เกือบครึ่งปีแล้วที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างเป็นระบบต่อหลายธุรกิจของทุกประเทศทั่วโลก และยังไม่สิ้นฤทธิ์ โดยเมื่อ 13 มิถุนายน ไวรัสดังกล่าวกลับมาระบาดในจีนอีกครั้งซึ่งมีต้นตอมาจากร้านขายเนื้อปลาแซลมอนนำเข้าที่ตลาดซินฟาตี้ ตลาดค้าส่งสินค้าทางเกษตรขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง จนรัฐบาลจีนต้องสั่งห้ามนำเข้าเนื้อปลาชนิดนี้เพื่อสกัดการระบาด และหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ คือนอร์เวย์
นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกเนื้อปลาแซลมอนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและมีจีนเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ การระบาดครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อชื่อเสียงของที่สั่งสมมาของปลาแซลมอนนอร์เวย์ซึ่งเชื่อมโยงกับซาซิมิ เมนูอาหารญี่ปุ่นที่กินแบบดิบชื่อดังอย่างเลี่ยงไม่ได้
Project Japan: ความสำเร็จข้ามโลกของแบรนด์แซลมอนนอร์เวย์
ญี่ปุ่นเป็นชาติที่โด่งดังเรื่องวัฒนธรรมด้านอาหาร ซึ่งหนึ่งในเมนูขึ้นชื่อคือชูชิหน้าต่าง ๆ และปลาดิบ (ซาชิมิ) แต่ปลาแซลมอนดิบที่รู้จักไปทั่วโลกเป็นเมนูน้องใหม่และนำเข้ามาจากนอร์เวย์
ย้อนไปช่วงกลางยุค 80 นอร์เวย์ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลาแซลมอนในระดับอุตสาหกรรม แต่กลับต้องเผชิญปัญหาเพราะมีมากเกินความต้องการและคนในประเทศหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นแทน จึงต้องเร่งหาทางระบายเนื้อปลาแซลมอนล้นตลาดนี้ออกไป
ผู้ที่เข้ามาแก้ไขปัญหานี้คือ Thor Listau รัฐมนตรีกระทรวงประมงของนอร์เวย์ในขณะนั้น โดย Thor Listau ตัดสินใจเจาะตลาดญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่บริโภคปลาเป็นจำนวนมากและรัฐบาลเคยไปเจรจาเปิดตลาดอาหารทะเลไว้เมื่อ 10 ปีก่อน โดยเน้นที่ปลาดิบ ตลาดบนที่มีราคาแพง
ประกอบกับยุค 80 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว ชาวญี่ปุ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการนำเข้าเนื้อปลามากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ
Thor Listau จับมือกับ Bjohn Eirik Olsen นักการตลาดหนุ่มของอุตสาหกรรมประมงนอร์เวย์ในขณะนั้น ทำแคมเปญ Project Japan เพื่อเจาะตลาดญี่ปุ่น แต่ 5 ปีแรกความพยายามของทั้งคู่ต้องเผชิญกับอุปสรรค เพราะผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นและร้านอาหารญี่ปุ่น เห็นว่าแซลมอนดิบในนอร์เวย์ที่เลี้ยงในชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของนอร์เวย์ อาจมีพยาธิเหมือนปลาแซลมอนในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงไม่สามารถกินดิบได้แบบปลาซาซิมิจากปลาชนิดอื่น
ประกอบกับสีและกลิ่นของเนื้อแซลมอนดิบนอร์เวย์ก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่น จนยอดนำเข้าเนื้อปลาแซลมอนนอร์เวย์ในญี่ปุ่นอยู่เพียง 2 ตันเท่านั้น
Thor Listau และ Bjohn Eirik Olsen ยังไม่ละความพยายาม โดยทั้งคู่ได้ลองเปลี่ยนมาใช้คำว่า samon (ซามง) แทน salmon (แซลมอน) ซึ่งภาษาญี่ปุ่นแบบคาตาคานะในการเรียกเนื้อปลาแซลมอน เพื่อให้มีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น เชื่อมโยงคำที่ใช้เรียกอาหารและเครื่องดื่มในภาษาญี่ปุ่น
แบบเดียวกับที่สาเกเป็นคำเรียกเครื่องดื่มหรือน้ำที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติที่ชาวญี่ปุ่นมีต่อแซลมอนนำเข้าจากนอร์เวย์ได้
ที่สุด Project Japan และเนื้อปลาแซลมอนอร์เวย์ก็ได้แจ้งเกิดในญี่ปุ่นหลัง ยูทากะ อิชินาเบะ พ่อครัวคนดังนำไปใช้ทำเมนูในรายการ “เชฟกระทะเหล็ก” ในต้นยุค 90 และอยู่คู่เมนูปลาดิบญี่ปุ่นมาตั้งแต่นั้น
ข้ามมาถึงปี 2016 ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อปลาแซลมอนจากนอร์เวย์เพิ่มเป็น 34,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ล้าน 8,300 ล้านบาท) นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังส่งออกเนื้อปลาแซลมอนไปยังอีกกว่า 150 ประเทศตามความนิยมอาหารญี่ปุ่นทั่วโลก
จนเมื่อปี 2019 ปริมาณส่งออกเพิ่มเป็น 1.1 ล้านตัน สร้างรายได้ให้ชาวประมงนอร์เวย์ถึง 8,242 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 264,000 ล้านบาท)
จับตาสถานการณ์แซลมอนนอร์เวย์ในจีน
แม้เนื้อปลาแซลมอนนอร์เวย์สร้างชื่อนอกบ้านที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก แต่ผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนช่วงไม่กี่ปีมานี้ และกำลังซื้อของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น เนื้อปลาแซลมอนนำเข้าในเมนูอาหารญี่ปุ่นจึงได้รับความนิยมมากขึ้นในจีน
แน่นอนว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกแซลมอนรายใหญ่ ที่ประกอบไปด้วย นอร์เวย์ เดนมาร์ก ชิลีและออสเตรเลีย ก็ไม่พลาดโอกาสทอง หันมาทำตลาดและส่งออกเนื้อปลาแซลมอนมาจีนมากขึ้น
ปี 2019 จีนนำเข้าเนื้อปลาแซลมอนสูงถึง 80,000 ตัน โดยจำนวนนี้ 20,000 ตันมาจากนอร์เวย์ แต่ปีนี้ยอดนำเข้าเนื้อปลาแซลมอนจากทุกประเทศมีแนวโน้มลดลง
เพราะรัฐบาลจีนสั่งห้ามเข้าเนื้อปลาชนิดนี้เพื่อสกัดการระบาดมาแล้ว 2 สัปดาห์ แม้เป็นชัดเจนแล้วว่า เป็นการปนเปื้อนจากคนที่ติดเชื้อและสุขอนามัยของคนตลาดซินฟาตี้ ไม่ใช่ปลาติดเชื้อมาตั้งแต่ประเทศต้นทางนำเข้า
รัฐบาลนอร์เวย์กังวลต่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมาก โดยรัฐมนตรีประมงนอร์เวย์ขอให้ทางการจีนยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเพราะการระบาดรอบใหม่ฉุดราคาเนื้อปลาแซลมอนตลาดโลกและหุ้นของบริษัทส่งออกอาหารทะเลใหญ่ ๆ ในนอร์เวย์ ซึ่งมีเนื้อปลาแซลมอนเป็นพระเอก ให้ลดลง
ท่ามกลางการประเมินว่าวิกฤตโรคระบาดรอบใหม่ในจีนจะกระทบต่อนอร์เวย์มากกว่ากรณีการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้ หลิว เสี่ยวโป นักเรียกร้องสิทธิมนุษย์ชาวจีน เมื่อปี 2010
ที่สร้างความไม่พอใจให้ทางการจีน และตอบโต้การด้วยจำกัดการนำเข้าเนื้อปลาแซลมอนนอร์เวย์ จนเป็นโอกาสให้ประเทศอื่นอย่างเดนมาร์ก ชิลี และออสเตรเลีย ชิงส่วนแบ่งตลาดของนอร์เวย์ในจีนไป
ล่าสุดวันนี้ (22 มิถุนายน) จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 220 คน และทางการจีนได้สั่งห้ามนำเข้าเนื้อไก่แช่แข็งจาก Tyson บริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์สัญชาติอเมริกัน และสั่งปิดโรงงานขนมขบเคี้ยวของ Pepsi ในกรุงปักกิ่ง หลังมีรายงานการระบาดแบบกลุ่มในโรงงานของแต่ละบริษัท/channelnewsasia, japantimes, salmonbusiness, implementconsultinggroup, scandinaviertraveler, qz
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



