บัณฑูร ล่ำซำ ลาออก มาทำความรู้จักกับสองแม่ทัพหญิง ผู้กำหนดชะตาธนาคารกสิกรไทยนับจากนี้
เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวใหญ่ในวงการธนาคาร นั่นคือข่าวการลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทยของคุณบัณฑูร ล่ำซำ พร้อมกับข่าวการแต่งตั้งคุณขัตติยา อินทรวิชัย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย และคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เป็นประธานกรรมการ แทนคุณบัณฑูร … วันนี้ Marketeer ขอพาไปรู้จักกับผู้บริหารหญิงแกร่งทั้งสองท่านให้มากขึ้น
ทำความรู้จัก “สองแม่ทัพหญิง” หลัง บัณฑูร ล่ำซำ ลาออก
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
นับเป็นประธานกรรมการที่เป็นกรรมการอิสระคนแรกของธนาคารกสิกรไทย โดยก่อนหน้านี้ คุณกอบกาญจน์เคยเข้าร่วมกับธนาคารฯ ในฐานะกรรมการอิสระตั้งแต่ปี 2554-2557 ก่อนจะลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จากนั้นก็กลับเข้ามารับตำแหน่งรองประธานกรรมการอิสระในปี 2561 กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563
ประสบการณ์ทำงานอันโดดเด่น
หลังจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมที่ Rhode Island School of Design รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา เธอก็เข้าไปทำงานที่บริษัท โตชิบา ประเทศไทย จำกัด โดยเริ่มจากตำแหน่งผู้จัดการแผนกโฆษณา ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ประเทศไทย จำกัด ด้วยความรู้ความสามารถ บวกกับความคิดนอกกรอบ และการให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ “โตชิบา” เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม และการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ทำให้เธอได้รับการยกย่องเป็น “ผู้บริหารหญิง” ที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น
ทำให้เธอยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 13 นักธุรกิจสตรีชั้นนำระดับโลกในปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2550 ได้รับรางวัลนักธุรกิจสตรีดีเด่น จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2550 และได้รับรางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2550 จัดโดย สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในปี 2557 คุณกอบกาญจน์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ของรัฐบาลประยุทธ์ (ยุค คสช.) หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเธอ คือการสร้างฐานรากการท่องเที่ยวชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นการกระจายรายได้ และปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยจากการท่องเที่ยวราคาถูกมาสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพทั้ง Health & Wellness Tourism และ Sport Tourism
หลังจากสิ้นสุดการทำงานในฐานะรัฐมนตรีอยู่ 3 ปี เธอกลับมานั่งเป็นผู้บริหารระดับสูงให้กับบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะประธานกรรมการบริหาร ด้วยแผนขับเคลื่อนแบรนด์โตชิบาขึ้นเป็น Top 3 ในตลาด และรักษาภาพจำแห่งการ ‘นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต’ ให้กับคนไทยต่อไป และการก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย นั่นเอง นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในองค์กรภาคธุรกิจและภาคสังคมอีกหลายแห่ง
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
เธอถือเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของธนาคาร และเป็นคนแรกที่ไม่ใช่ตระกูลล่ำซำ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563
ตลอดกว่า 30 ปี ขัตติยาผ่านงานในธนาคารกสิกรไทยมาแล้วเกือบทุกสาขา และผ่านมาแล้วหลากหลายวิกฤตที่กระทบกับการเงินการธนาคาร เธอถือเป็น “ลูกหม้อ” ของธนาคารกสิกรไทย เพราะหลังจบปริญญาตรี ด้านการตลาด จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการเงินและการลงทุน มหาวิทยาลัยเทกซัส (University of Texas at Austin) สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนธนาคารกสิกรไทย
หลังจากนั้นจึงกลับมาเริ่มงานกับกสิกรไทยมาตั้งแต่ปี 2530 ในฝ่ายสินเชื่อการเกษตรและการผลิต ก่อนจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการวาณิชธนกิจ ในปี 2535 จากนั้นใน ปี 2538 เธอก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาดและเครดิต และในปี 2544 ได้รับการโปรโมตขึ้นเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ก่อนจะขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ในปี 2545 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ แล้วก้าวขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ในปี 2553
ในปี 2557 เธอได้รับแต่งตั้งเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส จนกระทั่งในปี 2559 ได้รับการโปรโมตขึ้นเป็น 1 ใน 4 กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และวันนี้เธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ทั้งนี้ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้กล่าวถึงเธอในรายงานประจำปี 2562 เอาไว้ว่า คุณขัตติยาเป็นผู้มีคุณสมบัติ ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการบริหารกิจการธนาคารในด้านสำคัญๆ มายาวนาน และเชื่อมั่นว่าเธอจะสามารถนำพาธนาคารสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
Her Talk Her Visions and KBANK’s Direction
ในโอกาสการขึ้นรับตำแหน่งใหม่ของสองผู้บริหารหญิงแกร่งแห่งธนาคารกสิกรไทย เธอจึงถือโอกาสจัดงานแถลงวิสัยทัศน์และทิศทางธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 โดยมาในรูปแบบของการพูดคุยสบายๆ และด้วยน้ำเสียงที่อ่อนหวานรื่นหูของทั้งคู่ จึงทำให้การรับฟังถึงแนวทางการรับมือกับปัญหาวิกฤต มีความผ่อนคลายและเต็มไปด้วยความหวัง
เริ่มจาก คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ให้มุมมองว่าสภาพเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย บวกกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า GDP ไทยในปีนี้จะติดลบถึง 5% ถ้าหากสามารถคุมการแพร่ระบาด ได้ภายในไตรมาส 2 อย่างไรก็ดี ยังพอตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้
สำหรับทิศทางของธนาคารกสิกรไทยที่ดำเนินต่อจากนี้ คือ เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าธนาคารในหลายๆ ทาง พร้อมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และในอนาคตข้างหน้า นอกจากการฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้แล้ว ธนาคารกสิกรไทยจะยังคงบทบาทการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำ ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมเสมอที่จะรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
สุดท้ายนี้คุณกอบกาญจน์ทิ้งท้าย ด้วยหลักการทำงานที่ยึดถือมาตลอดเกือบ 40 ปีในการบริหารองค์กรและธุรกิจต่างๆ คือ การให้ความสำคัญกับคน และการสร้างคนให้มีแรงบันดาลใจ เพื่อให้เขากล้าคิดนอกกรอบ และทำให้คนเก่งร่วมมือในทิศทางและเป้าหมายเดียวกับองค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ฝัน
ทางด้าน คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ยอมรับว่าการรับตำแหน่งใหม่ในช่วงเวลาเช่นนี้ ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก อย่างไรก็ดี เธอเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานของธนาคารสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เสมือนที่ธนาคารกสิกรไทยผ่านมาได้อย่างแข็งแกร่งในทุกวิกฤต เนื่องจากคณะผู้บริหารของธนาคารมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์และทิศทางธุรกิจสอดคล้องกันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
สำหรับการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยต่อจากนี้ การจัดการที่จะเร่งทำให้มากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ได้แก่
- การส่งมอบบริการทางการเงินไปถึงลูกค้ารายรายเล็กให้ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักระมัดระวังและการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งเป็นโจทย์ที่ควรเร่งทำเป็นอันดับต้นเพราะจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโจทย์ของธนาคารทั้งในฐานะคนทำธุรกิจและพลเมืองของประเทศ
- การจัดการด้านต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity management) ให้ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการถึงลูกค้าได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่แค่การทำตามระเบียบของทางการ เพื่อให้แรงงานการผลิตมีค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญให้ธุรกิจอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจนี้
- การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล ที่ต้องมีการยกระดับทักษะความสามารถพนักงาน ให้พร้อมรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมกับยืนยันว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายลดพนักงาน
“เหตุการณ์ต่างๆ ในภายภาคหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เหนือการคาดการณ์ได้มากมาย เราอาจยังไม่รู้ชัดว่าธุรกิจธนาคารจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปลักษณ์ไหน แต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดคือ เราต้องมีแนวคิดที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Change Mind Set) มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) ที่สำคัญที่สุดคือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้ (Sustainability)ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยไม่เพียงมุ่งหวังที่จะเป็นธนาคารหลักของระบบเศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่เรายังตั้งเป้าจะเป็นธนาคารหลักของภูมิภาค ซึ่งนี่คือยุทธศาสตร์หลักของธนาคาร”
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



