เอสซีจี แพคเกจจิ้ง น้องเล็ก แต่เป็นดาวรุ่งที่กำลังมุ่งสู่ตลาดหลักทรัพย์ (วิเคราะห์)

จากธุรกิจที่น่า “เป็นห่วง” ที่สุดของ “เอสซีจี”  กลายเป็น “ธุรกิจดาวรุ่ง พุ่งแรง” ที่สุดในวันนี้

Case study ที่น่าสนใจของการเปลี่ยนแปลงตัวเองและไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ขององค์กรใหญ่กว่า 100 ปี

ปัจจุบัน เอสซีจี มีธุรกิจหลักที่ทำรายได้รวมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท กำไร 4.4 หมื่นล้านบาท จาก 3 กลุ่มธุรกิจหลักคือ 1. ธุรกิจเคมิคอลส์ 2. ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ 3. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง

ธุรกิจที่ทำรายได้สูงที่สุดในรอบ 9 เดือนปี 2562 คือเคมิคอลส์ รายได้  136,283 ล้านบาท กำไร 13,295 ล้านบาท

รองลงมาคือซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง รายได้ 139,555 ล้านบาท มีกำไร  4,801 ล้านบาท

ส่วนแพคเกจจิ้งมีรายได้ 65,974 ล้านบาท กำไร  4,245 ล้านบาท

ทั้งรายได้และกำไรของแพคเกจจิ้งถึงจะมียังมีสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ (รายได้เพียง 21% กำไร 17% เมื่อเทียบกับทั้งกลุ่ม) แต่เป็นรายได้และกำไรที่แต่ละปีมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดกว่ากลุ่มอื่นๆ  

เหตุผลสำคัญในการส่ง เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเพราะ

1. จากการเติบโตของธุรกิจ E-commerce ในยุคดิจิทัลนี้ทำให้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างมากและต่อเนื่องในอนาคต 

2. ในปี 2561 ตลาดแพคเกจจิ้งในอาเซียนมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์

3. วันนี้ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง คือบริษัทผู้นำตลาดทางด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว

4. เป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งเพื่อให้เอสซีจี แพคเกจจิ้ง มีความได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องของการเงิน

จากเหตุผลดังกล่าวกลายเป็นที่มาของการประกาศว่า เอสซีจี เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP”) และนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนเสริมศักยภาพธุรกิจดาวรุ่ง รับโอกาสตลาดเติบโต

โดยที่เอสซีจีจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีอำนาจควบคุม SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของเอสซีจีเช่นเดิม

หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ SCGP สามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหาเงินทุนในรูปแบบอื่นๆ ผ่านช่องทางของตลาดทุนได้ด้วยตัวเอง และสามารถปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจในอนาคตให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารจัดการ การพัฒนา และการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตของ SCGP มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

จากธุรกิจ “ดาวโรย“ กลายเป็น “ดาวรุ่ง” ได้อย่างไร

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5-10 ปีก่อน กลุ่มธุรกิจของเอสซีจีที่โดนดิสรัปชั่นอย่างเห็นได้ชัดคือ เอสซีจี เปเปอร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษที่ครบวงจรรายใหญ่ของอาเซียน เมื่อความต้องการใช้กระดาษพิมพ์เขียนในโลกดิจิทัลลดลงอย่างรวดเร็ว

ผู้บริหารของเอสซีจีเองก็ออกมายอมรับในช่วงนั้นว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าเป็นห่วงที่สุด    

จนกระทั่งในปี 2558 มีกลยุทธ์การพลิกแบรนด์ครั้งสำคัญจาก “เอสซีจี เปเปอร์” กลายเป็น “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง“ เพราะถึงแม้การใช้กระดาษพิมพ์เขียนจะลดลงแต่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยวัตถุดิบที่เป็นเยื่อกระดาษยังมีความสำคัญ

ครั้งนั้นไม่แค่เพียงเปลี่ยนชื่อ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนบิสสิเนสโมเดลใหม่หมด กลายเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ครบวงจร ที่ไม่ใช่มีเพียงกระดาษเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังวัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระดาษด้วย อย่างเช่นบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว (Flexible Packaging) ที่ทำจากพลาสติก กระดาษ ฟอยล์

พร้อมๆ กับการขยายฐานการลงทุนในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ในปี 2562 นี้ยังได้มีการเข้าซื้อ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ในอินโดนีเซีย และบริษัท วีซี่ แพ็คเกจจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในไทย

ผลประกอบการและกำไรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องของแพคเกจจิ้ง และปัจจัยบวกที่มีความแข็งแกร่งของฐานลูกค้าในอาเซียน รวมทั้งความมุ่งมั่นในเรื่อง R&D เพื่อนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตแพคเกจจิ้งที่ตอบโจทย์ลูกค้า และนำหน้าคู่แข่ง

กลายป็นความหวังใหม่ของเอสซีจีที่จะสามารถมีรายได้ที่มั่นคงจากกลุ่มธุรกิจนี้ นอกจากธุรกิจเคมิคอลส์ที่มีกำไรลดลงต่อเนื่องตามวัฏจักรปิโตรเคมี หรือธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ที่ต้องพึ่งในเรื่องภาวะเศรษฐกิจเป็นหลักอีกด้วย  

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน