สงกรานต์นี้ ใช้ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ หรือเปล่า
รู้ไหมว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) DMT หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ กำลังเตรียมตัวเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เร็ว ๆ นี้
บริษัทนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2531 ลงนามสัญญาสัมปทานในการก่อสร้างเมื่อปี 2522
ผู้ถือหุ้นหลักคือตระกูล “พานิชชีวะ” มีธานินทร์ พานิชชีวะ เป็นกรรมการผู้จัดการ
ทรัพย์สินที่สร้างรายได้หลักเกือบ 100% ก็คือค่าผ่านทางของดอนเมืองโทลล์เวย์
เริ่มตั้งแต่ช่วงดินแดงจนถึงรังสิตระยะทางรวมทั้งหมด 21 กิโลเมตร
ประกอบด้วยช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร
ส่วนรายได้จะมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ใช้บริการด้วย
อย่างเช่นในปี 2563 เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันของทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดง–ดอนเมือง อยู่ที่ 58,140 คันต่อวัน ลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 92,914 คันต่อวัน
และช่วงดอนเมือง–อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อยู่ที่ 37,143 คันต่อวัน จากเดิมปี 2562 ที่มีจำนวน 54,376 คันต่อวัน ด้วยปัจจัยเป็นปีที่ปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันถือเป็นจุดต่ำสุด
ทำให้มีรายได้เพียง 2,063 ล้านบาท
ในขณะที่ปี 2562 มีรายได้ถึง 2,859 ล้านบาท
ความท้าทายที่สำคัญของบริษัทนี้คือโครงการทางยกระดับดอนเมืองนั้นภายใต้สัญญาสัมปทานปัจจุบันที่จะหมดลงในวันที่ 11 กันยายน 2577
เท่ากับยังมีเวลาบริหารอยู่อีก 13 ปี โดยผู้บริหารมั่นใจมากว่าหลังจากเป็นผู้บริหารมานานตั้งแต่ปี 2532 คาดว่าจะได้รับสัมปทานต่อไปแน่นอน
ในขณะเดียวกันก็ยังเตรียมพร้อมที่จะประมูลโครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอื่น ๆ อีกเช่น ช่วงรังสิต-บางปะอิน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว เส้นทางหลักสู่ภาคใต้
รวมถึงแผนขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ธุรกิจหรือโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในจุดพักริมทางหลวงและทางหลวงสัมปทาน (Rest Area) เป็นต้น
DMT จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระคืนหนี้สิน และใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงาน
เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของธุรกิจจากกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่น่าสนใจ
ส่วนจะเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจแค่ไหน คึกคักหรือไม่ อีกไม่นานคงรู้กัน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



