เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ซีอีโอ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิเคราะห์สถานการณ์การจัดงานอีเวนต์หลังคลายล็อคโควิด “จัดหรือไม่จัดดีกว่ากัน”

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ  เจ้าพ่องานอีเวนต์รายใหญ่ของเมืองไทยจะว่ายังไง เมื่อวันนี้มาตรการผ่อนคลายให้งานอีเวนต์จัดได้ แต่ระยะนั่ง-ยืน ห่าง 1 เมตร งานดนตรี คอนเสิร์ต ลดความหนาแน่น เกณฑ์ 5 ตร.ม./คน 

ไปฟังเขาให้ความเห็นกับ Marketeer กัน เมื่อเป็นแบบนี้จัดหรือไม่จัดดี   

“ในเรื่องของคอนเสิร์ต 5 ตร.ม./คน เป็นไปไม่ได้ในแง่ของธุรกิจ เพราะในการจัดแต่ละครั้งต้องลงทุนในเรื่องการทำเวที แสง สี เสียง เต็มที่ เพื่อให้คนดูได้สนุกที่สุด แต่ถ้าให้นั่งดูห่างกันขนาดนั้นจะมีคนเข้ามาดูได้สักกี่คนต่อรอบ”

สมมุติว่าหากจัดคอนเสิร์ตที่อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งจุคนดูประมาณ 15,000  คน เจอมาตรการนี้เข้าไป เหลือแค่ 4,000-5,000 พันคน นี่รวมทั้งสตาฟฟ์จัดงานด้วยนะครับ ไม่ใช่เฉพาะคนดู  แล้วใครจะไปจัด เมื่อต้นทุนอื่น ๆ ยังมหาศาลเท่าเดิม แต่คนดูกลับสวนทางกัน คือน้อยลงมาก สปอนเซอร์เองก็คงถอนตัวหมด แค่ค่าแอร์ก็แทบจะไม่คุ้มแล้วครับ

เขาบอกว่าทางภาครัฐควรจะแจกแจงรายละเอียดมากกว่านี้ แทนที่จะเหวี่ยงแหคลุมไปทั้งหมดเพราะคอนเสิร์ตเองก็มีหลายประเภท อย่างเช่นดนตรีคลาสสิก งานประเภทนี้คนดูก็จะนั่งดูเงียบ ๆ  ไม่เปิดปากร้องตามอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องห่างกันขนาดนั้น

ส่วนคอนเสิร์ตต่าง ๆ นักร้องลูกทุ่ง หรือคอนเสิร์ตที่มีวัยรุ่นเข้าชมเยอะ ๆ รวมถึงคอนเสิร์ตต่างประเทศ ถ้าตามมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าตอนนี้คงยังไม่มีใครกล้าจัด

ทางด้านงานอีเวนต์ งานแฟร์ต่าง ๆ เกรียงไกร ให้ความเห็นว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมที่ต้องรักษาระยะนั่ง ยืน ห่าง 1 เมตร  เพียงแต่การขออนุญาตจัดงานต้องเข้มงวดกว่าเดิม ต้องชี้แจงมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันการติดเชื้อ และรักษาความสะอาด เหมือนอย่างที่ศูนย์การค้าทำ

ดังนั้น ในความเห็นของเขาถึงจะมีมาตรการยอมให้จัดออกมาแล้ว แต่ข้อกำหนดต่าง ๆ จะทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจอีเวนต์ต่าง ๆ การจัดประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดเลี้ยง การแสดงดนตรี คอนเสิร์ต คงต้องรอเวลาต่อไป  ไม่กล้าวางแผนทำงานตามมาตรการตั้งแต่ตอนนี้แน่นอน

นอกจากบางงานที่ลูกค้าจ่ายค่าเช่าสถานที่แล้วแต่ถูกเลื่อนออกไป เช่น งานมอเตอร์โชว์ ที่กำหนดเดิมต้องจัดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะเลื่อนไปจัดในเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน ก็ต้องคอยดูกันว่า จะมีคนเข้ามาดูมากขนาดไหน คุ้มกับค่า Marketing หรือเปล่า 

“จาก 3 เหตุผลใหญ่ที่อุตสาหกรรมนี้ยังไม่ฟื้นเพราะมาตรการของรัฐ ที่ผมมองว่าเหวี่ยงแหคลุมไปทั้งหมด ต้องลงมาดูรายละเอียดของกิจกรรมแต่ละประเภทมากขึ้น 2 เงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนมาดูน้อยลง  และสุดท้าย บริษัทเล็ก ๆ ที่เคยเป็นซัปพลายเออร์หายไปแล้วจำนวนมาก” เกรียงไกร กาญจนะโภคิน กล่าว

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะธุรกิจอีเวนต์ใหญ่กว่าที่คิด มูลค่ารวมของธุรกิจอีเวนต์ทั้งหมดที่ทีเส็ปเคยระบุว่าต่อปีมีประมาณ 3 แสนล้านบาท และเบื้องหลังมีแรงงานหลายแสนคนที่ทำให้เกิดขึ้นมา

อย่างเช่นคอนเสิร์ต บางคนอาจจะมองว่าศิลปินที่มีเพียงคนเดียวหรือศิลปินกลุ่ม ไม่มีคอนเสิร์ตเล่นก็ไม่เป็นไร คนกลุ่มนี้รวยอยู่แล้ว แต่ความจริงแล้วกว่าคอนเสิร์ตจะเกิดได้ ในแต่ละครั้งทั้งระบบถูกขับเคลื่อนด้วยคนจำนวนมาก เช่น คนทำเวที ทีมเครื่องเสียง ช่างไฟ ช่างเทคนิคต่าง ๆ  ทีมแดนเซอร์, Backstage ร้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ทำหน้าทำผม ทีมงานมาร์เก็ตติ้ง ทีมงานด้านประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

เช่นเดียวกับเวลาจัดงานแฟร์ และงานงานอีเวนต์ใหญ่ ๆ ที่ไม่ได้มีแค่ในโรงแรม ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม แต่รวมไปถึงงานวัด งานลอยกระทง งานแข่งกีฬา งานรับปริญญา งานแต่งงาน งานบวช ทั่วประเทศ

วันนี้ ออร์แกไนเซอร์จัดงานประเภทนี้มีไปถึงระดับอำเภอ หรือตำบล

แต่ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจทั้งหมดปิดหมด กระทบตามกันเป็นลูกโซ่

และเขาเชื่อว่าบริษัทเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพวกนี้ วันนี้ต้องปิดตัวเองไปแล้วไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แน่นอน

สำหรับทางออกของอีเวนต์ หลายคนปรับตัวไปเป็นไฮบริดอีเวนต์ หรือออนไลน์ผสมอีเวนต์  Virtual Event เพื่อเป็นส่วนขยายของงานที่ถูกจัดขึ้นบนโลกจริงบนโลกออนไลน์  

หรือการดูคอนเสิร์ตแบบออนไลน์ รูปแบบทั้งหมดเกรียงไกรยืนยันว่าคือการดิ้นรนเพื่อหาทางรอด อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถมาแทนที่อีเวนต์แบบเดิม ๆ ที่ผู้ร่วมงานจะได้ประสบการณ์ตรงจากของจริงที่อยู่ตรงหน้าได้เลย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน