เป็นธรรมดาขององค์กรใหญ่ที่ข่าวการเปลี่ยนผู้บริหารย่อมได้รับความสนใจ แต่ข่าวการขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอ Google ของ Sundar Pichai เมื่อ 15 สิงหาคม ความสนใจถูกยกระดับขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นข่าวของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังที่เกิดขึ้นท่ามกลางการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ และที่สำคัญนี่คือชาวอินเดียคนล่าสุดที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้บริหารองค์กรเทคโนโลยีระดับโลก ถัดจาก Satya Ndella ซีอีโอ Microsoft และ Shantanu Narayen ประธานฝ่ายบริหารของ Adobe System
Pichai เกิดเมื่อปี 1972 ที่เมืองเชนไน รัฐทมิฬนาฑู บิดาเป็นวิศวกรระบบไฟฟ้าบริษัทอังกฤษ ส่วนมารดาเป็นอดีตนักเชาวเลขที่ลาออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ความยากจนบังคับให้สมาชิกครอบครัวทั้ง 4 (Pichai มีน้องชายอีกคน) ต้องอาศัยอยู่ด้วยกันให้ห้องเช่ารังหนู โดยที่พ่อต้องเก็บเงิน 3 ปีกว่าจะมีจักรยานยนต์คันแรกไว้ใช้และกว่าจะคนในบ้านจะโทรศัพท์เครื่องแรกใช้กัน Pichai ก็อายุ 12 ปีแล้ว
ราชาองค์ใหม่บนบัลลังก์ Search Engine ของเหล่า Googler (พนักงาน Google) มีนิสัยไฝ่รู้ทางคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก โดยพ่อของเขาเล่าว่าลูกชายคนโตมักจะสอบถามถึงงานในโรงงานทุกคืน ทั้งที่เป็นเรื่องทางเทคนิคเกินความรู้ของเด็กวัยเดียวกัน ความไฝ่รู้ทำให้ Pichai มีผลการเรียนดีอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโลหการจาก Indian Institute of Technology Kharagpur โดยอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้เขาสอบชิงทุนปริญญาโทสาขาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมที่ Stanford มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ
แน่นอนว่าคนหัวดีอย่าง Pichai สอบชิงทุนมหาวิทยาลัยชื่อดังเมืองลุงแซมแห่งนี้ได้ได้แต่ความยากจนที่ยังตามมารังควานทำให้พ่อต้องไปกู้ยืมเงินและนำเงินเก็บของครอบครัวออกมาเพื่อให้ซื้อตั๋วเครื่องบินและให้ Pichai ติดตัวไว้เป็นค่าใช้จ่ายการสำหรับการไปศึกษาต่อและใช้ชีวิตในต่างแดน
หลังเรียนจบเขาได้งานแรกเป็นวิศวกรใน Applied Materials บริษัทผู้ผลิตอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ต่อด้วยที่ปรึกษาฝ่ายบริหารของ Mckinsey & Company จนถึงปี 2004 จึงได้ทำงานกับ Google ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ รับหน้าที่ดูแลการพัฒนา Toolbar เพื่อให้ใช้งานและเข้าถึงหน้าเว็บค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น
Sundar Pichai ราชาผู้อยู่เบื้องหลัง Chrome
หลัง Toolbar ประสบความสำเร็จ Pichai เสนอที่จะพัฒนา Chrome ให้เป็น Browser ของ Google แม้จะถูกทัดทานจาก Eric Schmidt ซีอีโอในขณะนั้น แต่เมื่อเปิดตัวในปี 2008 ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก(ปัจจุบันครองสัดส่วน Browser 1 ใน 3บนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วโลก)
จากนั้นเขาก็มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง Larry Page และ Sergey Brin สองผู้ร่วมก่อตั้งมอบหมายงานสำคัญให้ทำอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบปฏิบัติการ Chrome ,Chromebook คอมพิวเตอร์แบบพกพาราคาย่อมเยา การเปิดตัว Google Drive ระบบจัดเก็บข้อมูลบน Cloud และการบริหารจัดการ Google Map บริการแผนที่ดิจิตอลผ่านระบบ GPS
อย่างไรก็ตาม การดูแลระบบปฏิบัติการ Android ต่อจาก Andy Rubin คืองานที่สร้างชื่อให้ Pichai มากสุด เพราะต้องรับมือกับทั้งอัตตาของทีมงานหัวกะทิและความต้องการที่ไม่รู้จักหมดสิ้นของค่ายมือถือดังอย่าง Samsung
ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ Twitter และ Microsoft อยากได้ตัวเขาไปผู้บริหาร แต่ที่สุดเขาก็อยู่ต่อจนได้ขึ้นเป็นซีอีโอ Google ภายใต้ชายคา Alphabet บริษัทแม่ซึ่งถูกตั้งขึ้นใหม่เพื่อความสะดวกในการบริหารหลังกิจการด้านด้านเทคโนโลยีมีขยายขอบเขตออกไปนอกขอบเขตSearch Engine
Page ยกให้เขา Pichai เป็นมือขวาเพราะความรู้ใจ จดจำข้อมูลเชิงลึกที่แม่นยำและสามารถอธิบาย Project ใหม่ๆเต็มไปด้วยได้ศัพท์เชิงเทคนิคให้นักลงทุนเข้าใจง่าย
ขณะที่คนใน Googleplex ต่างรู้จักชายอินเดีย 43 ปีผู้นี้ในฐานะ Mr.Niceguy พูดน้อย ดูเป็นมิตร ใจเย็น เน้นเจรจามากกว่าปะทะคารมให้แตกหักและเป็นรักของเพื่อนร่วมงาน
ส่วนตัวเขาเองตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Google ให้ใช้ง่ายและเข้าถึงคนทั่วโลกทุกกลุ่ม ไม่ว่าเป็นชาวนายากจนในชนบทห่างไกลหรือมหาเศรษฐีพันล้านในคฤหาสน์หรู
สำหรับสาเหตุที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกพร้อมใจกันแต่งตั้งชาวอินเดียขึ้นเป็นผู้บริหารนั้น สื่อ “แดนภารตะ” วิเคราะห์ว่ามาจาก พื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีกว่าชาวเอเชียชาติอื่น ความมุ่งมั่นอยากผลักดันตัวเองให้พ้นความยากจน เข้าใจตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่จบการศึกษาด้านวิศวกรรม และความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมงานมากกว่าผู้บริหารชาวตะวันตก
ที่มา : forbes.com ,wikipedia.com ,theverge.com และ dailyo.in
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ