม่

ในส่วนช่องอื่นที่เหลือชำระครบ รวมเป็นเงินที่จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งสิ้น 2,813,244,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

สำหรับรายละเอียดของการชำระเงินค่าประมูลงวดที่ 4/2 นั้นพบว่า ช่องที่นำเงินมาชำระค่าประมูลทีวีดิจิทัล งวดที่ 4/2 เมื่อวานนี้มีจำนวน 8 ช่อง เป็นเงิน 1,990,521,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ประกอบด้วย

  1. บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง 3HD ชำระ 296,925,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  2. บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่อง PPTV HD ชำระ 289,435,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  3. บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ช่อง ไทยรัฐทีวี HD ชำระ 278,735,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  4. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่อง MCOT HD ชำระ 276,595,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  5. บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง Amarin TV HD ชำระ 274,455,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  6. บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ช่อง ONE HD ชำระ 274,455,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  7. บริษัท อาร์.เอส. เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง 8 ชำระ 222,025,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  8. บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ช่อง Nation TV ชำระ 77,896,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ซึ่งเป็นการชำระค่าประมูลบางส่วน และยอมรับเงื่อนไขชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของยอดค่าประมูลส่วนที่เหลือ

ส่วนอีก 2 ช่อง ได้แก่ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ช่อง MONO และ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ช่อง GMM Channel ยอมรับเงื่อนไขชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าประมูลงวดที่ 4/2 ทั้งหมด



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online