Marketing Everything/รวิศ หาญอุตสาหะ
วันนี้จะมาพูดถึงเรื่อง “การลาออก” ซึ่งแน่นอนอย่างที่เราทุกคนรู้กันนั่นล่ะ ว่าการลาออกถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ไม่ว่าจะลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว เพราะไม่ชอบหัวหน้า อยากเปลี่ยนที่ทำงาน เพราะต้องการเพิ่มเงินเดือน หรือต้องการเปลี่ยนสายงาน ฯลฯ ไม่ว่าจะโดยเหตุผลอันใดก็ตาม การลาออกถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ดีเสียด้วย และเราจะมาพูดถึงกันในบทความนี้ว่า… เมื่อต้องลาออก เราควรที่จะต้องทำอย่างไร
อย่าเผาสะพานเด็ดขาด
หลายคนน่าจะเคยได้ยินสำนวนของฝรั่งที่เขาพูดกันว่า don’t burn your bridges หรือ Don’t Burn Bridge หรือแปลเป็นไทยว่า “จงอย่าเผาสะพาน” ความหมายก็คือ ถ้าคุณกำลังจะข้ามสะพาน หรือข้ามไปแล้ว อย่าเผามันทิ้งเพราะคุณอาจจะต้องใช้สะพานนี้อีกครั้งก็ได้ แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องการทำงานยังไงล่ะ…
หลายคนเวลาลาออกนั้นปฏิบัติตัวราวกับว่าจะไม่มีทางโคจรกลับมาเจอกันอีก ปล่อยความ Toxic แบบขั้นสุด ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์โซเชียลมีเดีย การเอาเรื่อง negative ต่าง ๆ ไปคุยกับคนอื่น ๆ ในทีม บางคนถึงขั้นเอ่ยปากชวนคนอื่น ๆ (คนที่เขายังไม่ลาออก) ไปสมัครงานที่อื่นกันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำมากที่สุด เพราะวันข้างหน้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราอาจจะมีโอกาสต้องร่วมงานกับเขาอีกก็ได้
ส่งต่องานอย่างสมูทและนุ่มนวล
โดยปกติแล้วการลาออกนั้นจะเป็นการแจ้งล่วงหน้า ส่วนจะกี่วันนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของแต่ละที่ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ 30 วัน เพื่อเป็นการเผื่อเวลาและส่งต่องานให้คนที่จะมารับช่วงต่อจากเรา ในพาร์ตนี้เราต้องเข้าใจแล้วว่าเมื่อเราตัดสินใจลาออก เราต้องเริ่มต้นเคลียร์และกระจายงานออกจากตัว อย่าพยายามดึงงานเข้ามาไว้ที่ตัว โดยเฉพาะงานที่เป็นโปรเจกต์ที่มีระยะเวลาเกินกว่าวันลาออกของเรา เพื่อให้คนที่ต้องดูแลงานต่อจากเราทำงานได้ง่าย และที่สำคัญการทำแบบนี้ยังเป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงานอีกด้วย
รักษา “มิตรภาพ” ให้คงอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานร่วมกัน
หลายครั้งเมื่อมีความผิดพลาดเกี่ยวกับการทำงานเกิดขึ้น หลายคนไม่สามารถแยก Emotional (อารมณ์) ที่มีต่อคนคนนั้นได้ ความหมายคือ เราต้องพยายามแยกให้ชัดว่าความผิดพลาดเรื่องงานนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด เวลา Comment ใด ๆ ก็ให้อยู่ที่เรื่องงานอย่าไปโจมตีที่ตัวบุคคล เพราะมีหลายเคสมากที่ไม่ว่าจะทำงานร่วมกัน ตั้งบริษัทร่วมกัน สุดท้ายแล้ว ทะเลาะกันถึงขั้นไม่คุยกันไปเลยก็มี ทั้ง ๆ ที่ในเรื่องส่วนตัวนั้นแต่ละคนไม่ได้มีปัญหา หรือคุยกันไม่ได้เลย เพียงแต่วิธีการทำงานเท่านั้นที่อาจจะไม่ตรงกัน
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ตอนต้นว่า “การลาออก” นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานจริง ๆ ยกเว้นแต่ว่าคุณจะทำงานใดงานหนึ่งไปทั้งชีวิต ถามว่ามีไหม… แน่นอนว่ามันก็มีนั่นล่ะ คนที่ทำงานที่เดียวทั้งชีวิต แต่ก็น้อยมาก ๆ ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า “การลาออก” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม “จงอย่าเผาสะพาน”
เหมือนที่ H. Jackson Brown เคยบอกไว้ว่า
“จงอย่าเผาสะพาน เพราะคุณจะแปลกใจที่มีอีกหลายครั้งที่คุณจะต้องข้ามแม่น้ำสายเดิม”
รวิศ หาญอุตสาหะ
หลังจากจบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไปเรียน MBA ต่อที่ Vanderbilt University ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานในวงการการเงินอยู่หลายปี
จนวันหนึ่งวิถีชีวิตก็เปลี่ยนเมื่อต้องกลับมารับกิจการของที่บ้าน จากธุรกิจเล็ก ๆ ที่ยอดขายปีละ 30 ล้านบาท เขาใช้เวลา 5 ปี ในการขยายยอดขายเกิน 200 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาการทำงานเขาเห็นอุปสรรคและปัญหาของการเป็น SME มากมาย จึงอยากถ่ายทอดบทเรียนทางธุรกิจทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เพื่อหวังว่าจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในการทำให้ SME ไทยเป็นรากฐานที่แข็งแกร่ง
ปัจจุบัน รวิศ หาญอุตสาหะ เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท 3 แห่งคือ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด บริษัท H2O จำกัด และบริษัท ศศิ แล๊ป จำกัด
รวิศเป็นคนที่มีความชื่นชอบการอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเขามีหนังสือในคอลเลกชั่นมากกว่า 5,000 เล่ม
I-
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ