Specialty Coffee หรือ กาแฟพิเศษ เป็นคำสากล ที่ใช้เรียกกาแฟที่ได้รับการทดสอบจากนักชิมกาแฟ (Cupper หรือ Q Grader) ว่าเป็นกาแฟที่มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ และต้องได้ 80 คะแนนขึ้นไป ฉะนั้นต่อให้เป็นกาแฟที่นำเข้า ราคาสูง ชื่อพรีเมียม แต่ถ้าได้คะแนนต่ำกว่า 80 คะแนน ก็ถือว่ายังไม่เป็นกาแฟพิเศษ

ทำไมถึงต้องมีกาแฟพิเศษ?

เล่าให้ฟังก่อนว่ากาแฟพิเศษเริ่มมาจากสหรัฐอเมริกา ด้วยความที่คนอเมริกันบริโภคกาแฟมาก ทำให้เจอกาแฟห่วยเยอะ จนทนไม่ไหว เกิดการพัฒนาการปลูก การผลิต การคั่ว การทำกาแฟให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงมีการก่อตั้งสมาคมกาแฟพิเศษสหรัฐฯ (SCAA) เพื่อให้คะแนนร้านกาแฟ เมล็ดพันธ์ุ รวมถึงพัฒนาคุณภาพกาแฟของตลาดให้ดีขึ้นด้วย

โดยสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 จากการรวมกลุ่มของผู้มีประสบการณ์ทางด้านกาแฟ เพื่อสร้างความเข้าใจในคุณภาพของกาแฟที่ดีและให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดกาแฟไทย


ตลาดกาแฟไทย

เมื่อคำนวณข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า มูลค่าของกาแฟพิเศษอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางของกาแฟพิเศษในไทยนั้นยังใหม่มาก เพราะสมาคมก็พึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2556 ปัจจุบันการทานกาแฟพิเศษนั้นยังอยู่แค่ในกลุ่มคอกาแฟ คนส่วนใหญ่ก็ยังทานกาแฟเย็น ใส่นม ใส่วิปครีม กาแฟสำเร็จรูป แต่ด้วยความเข้าใจเรื่องกาแฟพิเศษมากยิ่งขึ้น เชื่อว่ามูลค่าตลาดกาแฟพิเศษน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

หากไปดูปริมาณการปลูก การผลิตกาแฟทั่วโลกจะเห็นว่าแค่ 5 อันดับแรกก็เกิน 50% ของตลาดแล้ว และ 2 ประเทศในนั้นคือเวียดนาม และอินโดนีเซีย สองประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟมากกว่า และที่สำคัญค่าแรงถูกกว่าไทย

ดังนั้นหนทางแก้ไม่ใช่แข่งด้านปริมาณ แต่เป็นด้านคุณภาพ

 

ความท้าทายของกาแฟพิเศษประเทศไทย มีอะไรบ้าง

1.ความรู้ของเกษตรกร (Know How)

ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยเริ่มปลูกกาแฟทดแทนการปลูกฝิ่นในภาคเหนือ ซึ่งก็สามารถปลูกได้ผลผลิตดี แต่มาตรฐานการผลิตโดยรวมนั้นยังไม่ได้ ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูกต้นกาแฟ การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อรสชาติของกาแฟทั้งสิ้น ซึ่งกาแฟก็เหมือนผลผลิตทางเกษตรชนิดอื่นๆ คือต้องลงทุนระยะยาวถึงจะเห็นผล

ดังนั้นภาครัฐ ภาคเอกชน จึงต้องร่วมมือกันในการมอบความรู้ให้เกษตรกรไทย สามารถยกระดับการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพให้มากขึ้น

2.สายพันธ์ุกาแฟ (Species)

พันธ์ุกาแฟที่ปลูกในไทยปัจจุบันมีสองพันธุ์หลักๆ คือ Robusta สัดส่วนผลิต 67% ซึ่ง Robusta นั้นคือพันธุ์ที่ใช้ผลิตกาแฟสำเร็จรูป แต่ที่สำคัญจริงๆ อยู่ที่ Arabica ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ 33% กาแฟพันธ์ุนี้คือกาแฟที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ราคาสูงกว่า และให้รสชาติที่ดีกว่า

ซึ่งเกษตรกรไทยส่วนใหญ่คิดว่าตนเองปลูกกาแฟพันธ์ุ Arabica Catimor แต่เมื่อเชิญให้นักชิมกาแฟระดับโลกมาชิมกลับพบว่ากาแฟไทยนั้นกลายพันธุ์ไปมาก แทบไม่เหลือของแท้ ซึ่งการไม่รู้พันธุ์ที่แท้จริงนั้น ทำให้ไม่สามารถดูแลต้นกาแฟ และพัฒนาคุณภาพได้เต็มที่

เช่นเคยภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องเก็บข้อมูลให้ได้ ว่ากาแฟแต่ละที่นั้นเป็นพันธ์ุอะไรบ้าง และลงทุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำสายพันธุ์ที่ดีกว่ามาปลูกในไทย เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าพัฒนาการผลิตและการปลูกจนครบทุกด้าน แต่พันธุ์ยังเหมือนเดิมก็ไม่สามารถก้าวสู่รสชาติใหม่ คุณภาพใหม่ได้

3.ความเข้าใจของผู้บริโภค (Understanding)

ผู้บริโภคเป็นความท้าทายสำคัญของผู้ผลิตกาแฟ พูดกันตรงๆ คนไทยดื่มกาแฟเย็น กาแฟปั่น ผสมนม ผสมครีม ซึ่งทำให้ไม่เข้าถึงรสชาติ และความสุนทรียภาพของกาแฟ ดังนั้นหน้าที่ของสมาคม ของผู้ผลิตกาแฟ ก็คือการอธิบาย การนำเสนอกาแฟพิเศษให้ผู้บริโภค จากนั้นก็ต้องรอเวลาเพื่อให้ตลาดปรับตัว

ซึ่งนายกอภิชา แย้มเกษร นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวว่าการทานกาแฟนั้นไม่ได้มีโทษเยอะอย่างที่คิด เพราะคนหนึ่งคนไม่ได้ทานกาแฟดำวันละ 5 แก้ว โรคเบาหวานจากการเติมน้ำตาล เติมนมข้นหวาน ยังน่ากลัวมากกว่า ฮ่าๆๆ

 

หากใครที่อยากสัมผัสกาแฟพิเศษที่แท้จริง อยากดูนวัตกรรมการผลิตกาแฟ รับฟังความรู้ดีๆ เรื่องกาแฟ หรือแค่อยากชิมกาแฟหอมๆ ขอเชิญมาร่วมงาน Thailand Coffee Fest 2017 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2560 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online