ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ทำไมจึงเป็นเป้าหมายใหม่ของ เนสท์เล่ (วิเคราะห์)
ในวันที่สถานการณ์ภาพรวมของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็ย่อมได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ยักษ์ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มของโลกอย่าง “เนสท์เล่” ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบกับสินค้าของเนสท์เล่โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มบริโภคนอกบ้าน เช่น น้ำดื่ม ขนม ไอศกรีม
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มสินค้าที่เติบโตได้ดีเพราะผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้น คือกลุ่มสินค้าในครัวเรือน เช่น กาแฟ นม ซอสปรุงรส
ทำให้ภาพรวมยังเป็นที่น่าพอใจ เพราะเหมือนเป็นการเปลี่ยนแคทากอรี่ของสินค้าในการเติบโต และคาดว่ารายได้ในปีนี้ของเนสท์เล่ในไทย จะเติบโตราว 1 digit
แล้ว “เนสท์เล่” มองเห็นอะไรถึงกางแผนลงทุนปีนี้และปีหน้าขยาย 3 โรงงานในไทย ด้วยเม็ดเงินถึง 4,500 ล้านบาท
วิคเตอร์ให้เหตุผลว่า แม้ปีนี้จะเจอกับความท้าทาย แต่เนสท์เล่เชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และการลงทุนครั้งนี้เป็นการสร้างการเติบโตในระยะยาวที่สอดรับกับอินไซต์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง 5 ข้อคือ
1.เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
2.ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการมองหาของกินเล่นเติมความสุข
3.ผู้บริโภคให้ความคุ้มค่าของสินค้ามากขึ้น
4.ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
5.อีคอมเมิร์ซและฟู้ดเดลิเวอรี่มีการเติบโต
จากอินไซต์ทั้ง 5 ข้อนี้ทำให้เนสท์เล่เลือกขยายการลงทุนใน 3 โรงงานกับ 3 กลุ่มสินค้าด้วยกัน คือ
– อาหารสัตว์เลี้ยง
– ยูเอชที
– ไอศกรีม
แล้วแต่ละกลุ่มสินค้ามีความน่าสนใจอย่างไร วิคเตอร์อธิบายไล่เรียงให้ฟังว่า
:: กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ::
เพราะคนไทยดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว เลี้ยงไว้คลายเหงามากขึ้น ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว และแม้ในสถานการณ์โควิด-19 คนยังยอมจ่ายซื้ออาหารให้สัตว์เลี้ยง
พบว่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงปีนี้เติบโต 9% จากปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง พรีเมียมที่โตสอดคล้องกับเทรนด์โลก
ทำให้เนสท์เล่ใช้เงินลงทุนถึง 2,550 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นเม็ดเงินที่มากที่สุดใน 3 โรงงาน ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่อมตะนคร เพื่อขยายกำลังการผลิต โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะเริ่มเดินสายผลิตในกลางปีหน้า
และเสริมแกร่งให้พอร์ตโฟลิโออาหารสัตว์ที่มีอยู่ทั้งเพียวริน่า ฟริสกี้ส์, อัลโป, เพียวริน่า วัน, เฟลิกซ์, เพียวริน่า โปรแพลน และซุปเปอร์โค้ท
ที่ต้องแข่งขันกับแบรนด์คู่แข่งตัวทอปในตลาด ทั้งเพ็ดดีกรี, โรยัล คานิน และแบรนด์พรีเมียมอื่น ๆ
::: ไอศกรีม :::
แม้กลุ่มไอศกรีมของเนสท์เล่จะโดนผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่วิคเตอร์เชื่อว่า เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ยอดขายก็จะกลับมา
รวมถึงเทรนด์ที่กล่าวไปข้างต้นที่ผู้บริโภคหาของกินเล่นเพื่อให้รางวัลตัวเอง ไอศกรีมในพอร์ตจึงเป็นคำตอบให้เนสท์เล่ขยายไลน์การผลิตที่โรงงานบางชัน ด้วยงบลงทุน 440 ล้านบาท เพื่อออกไอศกรีมรสชาติใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาด
รวมถึงการทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนสท์เล่เริ่มเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ไอศกรีมเนสท์เล่ เอ็กซ์ตรีม นามะ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษสามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งทำให้ยอดขายไอศกรีมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
::: ตลาดนมยูเอชที:::
เพราะผลวิจัยจากนีลเส็นพบว่า เครื่องดื่มนมยูเอชทีและช็อกโกแลตยูเอชทีจะเติบโตถึง 3% ใน 3 ปีข้างหน้า เนสท์เล่จึงมองระยะยาวที่หวังเติบโต สร้างโรงงานยูเอชทีแห่งใหม่ที่นวนครในงบ 1,530 ล้านบาท เป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มยูเอชทีอย่างไมโล และนมตราหมี
จะเห็นว่ากระแสช่วงที่ผ่านมาเนสท์เล่เริ่มจับเทรนด์รักสุขภาพและต้องพกพาสะดวก ออกผลิตใหม่คือ นมตราหมีในรูปแบบกล่อง ที่แต่เดิมมีแต่แบบกระป๋องนั่นเอง
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

