ตลาดเครื่องเขียน มูลค่าเท่าไร ? วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุด เริ่มสะดุด หรือยังเขียนลื่นอยู่
หลังจากที่ บมจ. ดี.ที.ซี.อินดัสตรี่ส์ ผู้ผลิตปากกาแลนเซอร์ ส่งจดหมายถึง ก.ล.ต. ถึง 2 ฉบับ โดยในวันที่ 23 เมษายน 2563 ถึงการปิดกิจการชั่วคราวจากผลกระทบในการดำเนินธุรกิจเพราะโควิด-19 และในวันที่ 28 เมษายน 2563 ส่งแก้ไขการปิดกิจการชั่วคราวเป็นปิดกิจการชั่วคราวบางส่วน และเปิดให้ลูกค้าที่สนใจสั่งซื้อสินค้าเข้ามาได้ และขอเปิดกิจการอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
การปิดกิจการชั่วคราวของผู้ผลิตปากกาแลนเซอร์ทำให้เราสงสัยว่าธุรกิจเครื่องเขียนกำลังจะตายอย่างช้าๆ จากการเข้ามาแทนที่ของโลกดิจิทัลหรือไม่
แม้ตลาดที่ชะลอตัวด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ลดกำลังซื้อและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่การใช้ดิจิทัลเพื่อจดบันทึก และเขียนงานต่างๆ ผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ แท็บเลต สมาร์ทโฟน แทนเครื่องเขียนที่มีอยู่เดิม ที่ให้ทั้งความสะดวกรวดเร็วมากกว่า แต่ตลาดเครื่องเขียนยังมีการเติบโตจาก 13,900 ในปี 2559 เป็น 20,000 บาท ในปี 2561
สำหรับการแข่งขันใน ตลาดเครื่องเขียน อย่างปากกายังมีความท้าทายในหลายๆ ด้าน เช่น การแข่งขันอย่างรุนแรงของเล่นหน้าใหม่ๆ ในตลาด โดยเฉพาะคู่แข่งแบรนด์จีนที่เข้ามาเปิดขายปากกาแฟชั่นที่เน้นความสวยงามตามรถเข็นในห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า และอื่นๆ
ที่ผ่านมาเมื่อดูรายได้ของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตเครื่องเขียนรายใหญ่ เช่น
DHAS ผู้ผลิตปากกา Quantum, แฟ้มและอุปกรณ์สำนักงานตราช้าง และอื่น
นานมี อุตสาหกรรม โรงงานผลิตอุปกรณ์เครื่องเขียนแบรนด์ตราม้า และอื่นๆ
ดี.ที.ซี. อินดัสตรี่ส์ ผู้ผลิตปากกา LANCER, CANDY และอื่นๆ พบว่าในแต่ละปีผู้ผลิตเครื่องเขียนแต่ละรายมีรายได้และกำไรที่เพิ่ม-ลด ตามแนวทางการตลาดในแต่ละปี
DHAS
DHAS ธุรกิจของครอบครัวสยามวาลา ที่มีต้นกำเนิดจากตัวแทนนำเข้าสินค้าจากยุโรปมาขายในประเทศไทย สู่ธุรกิจเครื่องเขียนแบรนด์ไทยที่ทำตลาดในประเทศและส่งออก อย่างเช่น ปากกา Quantum, อุปกรณ์สี MASTERART, Renaissance หรือแม้แต่แฟ้ม อุปกรณ์สำนักงานตราช้าง และอื่นๆ ทำตลาดในประเทศไทยและส่งออกไปยังต่างประเทศ
ในปัจจุบัน DHAS บริหารโดยทายาทรุ่นที่ 4 ของสยามวาลา พร้อมสร้างการตลาดที่มีสีสันผ่านโฆษณาและอื่นๆ
ในปี DHAS มีรายได้ 3,232.42 ล้านบาท กำไร 339.79 ล้านบาท
รายได้ DHAS
2559 3,326.35 ล้านบาท กำไร 337.67 ล้านบาท
2560 3,171.66 ล้านบาท กำไร 361.14 ล้านบาท
2561 3,232.42 ล้านบาท กำไร 339.79 ล้านบาท
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์
นานมีอุตสาหกรรม
นานมี อุตสาหกรรม โรงงานผลิตเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานตราม้า ซึ่งเป็นธุรกิจภายใต้บริษัทนานมี กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิต จัดจำหน่าย เครื่องเขียน หนังสือ และอื่นๆ ของตระกูลสุพุทธิพงศ์ ที่เริ่มทำธุรกิจเครื่องเขียนมาตั้งแต่ปี 2492
ในปี 2562 นานมี อุตสาหกรรมมีรายได้ 1,211.93 ล้านบาท กำไร 142.68 ล้านบาท จากการตลาดในประเทศไทยและส่งออก
รายได้นานมีอุตสาหกรรม
2560 1,156.49 ล้านบาท กำไร 82.35 ล้านบาท
2561 1,221.42 ล้านบาท กำไร 96.70 ล้านบาท
2562 1,211.93 ล้านบาท กำไร 142.68 ล้านบาท
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์
บมจ. ดี.ที.ซี. อินดัสตรี่ส์
บมจ. ดี.ที.ซี. อินดัสตรี่ส์ เริ่มธุรกิจจากการนำปากกาลูกลื่นจากยุโรปมาจัดจำหน่าย ก่อนที่จะพัฒนาเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น LANCER, CANDY, CHEETAH, CLASSMATE และ GOLDMEDAL เพื่อทำตลาดในประเทศไทยและส่งออกเช่นกัน
โดยในปี 2562 บมจ. ดี.ที.ซี. อินดัสตรี่ส์ มีรายได้ 197.82 กำไร 4.10 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีช่องทางจำหน่ายหลักคือห้างสรรพสินค้า 86-90%
รายได้ บมจ. ดี.ที.ซี. อินดัสตรี่ส์
2560 240,13 กำไร 25.54 ล้านบาท
2561 223.14 กำไร 18.34 ล้านบาท
2562 197.82 กำไร 4.10 ล้านบาท
ที่มา: ก.ล.ต.
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



