Brother กับการดำเนินธุรกิจควบคู่ความยั่งยืน นโยบายต้องชัดและพนักงานทำด้วยใจ
นอกจากพาร์ตของธุรกิจ บราเดอร์ (Brother) คืออีกหนึ่งแบรนด์ที่มีแคมเปญหรือกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมออกมาให้เราเห็นอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นโครงการอาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลนที่ทำติดต่อกันนาน 13 ปี หรือกิจกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ผ่านโปรเจกต์วิ่งการกุศล Brother Beat Cancer Run ที่ทำมาตลอด 7 ปี ตลอดจนการเข้าร่วมโครงการ
อีโค่บริกส์ (Ecobricks) และการเดินหน้าสู่การเป็น “สำนักงานสีเขียว” (Green Office) อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่บราเดอร์ ‘ทำ’ ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ
ที่น่าสนใจมากกว่ากิจกรรมหรือแคมเปญที่กล่าวมา คือ การลงมือทำอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง
เป็นที่มาของการเดินทางมาพูดคุยกับ ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ถึงแนวคิด มุมมอง เรื่องความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่เป็น Global Brand อย่าง บราเดอร์ (Brother)
นโยบายที่ชัดเจนและครอบคลุม
ด้วยความที่เป็น Global Brand ข้อดีคือการมีนโยบายหลักที่ชัดเจน บริษัทบราเดอร์เองก็เช่นกัน ภายใต้นโยบายการดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชนท้องถิ่นซึ่งถือเป็นหนึ่งในปรัชญาการดำเนินธุรกิจตามพันธสัญญาสากล (Global Charter) ของกลุ่มบริษัทบราเดอร์ ระบุชัดเจนว่าการดำเนินธุรกิจนั้นจะต้องใส่ใจ Stakeholder ทั้ง 6 กลุ่ม
“ย้อนกลับไปปี ค.ศ. 1999 Brother Head office มีการจัดทำพันธสัญญาสากล (Global Charter) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจให้กับพนักงานบราเดอร์ทั่วโลก หนึ่งในข้อปฏิบัติที่ว่าจะมีส่วนหนึ่งคือ เราต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 6 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น พนักงานบริษัท คู่ค้าทางธุรกิจ ลูกค้า สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่นที่บราเดอร์ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทบราเดอร์ในแต่ละประเทศจะต้องมีแคมเปญหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริม 2 ส่วนคือ สังคม และสิ่งแวดล้อมทุก ๆ ปี ซึ่งจะมีการจัดประกวดภายใน Global Charter Practice Award จากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นทุก ๆ ปีเช่นกัน”
สำหรับบราเดอร์ประเทศไทย ธีรวุธเล่าว่าได้รับรางวัล Global Charter Practice Award อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากไม่ใช่แค่เพียงกิจกรรมภายในที่ทำเฉพาะพนักงาน แต่เปิดโอกาสให้ Stakeholder กลุ่มอื่น ๆ รวมไปถึงคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
“บราเดอร์ไม่ได้ต้องการทำธุรกิจเพื่อยอดขายและผลกำไรเท่านั้น แต่เราต้องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งบราเดอร์มองเห็นและให้ความสำคัญมาตั้งแต่แรกเริ่มธุรกิจ เราทำมาตั้งแต่ต้น และทำอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด”
ทำให้เป็นรูปธรรม
เมื่อถามถึงเทรนด์ของความยั่งยืน ธีรวุธให้ความเห็นว่า เทรนด์เรื่องความยั่งยืนไม่เคยเปลี่ยน สิ่งที่เปลี่ยนคือทิศทาง กิจกรรม และบริบทของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ตรงนี้บราเดอร์ประเทศไทยเองชัดว่า ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่ลงมือทำและต้องทำต่อเนื่องนั่นคือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน และโปรเจกต์วิ่งการกุศล Brother Beat Cancer Run
“ประเทศไทยพื้นที่ส่วนหนึ่งติดทะเล ป่าชายเลนคือด่านปราการที่ช่วยลดปัญหาการกัดเซาะผืนดินชายฝั่ง ที่สำคัญคือเป็นระบบนิเวศสำคัญของธรรมชาติ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์อนุบาลสัตว์น้ำ เราจึงตั้งใจที่จะปลูกป่าชายเลนทุก ๆ ปี และที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกปีนั่นเพราะ ในการปลูก 1 ครั้งโอกาสรอดของต้นไม้มีเพียง 40% อย่าลืมว่าคลื่นซัดทุกวัน การปลูกเพียงครั้งเดียวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เราต้องกลับไปดูแลและปลูกเพิ่มให้มากพอ ขนาดเราปลูกมาต่อเนื่อง 13 ปี ไปอีกทีก็ยังคงมีที่ปลูกให้ดูแลอยู่ดี เราเลือกที่จะดูแลตรงนี้ก็ต้องทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ”
ด้านสังคมหรือชุมชนท้องถิ่น บราเดอร์ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นทำโปรเจกต์วิ่งการกุศล Brother Beat Cancer Run เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ก็ได้มีการปรับรูปแบบเป็นการเปิดรับบริจาคเพื่อนำเงินมอบแก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ กองทุนมะเร็งโลหิตวิทยาผู้ใหญ่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ
“บ้านเรามีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษาอยู่ ซึ่งเงินบริจาคที่ได้รับจากโครงการ Brother Beat Cancer Run ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในกองทุนมะเร็งโลหิตวิทยาผู้ใหญ่ได้ถึง 590 คน กิจกรรมนี้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้และมีคนเข้ามา ‘ช่วย’ ทั้งวิ่ง ทั้งร่วมบริจาคมากขึ้น ๆ ในทุกปี”
นอกจากสองกิจกรรมหลักที่ทำอย่างต่อเนื่องแล้ว บราเดอร์ยังเดินหน้าสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม ตั้งแต่การเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 กับกลุ่ม ‘เส้นด้าย’
หรือการเข้าร่วมโครงการ “พลาสอิฐ” หรือ “อีโค่บริกส์” (Ecobricks) การนำเอาเศษขยะชิ้นเล็ก ๆ ที่ไม่เน่าเปื่อย เช่น ซองพลาสติก ถุงขนม หลอด เปลือกลูกอม ฯลฯ ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ มาบรรจุลงในขวดพลาสติกจนแน่น ทากาวให้ขวดติดกันเป็นบล็อก แล้วจึงนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างแทนก้อนอิฐ รวมถึงการเดินหน้าสู่การเป็น “สำนักงานสีเขียว” (Green Office) อย่างเต็มรูปแบบ
“นอกจากกิจกรรมภายนอกแล้ว เพื่อให้ได้ผลัพธ์ที่ดีเราต้องมีกิจกรรมรณรงค์ภายในองค์กรด้วยเช่นกัน Green Office คือส่วนหนึ่งของการปลูกจิตสำนึกของคนในองค์กรให้เห็นถึงความสำคัญของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมในสำนักงานเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งลดปริมาณขยะ ผ่านกลยุทธ์ 3Rs คือ การลดการใช้ทรัพยากร (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยในปีที่ผ่านมาเราได้รับรางวัล Gold Award มาครองได้สำเร็จ”
แม้บราเดอร์กรุ๊ปจะมีวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2050 ที่ชัดเจนคือ ดำเนินธุรกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs (Sustainable Development Goals) แต่การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรให้ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนในยุคปัจจุบันนั้นนับเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่ใช่น้อย ธีรวุธให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า
“สิ่งที่ท้าทายคือสำหรับผมคือ ทำอย่างไรให้การตระหนักถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมติดตัวพนักงานและทุกคนในสังคม ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ออฟฟิศแล้วคุณถึงจะทำ 3Rs ถึงจะช่วยเหลือสังคม อยากให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นพฤติกรรมที่คำนึงถึงและลงมือทำในทุก ๆ ที่ เป็นพฤติกรรมติดตัวของทุกคน นี่คือเรื่องที่ท้าทาย และเรากำลังทำอยู่
“เรื่องความยั่งยืนจะสำเร็จได้อย่างแรกเลย Direction ของบริษัทต้องชัดเจน ผู้บริหารทุกคนต้องลงมือทำ และพนักงานต้องทำด้วยใจ สุดท้ายคือ การเปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ มีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ ลูกค้า ชุมชน ทุกคนต้องช่วยกัน” ธีรวุธกล่าวทิ้งท้าย
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



