ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 100 ปี ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG คือการเป็นองค์กรนวัตกรรมที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการต่างๆ คู่กับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมของ SCG ไม่ได้หมายความแค่เพียงคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดของบริษัทเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการสร้างสมดุลระหว่างผู้คนในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตควบคู่กันและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ในโลกแห่งการแข่งขัน การทำวิจัยและพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิผล นำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือ High Value Added Products and Services (HVA) แต่ประเทศไทยมีการใช้งบประมาณทางด้านนี้เพียง 0.47% ของจีดีพีในปี 2556 และคาดการณ์ในปี 2558 น่าจะอยู่ที่ 0.7% โดยได้ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2559 ต้องถึง 1% เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ขณะนี้มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัย 1% ของจีดีพี จีน 2% ของจีดีพี

เอสซีจี เป็นองค์กรหนึ่งของประเทศไทยที่ได้ทุ่มงบประมาณในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ปี 2558 ทุ่มงบ R&D 5 พันล้านบาท

กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า เป้าหมายของการเป็นองค์กรนวัตกรรม ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอด แต่เพื่อสร้างสรรค์สินค้าที่มีจุดต่างจากคู่แข่งและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเพื่อความเป็นผู้นำ ไม่ใช่เฉพาะตลาดในเมืองไทย แต่คาดหวังให้เป็นบริษัทชั้นนำในอาเซียนและตลาดโลกด้วย

ปีที่แล้วเอสซีจีใช้งบประมาณทางด้านวิจัยและพัฒนา 2,700 ล้านบาท คิดเป็น 0.6 % ของยอดขาย ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่สัดส่วนการวิจัยขยับขึ้นมาเป็น 1% ของยอดขายหรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 4,890 ล้านบาท (ปี 2557 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 487,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 33,615 ล้านบาท ) โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำยอดขายของสินค้า HVA สูงถึง 50% ของยอดขายสินค้าทั้งหมด

เมื่อปี 2547 เอสซีจีใช้เงินเพื่องานวิจัยเพียง 40 ล้านบาท และสร้างยอดขายสินค้า HVA ที่ 7,000 ล้านบาท ในปี 2557 เอสซีจีมียอดขายสินค้า HVA 169,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อน และคิดเป็น 35% ของยอดขายรวม

พร้อมๆ กับเพิ่มทีมงานทางด้านวิจัยและพัฒนาจาก 364 คนเป็น Phd 9 คน ในปี 2547 เป็น 1,519 คน เป็น Phd 101 คนในปี 2557

ความสำเร็จนี้ เป็นผลจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเอสซีจีที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างจริงจัง สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ

มุ่งมั่นสร้างคน

พร้อมๆ กับการทำ R&D การเคี่ยวกรำทำความเข้าใจเรื่องนวัตกรรมเลยเกิดขึ้นอย่างหนัก  เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีในการทำงานของคนเอสซีจีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กลายเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญในการส่งต่อองค์กรไปในศตวรรษหน้า

            ในปี 2547 เอสซีจีประกาศว่าจะต้องเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม มีการเปิดงาน Innovation : Change For Better Tomorrow เพื่อกระตุ้นการตื่นตัวของพนักงานให้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร

            กานต์ กล่าวว่า แนวทางในการสร้างคนมี 3 เรื่องหลักคือ

1. เปลี่ยน  Mindset  พนักงานใหม่ผ่านหลักสูตร SCG Ready Together  คำว่าองค์กรนวัตกรรม และปลูกฝังในเรื่องอุดมการณ์ 4 ที่ทุกคนต้องยึดมั่นเป็นแนวทางในการทำงาน คือการตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ  เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และรับผิดชอบสังคม   และได้ถูกตอกย้ำเพิ่มอีก 2 เรื่องคือ Open  การเปิดใจตั้งใจรับฟังผู้อื่น และ Challenge   คือการไม่ยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิมๆ กล้าคิดอะไรที่แตกต่างที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

2. ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องใน ปี 2557 มีงบประมาณเรื่องคนสูงกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการศึกษาต่อการอบรมทั้งในและต่างประเทศ แต่ละปีบริษัทมีทุนให้นักเรียนไปเรียนปีละ 92 ทุน ทั้งทางด้านเอ็มบีเอและทางด้านเทคโนโลยี

ในเรื่องของหลักสูตรอบรมที่มีอยู่ยังทำอย่างเข้มข้นต่อไป แต่วิธีการเรียนรู้จะเปลี่ยนไปให้เหมาะกับการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น

นอกจากหลักสูตรต่างๆ ในการพัฒนาคนแล้ว กานต์ยังกล่าวว่าทางด้าน HR และเรื่องเทรนนิ่งโปรแกรมที่ว่าดีแล้วยังต้องมารื้อใหม่หมดเพื่อพัฒนาตัวเองให้ Excellent จริงๆ

เขาตั้งเป้าไว้ว่า ในปี  2561 เอสซีจีจะต้องมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 1,600 คน เป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอกกว่า 170 คน ใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 5,600 ล้านบาท

3. เตรียมรับมือกับคน Gen Y ปัจจุบัน เอสซีจีมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 4.7 หมื่นคน เป็น Gen Y 34% อีก 5 ปี ข้างหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 53%  

เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งขององค์กรที่จะต้องหาวิธีการทำงานร่วมกันกับคนกลุ่มนี้ โดยขณะนี้เอสซีจีกำลังทำการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “Gen Y Pattern of Work” เพื่อให้ทราบทัศนคติของ Gen Y   ที่มีต่อการทำงานในองค์กร รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ต้องการจากองค์กร และความมุ่งหวังในการเติบโตในอนาคต

SCG

Go Regional & HVA

   “ยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งเครือยังมีอยู่เพียง 2 เรื่องคือ 1. Go Regional เพื่อสร้าง Growth และ 2. Higher Value Added ที่ต้องมี Integration” กานต์กล่าวย้ำ

Go Regional ของ SCG เพื่อผลิตสินค้ารองรับความต้องการของตลาดในอาเซียน อยู่ที่การเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในประเทศต่างๆ ของอาเซียน นอก

เหนือจากการส่งสินค้าไทยออกไปอาเซียนด้วย  เช่น  การตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในอินโดนีเซียและกัมพูชา ขณะที่โรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศเมียนมาร์และ สปป. ลาว คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ รวมถึงโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในประเทศเวียดนามมีความคืบหน้าตามแผน

แผนลงทุน 5 ปีดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันให้สินทรัพย์รวมของ SCG มีมูลค่ารวมมากกว่า 6 แสนล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31ธันวาคม 2557 มีมูลค่า 465,823 ล้านบาท

ส่วนกลยุทธ์ที่ดำเนินคู่ขนานกันไปคือให้ความสำคัญของสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม Higher Value Added (HVA) โดยเฉพาะในกลุ่มเคมิคอลส์ โดยจะใช้งบกว่า 2.1 พันล้านบาทของงบวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของเอสซีจี และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 14 รายการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากว่า 120 ประเทศทั่วโลก

เอสซีจี เคมิคอลส์ มียอดขายสินค้า HVA ในปี 65,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2556 และในปี 2558 ตั้งเป้าสัดส่วนสินค้า HVA ร้อยละ 29 (ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 27)
               ในปี 2557 เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรรวม 93 สิทธิบัตร ซึ่งเป็นการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังมีนวัตกรรมครอบคลุมสินค้า บริการหลายหลากประเภท ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น นวัตกรรมวัสดุนาโน เพื่อนำไปผลิตสินค้า HVA หลากหลายประเภทด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ใช้ปริมาณเม็ดพลาสติกน้อยลง นวัตกรรมสินค้า T.U.X™ ฟิล์มพลาสติกชนิดพิเศษ ที่มีความใสและปิดผนึกได้ดี เหมาะสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร ทำให้สินค้าภายในสะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย เช่น นวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม การคิดค้นหุ่นยนต์อัจฉริยะ เข้าทำงานในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก และไม่ปลอดภัยแทนการใช้คน

เอสซีจี ยังเดินหน้าลงทุนเพื่อการเป็นผู้นำด้านสินค้านวัตกรรมและการบริการแบบครบวงจรของธุรกิจกระดาษ โดยล่าสุด บริษัท ทีซี เฟล็กซิเบิ้ลแพคเกจจิ้ง จำกัด ในเอสซีจี เปเปอร์ ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมในบริษัทพรีแพค ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเฟล็กซิเบิ้ลแพคเกจจิ้ง (Flexible Packaging) บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุประเภทพลาสติก ใช้บรรจุสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภค

เอสซีจี ซิเมนต์และก่อสร้าง เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งซึ่งมีนวัตกรรมสินค้าวัสดุก่อสร้างหลายหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นสินค้ากลุ่มกระเบื้องหลังคา ฝ้าและผนัง ฉนวนกันความร้อน ฉนวนกันเสียง กระเบื้องเซรามิก สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำ ภายใต้แบรนด์ตราช้าง และคอตโต้ ซึ่งกำลังสร้างชื่อในตลาดโลกเป็นสินค้าที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องของการดีไซน์และเป็นผู้นำเทรนด์

การนำเอาเรื่องนวัตกรรมมาใช้กับสินค้า  Commodity ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเอสซีจี ซิเมนต์ จากสินค้าหลักที่มีอยู่ 2 แบรนด์คือ “ตราช้าง” และ “ตราเสือ” ปัจจุบันมีซิเมนต์ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 30 ตัว เช่น ซิเมนต์ที่แห้งเร็ว แข็งตัวเร็ว ปูนซิเมนต์เปลี่ยนสีได้ ปูนซิเมนต์เรืองแสง รวมทั้งได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ เช่น  Goncrete Fabric (ผ้าใบคอนกรีต) คอนกรีตซ่อมแซมตัวเอง ปูนซีเมนต์ผสมน้ำทะเลที่ถูกคิดค้นเพื่อรองรับระบบคมนาคมแห่งอนาคต

 “วันนี้ นวัตกรรมของเอสซีจีอยู่รอบๆ ตัวเรา”

 

เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล 

อ่านเนื้อหาเต็มๆ ได้จาก Marketeer ฉบับที่ 181 เดือน มีนาคม

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน