ยอดขาย Ikea เท่าไร ? ทำไมจึงกล้าเปิดสาขา 4 ที่ Emsphere (วิเคราะห์)
นับจากวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่อิเกีย แบรนด์ห้างเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจากสวีเดนเปิดสาขาแรกในประเทศไทย ที่บางนา
ในวันนี้อิเกียประกาศเปิดสาขาใหม่อย่างเป็นทางการ ที่ Emsphere ย่านพร้อมพงษ์ สุขุมวิท ซึ่งเป็นสาขาแห่งที่ 4 ในประเทศไทย
เรามองว่าสิ่งที่ทำให้อิเกียมั่นใจในการเปิดสาขา 4 มาจากการมองเห็นโอกาสทางการตลาดจากการเติบโตด้านรายได้ในประเทศไทย
แม้ช่วงเวลาโควิด-19 ที่ผ่านมา อิเกียจะประสบกับการปิดให้บริการ จากมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมการระบาดของโควิด-19 จากภาครัฐ
แต่ถ้ามองที่การเติบโตของรายได้ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ยอดขาย Ikea เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผลประกอบการนี้มาจาก บริษัท อิคาโน่ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์อิเกีย รายงานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2555 รายได้รวม 2,692.27 ล้านบาท ขาดทุน 225.98 ล้านบาท
2556 รายได้รวม 3,364.02 ล้านบาท กำไร 28.28 ล้านบาท
2557 รายได้รวม 1,401.98 ล้านบาท กำไร 65.23 ล้านบาท
2558 รายได้รวม 4,368.87 ล้านบาท กำไร 113.05 ล้านบาท
2559 รายได้รวม 4,759.27 ล้านบาท กำไร 302.37 ล้านบาท
2560 รายได้รวม 4,766.95 ล้านบาท กำไร 252.52 ล้านบาท
2561 รายได้รวม 5,946.36 ล้านบาท กำไร 51.84 ล้านบาท
2562 รายได้รวม 6,154.43 ล้านบาท กำไร 133.00 ล้านบาท
2563 รายได้รวม 5,642.80 ล้านบาท กำไร 337.43 ล้านบาท
ในปีที่ผ่านมาอิเกียมีทราฟิกผู้ใช้บริการในสาขาโดยเฉลี่ยสาขาละ 13,000 คน ในวันธรรมดา 33,000 ต่อวันในวันหยุด และมีผู้ใช้บริการสั่งสินค่าผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ย 80,000 คนต่อวัน
และมีฐานลูกค้าผ่านโปรแกรมสมาชิกอิเกียแฟมิลี่ 800,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่อิเกียสามารถต่อยอดไปยังรายได้ใหม่ ๆ ได้
ซึ่งที่ผ่านมาเรามองว่าอิเกียเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของจำนวนสาขาที่มีจำนวนเพียง 3 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 2 สาขา และภูเก็ต 1 สาขา
และสาขาในกรุงเทพฯ ยังเป็นสาขาที่อยู่ค่อนข้างไกลจากใจกลางเมือง เพราะมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และอื่น ๆ ทำให้ลูกค้าอิเกียบางกลุ่มที่อยู่ไกลจากทำเลที่ตั้งอาจจะเข้าไปใช้บริการในอิเกียในความถี่ที่ต่ำ ซึ่งการที่เข้ามาใช้บริการในความถี่ที่ต่ำจะทำให้อิเกียพลาดโอกาสในการสร้างรายได้จากกลุ่มนี้ไป เพราะอย่างน้อยเมื่อลูกค้าเข้ามาเดินเล่นแม้ไม่มีสินค้าที่ต้องการอย่างชัดเจนอยู่ในใจ ก็ยังมีโอกาสในการซื้อสินค้าจากการเข้ามาเดินและเห็นสินค้าวางอยู่ในสโตร์ หรือมานั่งรับประทานอาหารในส่วนของร้านอาหารอิเกีย เป็นต้น
นอกจากนี้ ลูกค้าบางกลุ่มเลือกที่จะไปเดินซื้อสินค้าในร้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านอื่น ๆ ที่เดินทางสะดวกแทน
และบางกลุ่มเลือกที่จะสั่งสินค้าอิเกียผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งช่องทางออนไลน์นี้เรามองว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการขนส่ง และเมื่อลูกค้าซื้อออนไลน์อิเกียอาจจะพลาดโอกาสในการขายจากอารมณ์ร่วมของลูกค้าเมื่อเข้ามาเดินในสโตร์และเห็นสินค้าต่าง ๆ จัดเรียงให้เห็นภาพการใช้งานอีกด้วย
เมื่อพูดถึงอิเกียแล้ว ขอเล่าประวัติสั้น ๆ ของแบรนด์อิเกียให้ฟังหน่อยว่า อิเกีย (IKEA) มีชื่อแบรนด์มาจาก
I – Ingvar ชื่อของผู้ก่อตั้ง
K – Kamprad นามสกุลของผู้ก่อตั้ง
E – ชื่อฟาร์มที่ Ingvar พักอาศัย
A – ชื่อหมู่บ้านที่ Ingvar เติบโตมา
แรกเริ่มธุรกิจ อิเกีย ไม่ได้ขายเฟอร์นิเจอร์ แต่ขายสินค้าเบ็ดเตล็ดอย่างปากกา กระเป๋าสตางค์ กรอบรูป ผ้าคาดโต๊ะ นาฬิกา เครื่องประดับ และถุงน่อง ในราคาย่อมเยา จากการมองเห็นความต้องการในตลาด
และปรับเปลี่ยนเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ในปี 2491 จากการมองเห็นช่องว่างคนทั่วไปไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ดี มีดีไซน์สวย เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง และมีการนำแค็ตตาล็อกเฟอร์นิเจอร์มาใช้ในการขายในปี 2494
ในอดีตร้านเฟอร์นิเจอร์อิเกียยังจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบปกติ จน Ingvar เกิดไอเดียขายเฟอร์นิเจอร์ประกอบเองจากการเห็นพนักงานที่ร้านถอดขาโต๊ะที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถใส่เข้าไปในรถได้
และจุดนี้เองทำให้ Ingvar เริ่มวิธีขนส่งเฟอร์นิเจอร์ให้สะดวกขึ้น ด้วยการนำชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ใส่กล่องแบน ๆ พร้อมวิธีประกอบเพื่อให้ลูกค้าซื้อนำไปประกอบเอง
ซึ่งเป็นการลดพื้นที่จัดเก็บสินค้าและสะดวกในการขนส่งมากขึ้น
และวิธีการขายเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบนี้อิเกียนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



