การสัมภาษณ์งาน เป็นอะไรที่หาความพอดียากเหมือนกัน เพราะถ้าคุณเตรียมตัวมากเกินไป คำตอบของคุณก็จะดู Fake เพราะคุณไปอ่านมาจากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้สมัครอีกสิบคนที่เหลือก็อ่านเหมือนกัน แต่ถ้าคุณไม่เตรียมตัวเลย คำตอบของคุณจะมีแต่น้ำ ไม่ได้ใจความ
แต่ประโยคเหล่านี้ เป็นประโยคที่ไม่ควรพูด เพราะมันสะท้อนถึงทัศนคติที่ไม่ดีของคุณหลายอย่าง และสำหรับการสัมภาษณ์งานที่ First Impression สำคัญมากๆ พูดประโยคเหล่านี้ออกไป อาจทำให้ทุกอย่างพังได้เลย
1.บริษัทนี้ทำอะไรบ้าง?
ก่อนมาสัมภาษณ์งาน คุณควรศึกษาบริษัทที่สมัครอย่างละเอียด บริษัทแม่ บริษัทในเครือ สินค้าและบริการทุกอย่างที่ทำ ไม่ว่าจาก Google หรือ เว็บไซต์บริษัทเอง
ประโยคที่ควรพูด : ถามคำถามที่แสดงว่าคุณได้ทำการบ้านมาอย่างดี จากนั้นค่อยเปิดประเด็นจากคำถามนั้นต่อ เช่น ผม/ดิฉัน ได้อ่านเกี่ยวกับโครงการล่าสุดที่บริษัทได้ทำ ความท้าทายของงานชิ้นนั้นคืออะไร?
2.กังวล
เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่คนเราจะกังวลเวลาสัมภาษณ์งาน แม้แต่คนที่สัมภาษณ์คุณก็มีความกังวล เพราะการพูดคุยกับคนแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย
ถ้าเจอคำถามว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไร? รู้สึกกังวลไหม? คุณไม่ควรตอบว่า ผม/ดิฉันรู้สึกกังวล เพราะการยอมรับว่าตัวเองกังวลไม่ทำให้คุณหายกังวล หายจิตตกได้ และอาจทำให้กังวลมากกว่าเดิมด้วย
ประโยคที่ควรพูด : ให้ใช้คำว่า “ตื่นเต้น” แทน
เพราะคำว่าตื่นเต้นเป็นประโคด้านบวก ตื่นเต้นที่จะได้ทำงานที่นี่ ตื่นเต้นที่จะได้เริ่มต้นในอาชีพที่อยากทำ
3.อืม เอ่อ
เวลาเจอคำถามที่ยาก หรือคาดไม่ถึง ปากจะอ้าขึ้นทันที และเปล่งเสียงบางอย่างออกมาเช่น อา อืม เอ่อ …ซึ่งมันดูแย่ในสายตาคนสัมภาษณ์
ประโยคที่ควรพูด : “เป็นคำถามที่ดีครับ/ค่ะ”
ประโยคนี้เป็นประโยคคลาสสิค ที่ใช้ซื้อเวลาได้หลายวินาทีในการนึกคำตอบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นประโยคนี้ก็ได้ แต่ควรเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นว่าคุณต้องใช้ความคิด และเวลาสักหน่อย ขออย่างเดียวอย่าเปล่งเสียงอะไรออกมา เพื่อแก้เขิน
4.เรื่องโกหก
คนส่วนใหญ่พูดเรื่องโกหกเพื่อให้ตัวเองดูดี หรือดูไม่แย่กว่าที่เป็น เช่นเดียวกับตอนสัมภาษณ์งาน การโกหกอาจทำให้คุณมีความสามารถเหนือผู้สมัครคนอื่นๆ แต่ถ้าการโกหกนั้นเป็นเรื่องซีเรียสจริงๆ เช่น เคยทำงานด้านนี้มาก่อนรึเปล่า? เคยใช้ซอฟต์แวร์อันนี้ไหม? คุณจะซวยภายหลังแน่นอน
ประโยคที่ควรพูด : ผมไม่คุ้นเคยกับโปรแกรม … ครับ แต่ผมมีประสบการณ์กับโปรแกรม … ซึ่งสามารถใช้จัดการข้อมูลได้ดีเช่นกันครับ
หากคุณไม่รู้เรื่องนั้นจริง ก็บอกไปตรงๆ แต่ให้หาตัวเลือกอื่นมาทดแทนด้วย ถ้าทำ Graphics คุณอาจไม่ชอบ Photoshop แต่เป็นเซียน Illustrator ก็ได้
5.กล่าวลอยๆ
ส่วนใหญ่เวลาเล่าข้อดีของตัวเอง ใครจะพูดอะไรก็ได้ และเชื่อเถอะว่าคนอื่นๆ ก็ใส่กันไม่ยั้ง ฉะนั้นแทนที่จะพูดว่า “ผลงานที่โดดเด่นของดิฉัน คือ สามารถเพิ่มยอด Pageviews และส่งผลให้มียอดคลิก Ads ในเว็บไซต์มากขึ้น”
ประโยคที่ควรพูด : ดิฉันพัฒนา User Experience ของเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย ยอด Pageview เพิ่มขึ้น 50% และ รายได้จากการคลิก Ads
6.เกลียดงานที่ทำอยู่
เห็นได้ชัดว่าถ้าที่เก่าตอบโจทย์คุณทุกอย่าง คุณคงไม่หางานใหม่ แต่คุณไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นในที่เก่าทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องไม่ดี เรื่องส่วนตัว
ประโยคที่ควรพูด : ผมรักในงานที่ทำอยู่ และมันช่วยสอนผมทักษะหลายด้าน แต่ตอนนี้ผมอยากรู้เรียนรู้เพิ่มขึ้น และผมคิดว่าผมสามารถสร้างสรรค์งานที่ดี ให้บริษัทนี้ได้ครับ
ประเด็นคือให้พูดถึงด้านดีของงานเดิม และพูดถึงโอกาสในงานใหม่
7.หัวหน้าเก่าแย่มาก
ถึงแม้ว่าหัวหน้าของคุณอาจจะแย่จริงๆ และเป็นเหตุผลหลักให้คุณอยากหางานใหม่ แต่คนที่สัมภาษณ์คุณ ไม่รู้เรื่องพวกนั้น และไม่มีทางที่คุณจะทำให้เขาเชื่อได้ในเวลาสั้นๆ
ประโยคที่ควรพูด : ไม่ควรพูด ควรวิจารณ์อะไรเกี่ยวกับหัวหน้าคนก่อนเลย เพราะคนที่สัมภาษณ์คุณอาจเป็นว่าที่หัวหน้าของคุณก็ได้
8.ไม่รู้
“ผมไม่รู้ครับ ดิฉันไม่ทราบค่ะ” เป็นคำตอบที่ห้วน และไม่มีใครชอบฟัง
ประโยคที่ควรพูด : ดิฉันยังไม่แน่ใจเรื่องตัวเลขค่ะ แต่ดิฉันสามารถหาได้จากวิธีการ ดังนี้ 1 2 3…
บางครั้งคนที่สัมภาษณ์คุณก็ถามคำถามยากๆ เพื่ออยากดูการรับมือของคุณในการแก้ปัญหา อยากเห็นกระบวนการความคิดของคุณ
9.จุดอ่อนที่ไม่ใช่จุดอ่อน
คำถามคลาสสิคที่ทุกคนต้องเจอ จุดอ่อน/ข้อเสียของคุณคืออะไร? ถ้าคุณตอบความจริง 100% คุณอาจหางานที่ไหนไม่ได้เลย จึงเป็นเหตุผลให้บางครั้ง คุณเลือกบอกข้อเสียที่มันมองได้สองด้าน เช่น ดิฉันเป็นคนพูดตรงๆ ค่ะ ผมชอบทำงานคนเดียว เป็นต้น
ประโยคที่ควรพูด : ข้อเสียที่แท้จริงของคุณ (บางส่วน) และวิธีการเอาชนะข้อเสียเหล่านั้น
การพูดข้อเสียที่แท้จริงของคุณ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกคนก็มีข้อเสีย แต่เมื่อรู้ข้อเสียแล้ว คุณจัดการกับมันได้ดีแค่ไหน?
10.คำหยาบ
แค่ “วะ เว้ย แม่ง” ก็ไม่สุภาพแล้ว ถึงแม้ว่าคุณจะสัมภาษณ์งานในอุตสาหกรรมที่สบายๆ ไม่ใช่พนักงานผูกไทด์ แต่ในการสัมภาษณ์งาน คุณควรพูดให้สุภาพที่สุด ถึงแม้คนที่สัมภาษณ์คุณจะเป็นกันเอง และพูดคำหยาบด้วยก็ตาม
11.เงินเดือนเท่าไหร่
หากมีคำถามว่า “มีคำถามอะไรรึเปล่า?” ห้ามถามว่า เงินเดือนเท่าไหร่คะ/ครับ คำถามนี้สามารถถามได้กับคนที่โทรมานัดสัมภาษณ์ หรือ ในตอนที่บริษัทตัดสินใจรับคุณเข้าทำงานแล้วเท่านั้น
12.ไม่มีคำถาม
และการไม่ถามคำถามอะไรเลย แสดงถึงความไม่ใส่ใจ ไม่สนใจอยากรู้อะไรเลย
ประโยคที่ควรพูด : สิ่งที่ท้าทายที่สุดของการทำงานในอุตสาหกรรมนี้คืออะไร?
การถามความคิดเห็น ประโยคปลายเปิดเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด เวลาต้องการคำถาม
13.เมื่อไหร่ถึงจะรู้ผล
การถามคำถามนี้ ไม่ต่างจากถามว่า “ตกลงจะซื้อไหม” ซึ่งเหมือนการบังคับ กดดันมากเกินไป และว่ากันตามตรง คุณเป็นคนไปของาน คุณต้องถ่อมตัวให้มากที่สุด
ประโยคที่ควรพูด ก่อนจากลา : ขอบคุณที่ให้เกียรติเรียกดิฉันมาสัมภาษณ์ค่ะ หรือ ขอบคุณที่สละเวลาค่ะ
ทั้ง 13 ข้อ อาจไม่ใช่สูตรตายตัวที่จะทำให้คุณสมหวัง แต่อย่างน้อยคุณน่าจะได้ไอเดียในการสัมภาษณ์งานอยู่บ้าง
ขอให้คุณโชคดี
ที่มา : Hubspot
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ