HOOQ และ iflix เกิดอะไรขึ้นกับ 2 แบรนด์วิดีโอสตรีมมิ่งที่ออกตัวก่อนใคร แต่ทำไมจึงไม่เวิร์ค (วิเคราะห์)
ท่ามกลางศึกแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่แข็งกันดุเดือด แต่ละเจ้าต้องหาจุดเด่น จุดแข็งมาดึงดูดผู้คนให้มาใช้บริการ
เพราะถ้ามีจุดแข็งไม่มากพอก็อาจจะต้องพ่ายแพ้ไป
อย่าง HOOQสตรีมมิ่งที่เป็นบริษัทร่วมทุน 3 ยักษ์ใหญ่ คือ Singtel, Sony Pictures และ Warner Bros Entertainment โดยมี Singtel ถือหุ้นใหญ่ 76.5% ประกาศเลิกกิจการ พร้อมขายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้
โดยระบุในเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า HOOQไม่สามารถเติบโต และทำกำไรได้
ซึ่งส่งผลกระทบกับHOOQ ในไทย ที่จะปิดให้บริการในวันที่ 13 เม.ย. นี้ด้วย
และหากลองนึกย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เราคงคุ้นหูกับ Primetime, iflix, HOOQและ Hollywood HD ที่เป็นผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่จากในภูมิภาค รวมถึงการมาอย่างเป็นทางการในไทยของ NETFLIX ยักษ์สตรีมมิ่งชื่อดังจากอเมริกา ในปี 2017
มาในปี 2020 นี้ชื่อผู้ให้บริการในภูมิภาคจะเหลือเพียงแค่ iflix ของมาเลเซีย MOMOMAX จากเครือโมโนกรุ๊ป และเจ้าอื่นที่จะต่อสู้กับเจ้าตลาดอย่าง NETFLIX และผู้ให้บริการเจ้าอื่นที่ติดตลาดมากกว่าอย่าง VIU จากฮ่องกง และ WeTV จากจีน
แล้วทำไมในไทย HOOQ-iflix มาก่อนใครเพื่อนถึงดูไม่เวิร์ก เท่ากับเจ้าอื่นๆ
Marketeer มองว่า
การมาก่อนของทั้งHOOQ และ iflix ไม่ได้เปรียบคู่แข่ง แถมยังมีจุดด้อยกว่าเจ้าอื่นในเรื่องของ Original Content ที่ยังไม่มีในแพลตฟอร์ม มีเพียงคอนเทนต์ทั่วไปที่เป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ ที่ซื้อเข้ามา
การซื้อคอนเทนต์นอกจากจะมีต้นทุนที่แพงแล้ว ยังดึงดูดผู้บริโภคได้ยาก เพราะบางเรื่องก็สามารถหาดูที่ช่องทางอื่นได้เช่นกัน แถมยังต้องแข่งขันกับเว็บไซต์ที่ให้ดูฟรีอีกต่างหาก
ซึ่งการมีอริจินัล คอนเทนต์ อย่างที่เน็ตฟลิกซ์ทำอยู่ด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์ในประเทศที่บุกตลาดไป ทำให้ดึงดูดผู้บริโภคได้ตรงจุด ตรงความสนใจของผู้คนประเทศนั้นๆ ได้มากกว่า
(วิเคราะห์ กลยุทธ์ Netflix บุกตลาดไทย เจาะกลุ่มดูหนังผ่านมือถือเท่านั้น)
แล้วความแข็งแกร่งที่ HOOQ และ iflix ไม่มีคือความมีเอกลักษณ์ เพราะหากเทียบดูกับเจ้าอื่นๆ เน็ตฟลิกซ์จะมีความแข็งแกร่งในเรื่องของออริจินัล คอนเทนต์ ผู้ให้บริการเจ้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาตีตลาดในไทยเมื่อปี 2560 อย่าง VIU ก็มีจุดแข็งในเรื่องของซีรีส์เกาหลี
ส่วนอีกหนึ่งน้องใหม่อย่าง WeTV ของเท็นเซ็นต์ที่เข้ามาในไทยเป็นประเทศแรกเมื่อปีที่ผ่านมาก็มีจุดแข็งของละคร ซีรีส์จากประเทศจีน
และแม้แต่ละเจ้าจะมีการใช้กลยุทธ์ดึงดูดด้วยการให้รับชมฟรีในช่วงแรก แต่เมื่อหมดโปรแล้ว สิ่งที่ยากสำหรับผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งคือ จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคยอมควักเงินในกระเป๋าจ่ายเงินเป็นสมาชิกต่อ
และจ่ายแบบต่อเนื่องเพื่อเทิร์นเป็นรายได้และกำไรให้กับบริษัท
เพราะจะจ่ายเงินทั้งทีผู้บริโภคมี 2 เหตุผลที่ใช้ตัดสินใจคือ “ความคุ้มค่าและคุ้มราคา” ที่ถ้าในแพลตฟอร์มมีคอนเทนต์ที่ยังน่าสนใจ การควักเงินหลักร้อยบาทก็ไม่น่าจะใช่เรื่องยากสำหรับการเพิ่มประสบการณ์ความบันเทิงให้กับตัวเอง
แต่ถ้าวันไหนความน่าสนใจลดน้อยลง ก็คงต้องโบกมือลากันไปนั่นเอง
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วิดีโอสตรีมมิ่งเจ้าไหนมีรายได้จากการซื้อผ่านแอป (IAP) มากสุด
อันดับ1 NETFLIX
ส่วนอันดับ 2 VIU
อันดับ 3 WeTV
และอันดับ 4 V-live broadcasting
อันดับ 5 MONOMAXXX
และอันดับ 6 True ID
อันดับ 7 HBO GO Singapore
อันดับ 8 iflix
สำหรับ อันดับ 9 HOOQ
และอันดับ 10 iQIYI
หมายเหตุ: เดือน ธ.ค. 2562
ที่มา: ข้อมูลเชิงลึกโดย App Annie
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



