หุ้นตก ไวรัสโควิด-19 ระบาด นักลงทุนควรปรับตัวอย่างไร (วิเคราะห์)

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง แต่ตลาดหุ้นจีนกลับมีการฟื้นตัวที่ดีจนทำให้ผลตอบแทนนับตั้งแต่เข้าปี 2020 แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีการปรับตัวกันอย่างรุนแรงโดยราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงและเร็วจนขึ้นไปที่ระดับ 1,690 เหรียญในระยะเวลาอันสั้น ราคาน้ำมันดิบ Brent มีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากความกังวลถึงผลกระทบของไวรัส COVID-19 ที่ระบาดในวงกว้างขึ้นนอกประเทศจีนซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ที่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์มีการปรับตัวลดลงที่รุนแรงมากจนทำให้ดัชนี Dow Jones ปรับตัวลดลงไปราว 2,500 จุดภายในระยะเวลาเพียง 5 วัน ส่วนตลาดหุ้นไทยนอกจากจะหลุด 1,500 จุดลงมายังไม่พอ ยังหลุด 1,400 จุดอย่างง่ายดาย การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาถือว่ารุนแรงมากโดยปรับตัวลดลงไปกว่า 15% โดยอัตราการปรับลดลงอยู่ในระดับเดียวกับประเทศในกลุ่ม TIP ที่มีอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์รวมอยู่ด้วย โดยดัชนีตลาดหุ้นของทั้ง 3 ประเทศปรับตัวลดลงในระดับ 13-16% ซึ่งถือว่าแรงกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ซึ่งมาจากการที่ประเทศเหล่านี้มีความพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนในระดับที่ค่อนข้างสูง

สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ในจีนสามารถควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่องจนมีผู้ติดเชื้อต่อวันลดลงเหลือเพียง 100-200 คนต่อวันเท่านั้นและอยู่ในเมืองอู่ฮั่นทั้งหมด ทางจีนควบคุมได้แล้ว แต่ในประเทศนอกจีนดูเหมือนว่าจะเพิ่งเริ่ม โดยเฉพาะประเทศอย่างเกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลเนื่องจากการระบาดในประเทศที่มีเสรีภาพสูงอย่างเกาหลีใต้และอิตาลีอาจจะทำให้การควบคุมทำได้ยากกว่าประเทศจีนซึ่งทางรัฐบาลกลางสามารถควบคุมและออกคำสั่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

จากสถานการณ์ล่าสุดในประเทศทั้ง 2 ยังดูไม่น่ากังวลมากนักโดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐทำงานกันอย่างเข้มข้น จากที่พบผู้ติดเชื้อในจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็วทำให้ความเสี่ยงในการเกิด Super-spreader ลดลงไปและสัดส่วนผู้ติดเชื้อกับผู้เสียชีวิตก็ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.6% เท่านั้น ส่วนทางด้านอิตาลีเอง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในเมืองลอมบาร์ดีทางตอนเหนือของประเทศ ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในทวีปยุโรปจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เชื่อว่าน่าจะควบคุมได้ดีในระดับหนึ่งจากความตื่นตัวของภาครัฐและเอกชน

หุ้นตก ตลาดการเงินโลกผันผวน

เมื่อตลาดการเงินโลกและไทยมีความผันผวนที่สูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนส่วนใหญ่คงจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย คำถามที่น่าสนใจคือ “แล้วเราจะทำยังไงต่อไปดี” จะขายตัดขาดทุนก็ไม่กล้าเพราะลงมาลึกมากเหลือเกิน จะซื้อเพิ่มก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่รู้ว่าตลาดลดลงมาในระดับต่ำที่สุดหรือยัง เลิกออมในหุ้นหรือกองทุนไปเลยดีไหม ฯลฯ เราไปหาคำตอบให้กับคำถามในใจของนักลงทุนกันครับ

  • กลับมาโฟกัสที่เป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุน การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นในระยะสั้น ส่งผลให้เกิดการขาดทุนในระยะสั้น แต่ถ้าเป้าหมายของเราคือการออมเพื่อการเกษียณและยังต้องออมอีกหลายปี นี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนเพิ่มของเรา เพราะยังไงเราก็ยังต้องลงทุนต้องออมไปอีกนาน อย่าให้เรื่องระยะสั้นมาสั่นคลอนเป้าหมายระยะยาว
  • ประเมินพอร์ตการลงทุนของเราอีกครั้ง หลังจากที่เจอกับตลาดลงหนักในครั้งนี้ การปรับตัวลดลงของพอร์ตมันอยู่ในระดับที่เรารับได้หรือไม่ มันเข้ากับเป้าหมายทางการเงินและระยะเวลาที่เหลืออยู่สำหรับการออมของเราไหม ซึ่งการปรับตัวลดลงแรงๆ แบบนี้ของตลาด บอกได้เลยว่าจะมีครั้งต่อๆ ไปอีกแน่ในอนาคตเพราะเป็นเรื่องปกติของตลาดการเงินโลก
  • การใส่เงินเพิ่มลงไปในพอร์ตอาจจะยังไม่จำเป็น ใช้วิธีปรับพอร์ต (rebalanced) หรือการบริหารพอร์ตของเราก่อน สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง โดยอาจจะมีตราสารหนี้ระยะสั้น 10% ยาว 40% หุ้นไทยและต่างประเทศรวมกัน 30% REITs 10% และทองคำ 10% เมื่อตลาดหุ้นลงหนัก สัดส่วนของหุ้นที่เดิมอยู่ที่ 30% อาจจะลดลงเหลือเพียง 20% ของพอร์ต นักลงทุนสามารถใช้วิธีการปรับพอร์ตก่อนโดยอาจจะลดน้ำหนักของตราสารหนี้ระยะสั้นหรือทองคำลง เพื่อมาลงทุนในหุ้นและปรับสัดส่วนให้เท่ากับตอนก่อนที่ตลาดหุ้นจะลงหนัก การบริหารพอร์ตการลงทุนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ทั้งในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง เมื่อตลาดคลายความกังวลและเริ่มมีการฟื้นตัว ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเราสามารถปรับพอร์ตกลับมาให้มีสัดส่วนแบบเดิมได้เช่นกันเพื่อไม่ให้ความเสี่ยงของพอร์ตสูงหรือต่ำกว่าความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราจนเกินไป

จากนี้ไป เราเชื่อว่าการควบคุมการระบาดของไวรัสของประเทศต่างๆ จะเป็นไปอย่างเข้มข้นและรัดกุมขึ้น จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นเร็วและแรง อีกมุมหนึ่งอยากให้มองในด้านดีด้วยครับ

การที่พบเจอผู้ติดเชื้อในจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะว่าประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่สูง ลดความเสี่ยงในการเกิด Super-spreader ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือประเทศเกาหลีใต้ ยิ่งเจอเร็วและมากการระบาดจะขยายวงน้อยลง วงจรที่ผู้ติดเชื้อจะหายและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติก็จะสั้นลงด้วยเช่นกัน

จากนี้ไปธนาคารกลางและรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำต่างๆ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในด้านการเงินและการคลังออกมาชุดใหญ่อย่างแน่นอนเพื่อลดผลกระทบของไวรัส COVID-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด อย่างล่าสุดที่ Fed มีการปรับลดดอกเบี้ยลงทีเดียว 0.50% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% และมีแนวโน้มที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีกในปีนี้

และจากนี้ไป ภาวะดอกเบี้ยต่ำคงจะอยู่กับนักลงทุนทั่วโลกไปอีกพักใหญ่ๆ อย่างแน่นอน เมื่อถึงจุดหนึ่งตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก และเมื่อเวลานั้นมาถึงเราจะต้องมีการประเมินสัดส่วนการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอีกครั้ง

อย่าให้เรื่องระยะสั้นมาสั่นคลอนแผนระยะยาวของเรา แต่ก็อย่าละเลยจนไม่ทำอะไรเลยกับตลาดที่ปรับตัวลดลงมาแรงเช่นกันครับ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

เพิ่มศักดิ์ จักร์มงคลชัย

รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online