TPBI ทำความรู้จักกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่มองการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส

หากย้อนไป 60 ปีที่แล้ว ถุงพลาสติก หรือที่เราต่างเรียกติดปากว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” คือนวัตกรรมที่เปลี่ยนให้ทั้งโลกค้าปลีกและวิถีชีวิตของคนเราสะดวกขึ้น

แถมในตอนนั้นทุกคนยังมองว่านี่คือ ‘พระเอก’ ที่จะทำให้เราตัดต้นไม้เพื่อมาทำถุงกระดาษน้อยลง ใช้ต้นทุนในการผลิตก็ต่ำกว่า ผลิตได้ที่จำนวนมาก ราคาก็ถูก ตรงตามหลัก Economy of Scale ทำให้ถุงหูหิ้วแพร่หลายจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

แต่เมื่อสัก 5-10 ปีที่ผ่านมา หรือไม่ต้องย้อนไกลอย่างดีเดย์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2020 มีการประกาศยกเลิกแจกถุงพลาสติกในประเทศไทยอย่างจริงจัง

จากถุงใบเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนโลกของการจับจ่ายซื้อขายได้ตกเป็นจำเลยของสังคม เพราะสาเหตุใหญ่คือการย่อยสลายที่ต้องใช้เวลายาวนานหลักร้อยปี หากไม่ถูกเก็บมารีไซเคิล ทิ้งผิดที่ผิดทางจนก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตามมา

… ที่หยิบยกการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และมุมของผู้บริโภคต่อถุงพลาสติกขึ้นมา เพราะในวันนี้ Marketeer มีโอกาสได้นั่งคุยกับ ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Flexibles) บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของไทยส่งออกสินค้าไปในระดับโลก มีฐานการผลิตทั้งในไทยและต่างประเทศ

ถึงเรื่องราวในการทำธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่กลับมองว่านี่คือ โอกาส ที่จะได้ Diversify ธุรกิจให้หลากหลายขึ้น และยังรวมถึงอนาคตและทิศทางบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เรามาคุยเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน

เติบโตจาก ถุงพลาสติก ไปต่อใน ธุรกิจบรรจุภัณฑ์

TPBI เติบโตมาจากเป็นผู้ผลิตถุงพลาสติกและธุรกิจรีไซเคิลเศษพลาสติก ทั้งเพื่อนำกลับมาผลิตซ้ำรวมถึงขายในรูปแบบเม็ดให้กับโรงงานผลิตถุงพลาสติกอื่น ๆ

เป็นธุรกิจที่เติบโตไปพร้อม ๆ กับธุรกิจค้าปลีก บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าและใช้ถุงพลาสติกของ TPBI ยิ่งขายดี บริษัทก็ขายถุงพลาสติกได้มากขึ้นไปด้วย โดยสัดส่วนของรายได้เกือบทั้งหมดมาจากการเป็น OEM อยู่เบื้องหลังถุงแบรนด์สีสันสวยงามที่เชื่อว่าทุกคนจะต้องมีโอกาสได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของ TPBI

“ในตอนนั้นธุรกิจร้านคอนวีเนียนสโตร์และโมเดิร์นเทรดเติบโตมาก แน่นอนว่าเราก็เติบโตไปด้วย… แต่เมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว เกิด ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ คู่ค้าของเราที่ประเทศอังกฤษเริ่มคุยถึงเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก และรณรงค์ให้กลับมาใช้ถุงกระดาษแทนหรือลดการแจกถุงพลาสติกแทน ก่อนที่เทรนด์ที่ว่าจะค่อย ๆ เริ่มขยายตัวจากฝั่งยุโรปไปยังอเมริกาและออสเตรเลีย ก่อนมาถึงฝั่งเอเชียบ้านเรา”

ในตอนนั้นทำให้ TPBI รู้ได้ทันทีว่าธุรกิจถุงพลาสติกที่ทำต้องมีการเปลี่ยนแปลง บริษัทเองก็ยืนขาตายท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเทรนด์ไม่ได้ และยิ่งเป็นกระแสที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าจะต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

“เราตัดสินใจซื้อกิจการของคู่ค้าที่เป็นบริษัทผลิตถุงกระดาษที่อังกฤษแล้วตั้งเป็น TPBI UK ครับ โดยใช้ความรู้ Know-How ต่าง ๆ ที่คู่ค้ามีอยู่มาต่อยอดธุรกิจ ถือเป็นการขยับขยายธุรกิจได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่”

การ Step up ตัวเองจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจพลาสติก สู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ ดูไม่ใช่เรื่องแปลกในวิถีทางในการขยับขยายธุรกิจออกไป แต่เมื่อลองกางธุรกิจในปัจจุบันของ TPBI สามารถแบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่

1. กลุ่มสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป (Consumables) – ผลิตถุงพลาสติกหูหิ้ว, ถุงพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำ ซองไปรษณีย์พลาสติก และ ถุงขยะ OEM และ อินเฮาส์แบรนด์ของตัวเองชื่อว่า LifeHak (ไลฟ์แฮค)

2. บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (Flexibles) – ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคและอุปโภค, บรรจุภัณฑ์สำหรับภาคอุตสาหกรรมการขนส่ง และฟิล์มม้วนขนาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมพิเศษเช่น การก่อสร้าง การเกษตร เป็นต้น

3. บรรจุภัณฑ์กระดาษ (Paper) – ถ้วย ชามกระดาษสำหรับอาหาร ถุงกระดาษ และบรรจุภัณฑ์กระดาษรูปแบบต่าง ๆ

4. กลุ่มกรีน – (Green & Innovation) – บรรจุภัณฑ์ เพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถุงย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เคลือบด้วยพลาสติกย่อยสลายได้ เช่น ถ้วยกระดาษ, ชามกระดาษ, และฝาแก้ว

กลุ่ม Consumables ที่ขายดีที่สุดในเวลานี้คือถุงขยะ ต้องยอมรับว่าส่งผลมาจากการยกเลิกแจกถุงในร้านสะดวกซื้อหรือห้างด้วย อย่างที่ประเทศอังกฤษในวันที่ประกาศเลิกแจกถุงฟรี ออเดอร์ถุงพลาสติกลดลง 80% ทันที แต่สวนทางกับถุงขยะที่เติบโตขึ้นมาก”

ล่าสุด TPBIเองได้ออกแบรนด์ถุงขยะเป็นของตัวเองที่ชื่อว่า LifeHak วางจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ ชูจุดเด่นด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่คงทนกว่า เหนียว ไม่มีกลิ่นเหม็น แต่เพิ่มกลิ่นน้ำหอมแทน มีหูผูก โดยใช้ประสบการณ์ในการเป็นผู้ผลิต OEM มากว่า 40 ปี การันตีคุณภาพ

อนาคตของบรรจุภัณฑ์

ทั้ง 4 ประเภทธุรกิจ มูลค่ารวมต่อปีกว่า 5 พันล้านบาท ของTPBIเกือบจะครบลูปการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน โดยกลุ่มที่น่าจับตาคือ  Flexibles และ Green & Innovation ที่ศักดิ์สิทธิ์มองว่าเป็นอนาคตที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้ได้เป็นอย่างดี

“ธุรกิจ Flexibles หรือบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนของเราชูเรื่อง Digital Printing เพราะเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของแบรนด์สมัยนี้ ยกตัวอย่างเช่น หากแบรนด์สินค้าอยากลองตลาดตัวผลิตภัณฑ์กลิ่นใหม่ 10 แบบ เมื่อก่อนจำเป็นต้องเสียเงินไปกับแม่พิมพ์ 10 ชุด หรือไม่ก็ทยอยผลิตออกมา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เพราะเจ้าของแบรนด์สามารถสั่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ทีเดียว 10 แบบเลยก็ได้ผ่าน Digital Printing มันตอบโจทย์เรื่องความเร็ว และความหลากหลายที่มากกว่า”

หรืออย่าง Green & Innovation เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ไม่ทำไม่ได้อยู่แล้ว TPBIทำแบรนด์บรรจุภัณฑ์ที่ชื่อว่า Terra ขึ้นมาโดยมองไปที่ Circular Economy เป็นจุดตั้งต้น ออกแบบมาให้สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด แต่ที่สำคัญคือยังคงความสามารถในการรักษาสินค้าได้ เช่น ซองแชมพูแบบเติมก็ต้องเก็บกลิ่นได้ ซองขนมแบบตั้งก็ต้องเก็บความกรอบและตั้งโชว์ผลิตภัณฑ์ได้

“เราเชื่อว่าทุกคนสนับสนุนเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมกันหมด ในฝั่งของผู้ผลิตอย่างเราก็ยินดีขาย ยินดีผลิต แต่ความเป็นจริงแล้วสินค้าที่เป็น Green & Innovation จากไบโอพลาสติกในปัจจุบันบนโลกนี้เมื่อเทียบสัดส่วนกับพลาสติกธรรมดาอยู่แค่ไม่ถึง 1% และข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่อง ‘ต้นทุนที่แพงกว่าพลาสติกธรรมดา’ จึงอาจต้องใช้เทคโนโลยีการผลิต รวมถึงการแข่งขันของผู้ผลิตในตลาดมากขึ้นเพื่อให้ต้นทุนต่ำลงเข้าถึงผู้ใช้งานมากขึ้นกว่านี้”

ซึ่งเรื่องการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแค่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ฝ่ายเดียวไม่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ เพราะยังจำเป็นต้องพึ่งพาในฝั่งของเจ้าของแบรนด์เอง รวมถึงตัวผู้บริโภคอย่างเราผสานกันทั้ง 3 ฝ่าย

“Design for Recycle สำคัญมากครับ เพราะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่จะสามารถนำมารีไซเคิลได้แบบ 100% ควรเป็นเนื้อเดียว ซึ่งที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง มีแบรนด์ระดับโลก 2-3 เจ้าเข้ามาคุยเรื่องนี้กับเราตลอด

ในส่วนของผู้บริโภคเอง การแยกขยะ แยกประเภทบรรจุภัณฑ์ ที่ทิ้งเพื่อให้ง่ายต่อการนำมารีไซเคิลต่อก็สำคัญมาก ซึ่งจะต้องเริ่มปลูกฝังทั้งในส่วนของบุคคล ชุมชน และสังคม ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนในประเทศชั้นนำอย่าง ญี่ปุ่น หรือในยุโรปที่เอาจริงเอาจังเรื่องนี้มากจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผล”

โครงการ WON 

มีโครงการที่รณรงค์ให้แยกขวดพลาสติกแล้ว แยกกระป๋องก็มีแล้ว แต่TPBIมองเห็นช่องว่างว่ายังไม่มีโครงการไหนรณรงค์ให้แยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบฟิล์มเพื่อนำกลับมารีไซเคิลใหม่

จึงเกิดเป็นที่มาของโครงการ WON (วน) โครงการที่ว่าอยากให้ถุงพลาสติกใช้แล้วได้เดินทางกลับมารีไซเคิลเป็นถุงใบใหม่ แทนที่จะถูกทิ้งลงทะเลหรือปล่อยให้เป็นปัญหาของสิ่งแวดล้อม

“ถุงพลาสติก ถุงหูหิ้ว ถุงช้อปปิ้ง หรือฟิล์มยืดห่อขวดน้ำใช้ได้หมดครับ ขอแค่ให้แยกและทำความสะอาด” ศักดิ์สิทธิ์เล่าอย่างเห็นภาพถึงเรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าถุงก๊อบแก๊บที่เราใช้อยู่ทุกวันไม่ได้ใช้แล้วทิ้งไป แต่ถ้าเราแยกพร้อมกับทำความสะอาดให้ดีโรงงานผู้ผลิตก็ยินดีที่จะนำกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกขึ้นเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้หลากหลาย”

“เราเริ่มจากทำกันในออฟฟิศ ให้ข้อมูลกับพนักงาน ก่อนขยายไปยังชุมชนรอบ ๆ โรงงาน ขยายผลต่อไปยังคู่ค้าของเรา จากนั้น เริ่มมีจุดรับตามห้างร้าน คอนโด ออฟฟิศ โรงเรียน และคอมมูนิตี้มอลล์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊กเพจ wontogether จึงทำให้ได้ร่วมงานกับ กทม. และอีกหลายโครงการ ตอนนี้จุดรีไซเคิลถุงพลาสติก won ก็กระจายไปกว่า 300 จุด ที่สำคัญ พลาสติกที่เราได้กลับมาสามารถใช้ได้จริง และได้จำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย  ๆ”

TPBIมองว่า โครงการ WON จะไม่ใช่เพียงโครงการ CSR ที่ทำแบบสั้น ๆ แต่จะกลายเป็นโครงการที่สามารถปลูกฝังความยั่งยืนให้กับทั้งตัวบริษัทเองรวมถึงผู้คนในสังคมไทยได้อีกทาง

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ โอกาส

คำถามสุดท้ายระหว่างบทสนทนาคือเรื่องของวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นทั้งปัญหาและการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำคัญ ซึ่ง TPBI สามารถผ่านมาได้ด้วยแนวคิด 3 ข้อคือ

“หนึ่งเลยวิกฤตครั้งนี้ทำให้เรารู้เลยว่าการกระจายความเสี่ยง Diversify ธุรกิจออกไปช่วยเราได้มาก อย่างโควิดที่ผ่านมาโรงงานไม่ได้หยุดเลยเพราะยังต้องเดินเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งและใส่สินค้าแฮนด์เจลที่ขายดีและเติบโตในช่วงวิกฤต

สอง เราเปรียบบริษัทเป็นครอบครัว เราดูแลพนักงานอย่างคนในครอบครัวมาตลอด  เมื่อเกิดภาวะโรคระบาด เราดูแลเรื่องสุขภาพของพนักงานทุก ๆ คน เพราะถ้าไม่มีพนักงาน โรงงานก็ได้รับผลกระทบไปโดยปริยาย

และข้อสุดท้าย คือต้องดูแลจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเราหยุดไม่ได้เพราะอะไร สิ่งที่เราทำอยู่ในช่วงนี้ไม่ใช่แค่งานเหมือนตอนปกติ แต่บรรจุภัณฑ์ของเราจะถูกบรรจุอาหารที่ปลอดภัยเสิร์ฟทุกคนถึงบ้าน เราเปลี่ยนตรงนี้เป็นอีโมชั่นนอลแมสเซจส่งตรงถึงพนักงานเพื่อให้เขารู้สึกภูมิใจในการทำงาน และยืนยันว่าธุรกิจและบริษัทยังคงแข็งแกร่ง พร้อมที่จะพาทุกคนผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันทุกคน”

สามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับTPBI ได้ที่: www.tpbigroup.com
ติดตามโครงการ “วน” ได้ที่: https://www.facebook.com/wontogether/

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online