เรียก ‘ของขวัญปีใหม่’ สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินไทยเลยก็ว่าได้ เมื่อ ‘แบงก์ชาติ’ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาสั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมมากขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เพื่อลดภาระของประชาชนและ SME คำสั่งของ ธปท. ระบุให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย

1. ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (Prepayment Charge)

สำหรับ 1.1) สินเชื่อ SME และ 1.2) สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด

รู้หรือไม่ว่า!!! แต่เดิมผู้ประกอบการบางรายคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน แต่เกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ

ยกตัวอย่าง ลูกหนี้กู้เงินมาทั้งหมด 10 ล้านบาท กำหนดเวลาผ่อนจ่าย 10 ปี ผ่อนจ่ายไปแล้ว 3 ปี (ปีละ 1 ล้านบาท) รวมเป็น 3 ล้านบาท ปรากฏว่าลูกหนี้ต้องการปิดหนี้เมื่อครบกำหนด ณ  ปีที่ 3

หากเป็นกรณีเดิม บางรายอาจคิดค่าปรับการไถ่ถอนก่อนกำหนดจากเงินก้อน 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้  ดังนั้นเกณฑ์ใหม่จึงระบุให้คิดค่าปรับจากยอด 7 ล้านบาทที่เหลือ

นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังระบุให้สถาบันการเงินต้องมีการกำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอนให้ลูกหนี้ด้วย!

ข้อดีของมาตรการนี้คือ

ในมุมของลูกหนี้: ด้วยค่าปรับฯ ที่ไม่สูงเหมือนเก่า จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนไปใช้บริการสินเชื่อกับสถาบันการเงินเจ้าอื่นที่ให้ดอกเบี้ยและข้อเสนอที่ดีที่สุดได้ (หรือที่เรียกว่า Refinance) โดยที่ภาระค่าปรับฯ ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญอีกต่อไป

ในมุมของอุตสาหกรรม: กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการนำเสนอดอกเบี้ยและข้อเสนอที่ดีที่สุด และทำให้ตลาด Refinancing เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสุดท้ายแล้วประโยชน์จะตกไปยังผู้ใช้บริการสถาบันการเงิน

2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

สำหรับ 2.1) สินเชื่อที่อยู่อาศัย 2.2) สินเชื่อ SME และ 2.3) สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด

รู้หรือไม่ว่า!!! แต่เดิมผู้ประกอบการบางรายคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงเหลือ ขณะที่บางแห่งอาจคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดฯ จากค่างวดทั้งหมดซึ่งรวมดอกเบี้ยเงินกู้ไปด้วย แต่เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น

ยกตัวอย่าง กู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินกู้ 8% ต่อปี ผ่อนชำระ เป็นเวลา 20 ปี คิดเป็น 240 งวด ตกงวดละ 42,000 บาท โดยแบ่งเป็นเงินต้น+ดอกเบี้ย = 10,000 + 32,000 บาท ปรากฏว่าชำระไปแล่้ว 24 งวด แต่เผอิญงวดที่ 25 มีเหตุให้ต้องผิดนัด

หากเป็นแบบเดิม ลูกหนี้อาจถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระจากยอดเงินต้นที่เหลือคือ 4.76 ล้านบาท (เงินต้นที่ชำระไปแล้ว 240,000 บาท) ซึ่งผลที่ออกมาจะกลายเป็นดอกเบี้ยผิดนัดชำระก้อนโตกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจส่งผลให้เมื่อลูกหนี้นำเงินมาชำระค่างวด 42,000 บาทตามปกติ ค่างวดในส่วนของเงินต้นอาจถูกนำไปหักกับดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก่อนถึงจะมาหักเงินต้นค่าบ้าน ทำให้เงินต้นลดลงช้ากว่าที่ควรจะเป็น อันจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สุดท้ายแล้วลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง! ดังนั้น เกณฑ์ใหม่จึงระบุให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพียงแค่ยอดเงินต้นของงวดที่ 25 คือ 10,000 บาท แทนที่จะคิดจากเงินต้นที่เหลือ (4.76 ล้านบาท) หรือคิดจากค่างวดทั้งหมดที่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ (42,000 บาท)

สำหรับลูกหนี้คนใดที่เคยถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดฯ ตามวิธีเดิม แบงก์ชาติแนะนำให้ไปเจรจากับผู้ให้บริการให้พิจารณาปรับลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยตามสมควร (เพื่อชดเชยกับที่จ่ายเกินไปแล้ว) 

นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังสั่งการให้สถาบันการเงินต้องกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน

ข้อดีของมาตรการนี้คือ

ในมุมของลูกหนี้: ทำให้ลูกค้าได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น อันจะช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ (affordability risk)

ในมุมของอุตสาหกรรม: การกำหนดให้มีการแจกแจงรายละเอียดของหนี้ค้างชำระให้ชัดเจน ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการเงิน ขณะที่การลดลงของลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนย่อมทำให้สถาบันการเงินลดความเสี่ยงทางธุรกิจลงได้เช่นกัน

3. การคืนส่วนต่างค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต

รู้หรือไม่!! แต่เดิม เวลาที่เรายกเลิกการใช้บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต ธนาคารมักไม่คืนเงินส่วนต่างค่าธรรมเนียมให้กับเรา ยกเว้นจะมีการยื่นเรื่องร้องขอคืนเงิน ซึ่งก็สร้างความยุ่งยากวุ่นวายจนในที่สุดลูกค้าก็ตัดใจทิ้งก้อนนี้ไปเอง

แต่เกณฑ์ใหม่ของแบงก์ชาติกำหนดให้สถาบันการเงินต้องคืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ

และรู้หรือไม่ว่า!!! แต่เดิม เวลาที่เราขอให้สถาบันการเงินออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทนของเดิม ธนาคารมักเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในทุกกรณี

แต่เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม ยกเว้นกรณีที่การออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

 

นอกจากนี้ ในระยะต่อไป ธปท. ยังขอให้สถาบันการเงินยึดหลักในการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ โดยควรคำนึงถึง 4 เรื่อง ดังต่อไปนี้ให้มากขึ้น ได้แก่

1) ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ

2) ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร และต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ

3) ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน

และ 4) ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน

โดยในอนาคตอันใกล้ ธปท. จะเริ่มจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการในการตัดสินใจเลือก และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ใช้บริการมากขึ้น

แม้จะมีมาตรการออกมาคุ้มครอง แต่ท้ายที่สุด ผู้ใช้บริการเองก็ต้องรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง ด้วยการหมั่นตรวจสอบว่าตนถูกคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่อยู่ตลอดเวลา เพราะต้องบอกว่าทั้ง  3 กรณีที่ยกมา เราเองอาจยังไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าถูกเอาเปรียบอยู่!! 

ทั้งนี้ หากคิดว่าถูกคิดดอกเบี้ยหรือเก็บค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรม หรือมีปัญหาต้องการร้องเรียน สามารถติดต่อที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. (ศคง.) Call center 1213  

– 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online