Ping An บริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่ที่ ซีพี อยากเป็นมิตร (วิเคราะห์)
ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน! นี่คือสัจธรรม … แต่สิ่งที่แน่นอนในโลกธุรกิจคือ ยักษ์ใหญ่อาจล้มได้ถ้าปรับตัวไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง HSBC และ Ping An อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่าง และยังเป็นตัวอย่างของข้อเท็จจริงที่ว่า ในยุคนี้ธุรกิจใดที่ปรับตัวไม่เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป (Technology Disruption) ก็มีสิทธิ์ที่จะถูก “คลื่นลูกใหม่” แซงหน้าไปได้ง่ายๆ
ย้อนความรุ่งเรืองของ HSBC ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลก
HSBC ถือกำเนิดโดย Thomas Sutherland หนุ่มชาวสกอตที่ทำงานในบริษัทชิปปิ้งในฮ่องกง ด้วยความร่วมมือจากกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนในฮ่องกง ธนาคาร “ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น” แห่งแรกจึงเปิดตัวเมื่อปี ค.ศ.1865 และในปีเดียวกันก็เปิดสาขาที่ลอนดอนเพื่อทำธุรกรรมข้ามซีกโลก
ปี 1875-1902 HSBC ขยายสาขาไปใน 16 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยเมื่อปี 1888 ช่วงปลายปี 1941 HSBC ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่กรุงลอนดอน ในปี 1985 HSBC ฉลองครบรอบ 100 ปี ด้วยเครือข่ายสาขากว่า 170 สาขาทั่วโลก ในปี 2006 HSBC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน
ปัจจุบัน HSBC มีฐานลูกค้ากว่า 40 ล้านคนทั่วโลก และมีสาขาใน 64 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ มีพนักงานทั่วโลกกว่า 2.35 แสนคน ถือเป็นธนาคารสัญชาติอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุด
ผลประกอบการปีล่าสุด รายได้ (Reported Revenue) อยู่ที่ประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท (56,098 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 4.3% จากปีก่อน กำไรสุทธิประมาณ 1.96 แสนล้านบาท (5,969 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลดลง 53%
ขณะที่สินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 89.5 ล้านล้านบาท (2.72 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 6.1% ด้านมูลค่าตลาด (Market Cap) ตามข้อมูลของ Bloomberg หุ้น HSBC Holdings ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ณ วันที่ 05/04/2020 (เวลาไทย) มี Market Cap อยู่ที่ประมาณ 3.33 ล้านล้านบาท (80.98 พันล้านปอนด์)
ด้วยผลกำไรสุทธิที่ลดลงอย่างมากเมื่อต้นปีจึงมีข่าวว่า HSBC มีแผนจะลดพนักงานลง 35,000 คนทั่วโลก ภายในปี 2022 เพื่อเป็นไปตามแผนของ HSBC ที่ต้องการลดต้นทุนให้ได้ประมาณ 1.48 แสนล้านบาท (4.5 พันล้านเหรียญ) ในช่วง 3 ปี
ส่องความรุ่งโรจน์ของPing An ยักษ์ใหญ่ประกันชีวิต
Ping An แปลตามตัวอักษรแปลว่า Safe and Well ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1988 โดย Peter Ma หรือ Ma Mingzhe ผู้คลุกคลีอยู่ในธุรกิจประกันมาทั้งชีวิต สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน
จากจุดเริ่มต้นด้วยธุรกิจประกันทรัพย์สินและประกันวินาศภัย Ping Anขยายธุรกิจออกมาสู่ประกันชีวิต จากนั้นก็เริ่มต่อยอดไปสู่ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์และบริหารสินทรัพย์ รวมถึงการลงทุนในบริษัทนอกตลาด (Private Equity Investing) โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านเทคโนโลยี
และขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่การยกระดับระบบนิเวศ (Ecosystems) ที่เกี่ยวกับการบริการด้านการเงิน, การดูแลสุขภาพ, การบริการด้านยานยนต์, การบริการด้านอสังหาฯ และการบริการ “เมืองอัจริยะ (Smart City)”
ในปี 2004 Ping Anเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (H Share) ในฐานะหุ้น IPO ที่มีมูลค่าสูงสุดในขณะนั้น ในปี 2006 บริษัทเข้าซื้อกิจการ Shenzhen Commercial Bank แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นPing An Bank และปีต่อมา Ping An ก็เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ (A Share) ในฐานะบริษัทประกันที่มีมูลค่า IPO สูงสุดในโลกในช่วงเวลานั้น
Ping An แตกต่างจากบริษัทประกันทั่วไป เพราะเน้นใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ (Technology-powered Business Transformation) จนหลายคนมองว่า Ping Anคือ Tech Insurer บ้างก็มองเป็นบริษัท Fin-Tech ยักษ์ใหญ่
โดยบริษัทเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีอย่างจริงจังตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน โดยได้ทุ่มเงินถึงกว่า 2.5 แสนล้านบาท (หรือกว่า 5 หมื่นล้านหยวน) ใน 4 เทคโนโลยีแห่งอนาคต ได้แก่ AI, Block Chain, Could Computing และ Big Data
ตัวอย่าง Tech Startup ภายใต้ร่มเงาของ Ping An Group อาทิPing An Good Doctor ก่อตั้งในปี 2014 ด้วยคอนเซ็ปต์ Mobile Medical + AI Technology ให้บริการตัวกลางด้านบริการสุขภาพ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2019 มีลงทะเบียนมากกว่า 289 ล้านคน และผู้ใช้ประจำเดือนละกว่า 60 ล้านคน นับเป็นบริษัทด้าน Online Healthcare ยักษ์ใหญ่ของโลกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงภายใต้ชื่อบริษัทPing An Healthcare and Technology Company Limited
นอกจากนี้ ยังมี Lufax บริษัทสตาร์ทอัพที่เริ่มธุรกิจจากการเป็นผู้ให้บริการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending :P2P) แต่หลังจากที่มีการออกเงื่อนไขและปรับเกณฑ์ให้เข้มงวดมากขึ้น
บริษัทจึงผันตัวมาเน้นธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับ Online Wealth Management และ OneConnect ธุรกิจบริการโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีสำหรับบริษัทประกันและสถาบันการเงินขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปลายปีที่ผ่านมา ในนาม OneConect Financial Technology (OCFT) เป็นต้น
จากรายงานประจำปี 2019Ping An Group มีลูกค้าออฟไลน์กว่า 200 ล้านราย และลูกค้าออนไลน์กว่า 515 ล้านคน มีรายได้รวมประมาณ 5.972 ล้านล้านบาท (1,273,091 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้น 17.6% จากปีก่อน กำไรสุทธิประมาณ 7 แสนล้านบาท (149,407 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้น 39.1%
สินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2019 ประมาณ 38.57 ล้านล้านบาท (8,222,929 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้น 15.12% ส่วน Market Cap ของPing An ในตลาดหุ้นฮ่องกง ณ วันที่ 05/04/2020 (เวลาไทย) ประมาณ 5.86 ล้านล้านบาท (1.37 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง)
ย้อนไทม์ไลน์ความสัมพันธ์ระหว่าง HSBC-Ping An
Insurance Jouranl รายงานว่า เมื่อเดือน ต.ค. 2002 HSBC ใช้เงิน 4.7 พันล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อถือหุ้น 10% ในPing An Group ต่อมา ในปี 2005 Financial Times ระบุว่า HSBC ใช้เงินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อหุ้นPing An 9.91% จาก Goldman Sachs and Morgan Stanley ซึ่งทำให้ HSBC กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในPing An ทันที
ท่ามกลางวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 HSBC เริ่มประสบปัญหาทำให้มูลค่าทรัพย์สินของ HSBC ลดลงกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ฟากฝั่งของบริษัทประกันจากจีนก็มีการเพิ่มทุนเข้ามาเรื่อยๆ กดดันให้สัดส่วนหุ้นของ HSBC ลดลง ณ สิ้นปี 2009 สัดส่วนหุ้นใน Ping An ของ HSBC เหลือ 16.78% แต่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จนกระทั่งปี 2012-2013 HSBC จึงตัดสินใจขายหุ้น Ping An
โดยผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นPing An ทั้งหมดที่ HSBC เหลืออยู่ (ประมาณ 15.57%) ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือ C.P. Group ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งในขณะนั้นดีลนี้ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะ 1) เวลานั้น Ping An ถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน … ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในจีน!!
และ 2) มูลค่าดีลนี้สูงถึง 7.27 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง หรือ 9.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณหุ้นละ 59 เหรียญฮ่องกง) ซึ่งกลายเป็นดีลใหญ่อันดับสองของเอเชีย ณ ขณะนั้น เป็นรองแค่กรณีบริษัทน้ำมันของจีน (CNOOC) เข้าซื้อกิจการในแคนาดา
ช่วงปลายปี 2017 Ping Anประกาศเข้าถือหุ้นใน HSBC Holdings ที่ 5.01% ด้วยมูลค่ากว่า 7.75 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง หรือ 9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองใน HSBC รองจาก Blackrock ที่ถืออยู่ 6.99% ขณะที่ JPMorgan ถืออยู่ 4.8% โดยผู้บริหาร Ping An ให้เหตุผลในการซื้อหุ้น HSBC ว่าเป็นเพราะปันผลที่ค่อนข้างดี เฉลี่ย 6.2% ของราคาหุ้น
ในปี 2018 Ping Anซื้อหุ้นใน HSBC Holdings เพิ่มขึ้นจนช่วงปลายปี สัดส่วนการถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 7.01% ก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ HSBC มากกว่า Blackrock ที่สัดส่วนหุ้นเหลือเพียง 6.6% ขณะที่ ณ สิ้นปี 2018 C.P. Group กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Ping An ด้วยสัดส่วน 9.19% (อ้างอิงรายงานประจำปีของ Ping An ปี 2018)
ผลตอบแทนที่กลุ่ม CP ได้รับจากหุ้น Ping An Group
ว่ากันว่า มาถึงวันนี้ Ping Anเป็นบริษัทประกันที่มีมูลค่าตลาด (Market Cap) สูงเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียง Berkshire Hathaway ของ Warren Buffet
Market Cap ของPing An ณ สิ้นวัน 05/04/20 ประมาณ 1.37 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 5.68 ล้านล้านบาท เรียกว่าใหญ่เกือบเป็นครึ่งหนึ่งของ Market Cap ของตลาดหุ้นไทย ซึ่งอยู่ที่กว่า 12.25 ล้านล้านบาท ณ สิ้นวันที่ 05/04/20 ขณะที่ CP All มี Market Cap ประมาณ 5.46 แสนล้านบาท ส่วน CPF มี Market Cap 2.17 แสนล้านบาท
เมื่อปี 2012 กลุ่ม CP เข้าซื้อหุ้น Ping An ด้วยเม็ดเงินร่วม 7.27 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง เฉลี่ยราคา 59 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น มาถึงวันนี้ ราคาหุ้นPing An พุ่งขึ้นไปถึง 75 เหรียญฮ่องกง
กล่าวคือ กำไรจากราคาหุ้นแล้วกว่า 27% จากมูลค่าหุ้นที่ซื้อมา หรือกว่า 1.96 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง หรือเกือบ 8.4 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลาประมาณ 7 ปีกว่า
ขณะที่เฉพาะเงินปันผล หากดูจากเว็บไซต์ของPing An Group หากนับตั้งแต่ปี 2014 ที่เริ่มถือครบปี จนถึงสิ้นปี 2019 พบว่า CP Group น่าจะได้เงินปันผลสะสมมาแล้วร่วม 5.25 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น ซึ่ง ณ สิ้นปี 2017 ระบุว่ากลุ่ม CP มีหุ้นกว่า 1,440 ล้านหุ้น (ถือหุ้นในนาม Business Fortune Holdings Limited และ New Orient Ventures Limited)
ดังนั้น CP Group น่าจะได้เงินปันผลจากPing An ทั้งหมดนับตั้งแต่ถือหุ้นมา ประมาณ 7.56 พันล้านเหรียญฮ่องกง หรือกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 6 ปี
สำหรับเจ้าสัวธนินท์แล้ว แค่ผลตอบแทนรวม (Captial Gain + Dividend) ที่กลุ่ม CP ได้จากการถือหุ้น Ping An มานานกว่า 7 ปี รวมแล้วกว่า 1.16 แสนล้านบาท คงไม่ใช่เป้าหมายเดียว …
แต่อานิสงส์ผลดีที่จะเกิดกับธุรกิจในเครือ CP ทั้งที่อยู่ในประเทศจีน ในฮ่องกง และในประเทศไทย น่าจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการซื้อหุ้น Ping An Group เมื่อหลายปีก่อน แน่นอน!!
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 05/04/2020
1 USD = 32.905 บาท, 1 หยวน = 4.6911 บาท, 1 HKD = 4.2799, 1 GBP = 41.1452 บาท
ที่มา: Market Insider, HSBC, Ping An Group, Financial Times, Insurance Journal, Ciaxin Global1, Ciaxin Global2, CNBC
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



