ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นร้อนจากฝั่งแวดวงการเงินการธนาคารของอเมริกาให้ผู้คนทั่วโลกได้ติดตาม ซึ่งเรื่องที่ใหญ่และด่วนมากนั่นก็คือ การที่ Regulator ของฝั่งอเมริกาสั่งให้ธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ปิดทำการชั่วคราว สาเหตุมาจากการที่ผู้ฝากเงินพากันถอนเงินจนธนาคารมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
วันนี้เราจะมาสรุปสาเหตุที่มาที่ไปของเหตุการณ์ดังกล่าว และการคาดการณ์ของหลายฝ่ายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์คล้ายกับในปี 2008 ที่ระบบการเงินของอเมริกาล้ม จนต้องยืมมือรัฐบาลเข้ามาอุ้มธนาคารหลายธนาคารหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างรอยแผลเป็นฝากไว้กับประวัติศาสตร์การเงินของอเมริกาและชาวโลกอย่างไม่มีวันลืม
ปัญหาเริ่มจากตรงไหน
SVB เป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริษัทสตาร์ทอัปในซิลิคอนวัลเลย์ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าบริษัทสตาร์ทอัปที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่นั้นสถานะทางการเงินยังไม่แข็งแรง ดังนั้น SVB จึงทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงที่คอยให้เหล่าบรรดาสตาร์ทอัปกู้ยืมในขณะที่ธนาคารอื่น ๆ ไม่เต็มใจที่จะให้กู้ สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะมีสตาร์ทอัปเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันเมื่อต้องการกู้เงิน
ในช่วงที่บริษัทสตาร์ทอัปใน Silicon Valley เฟื่องฟูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา SVB ก็เติบโตรุ่งเรืองไปด้วยเช่นกัน ในช่วงนั้นลูกค้าของ SVB ยังไม่มีปัญหาทางการเงินแต่อย่างใด ตัวของ SVB เองพวกเขาก็ต้องการเงินเก็บมากกว่าที่จะปล่อยยืม
ดังนั้นเงินฝากของ SVB จึงเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าจาก 44,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2017 เป็น 189,000 ล้านดอลลาร์ ตอนสิ้นปี 2021 ในขณะที่บัญชีเงินกู้เพิ่มขึ้นจาก 23,000 ล้านดอลลาร์เป็นแค่เพียง 66,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก กล่าวคือ SVB มีทรัพย์สินที่สามารถนำไปหารายได้ (ดอกเบี้ย) ได้เกือบ ๆ 2 แสนล้านดอลลาร์ แต่พวกเขาปล่อยกู้ได้เพียง 6 หมื่นกว่าล้านเท่านั้น
และเนื่องจากธุรกิจธนาคารทำเงินจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้นการมีจำนวนเงินฝากที่มากกว่าเงินปล่อยกู้จึงไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์ SVB มองว่าพวกเขาน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ดังนั้น SVB จำเป็นต้องซื้อสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนมากกว่านี้ ซึ่งภายในสิ้นปี 2021 ธนาคารได้ลงทุน 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็น MBS หรือ Mortgage Backed Securities หรือพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วเงินคลัง (ตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกจำหน่าย)
จากนั้นโลกก็ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ทำให้ Venture Capital ได้รับความเสียหาย และทำให้ราคาตราสารหนี้ดิ่งลงไปด้วย ต้องบอกว่าในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำเงินฝากของ SVB ก็บวมเพราะพวกเขาเลือกที่จะไม่ปล่อยกู้ เพราะได้ผลตอบแทนน้อย ดังนั้นในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยต่ำธนาคารจึงได้เลือกลงทุนในพันธบัตรและซื้อในราคาที่สูงที่สุด
ปัญหาเริ่มมาเมื่อ SVB เริ่มเห็นเค้าลางเงินฝากเริ่มลดลงจากการที่บริษัทสตาร์ทอัปส่วนใหญ่เริ่มพากันมาถอนเงินไปในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แถมยังโตช้าจากการที่ Venture Capital ทั้งหลายเริ่มไม่สามารถระดมเงินทุนได้เหมือนช่วงที่สตาร์อัปรุ่งเรืองแถมกระแสเงินสดของ VC และบริษัท startup ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารเริ่มมีน้อยลงเพราะต้องใช้เงินมากขึ้นซึ่งสวนทางกับรายได้ที่ลดลง
เงินฝากของ SVB ลดลงจาก 189,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี 2021 เหลือ 173,000 ล้านดอลลาร์ ณ ช่วงสิ้นปี 2022 SVB จึงถูกบังคับให้ขายพันธบัตรที่มีสภาพคล่องทั้งหมดในราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อมา ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาลในราคาขายขาดทุนประเมินเป็นมูลค่ากว่า 1,800 ล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดช่องโหว่ขึ้นมา จนทำให้ SVB ต้องเร่งเพิ่มทุนเมื่อมูลค่าของสินทรัพย์ที่ธนาคารถืออยู่ลดลงเหลือ 91,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่า ณ สิ้นปี 2022
ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่าปัญหาของ Silicon Valley Bank จึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาไปซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือลงทุนซี้ซั้ว แต่เกิดจากปัญหาเรื่องสภาพคล่องมากกว่า เพราะลูกค้าของพวกเขาแห่ถอนเงินไปจนสภาพคล่องเข้าขั้นน่าเป็นห่วงนั่นเอง
ปัญหาของ SVB จะลุกลามเหมือนในช่วงปี 2008 หรือไม่
พูดถึงการประกันเงินฝากกรณีที่ธนาคารล้มละลายก็ต้องบอกว่าการประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากความตื่นตระหนกที่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1930 ครอบคลุมเงินฝากสูงถึง 250,000 ดอลลาร์ สิ่งนี้จะปกป้องเงินสดทั้งหมดที่ประชาชนส่วนใหญ่ฝากไว้ในธนาคาร แต่ไม่ครอบคลุมเงินทุนที่บริษัทฝากธนาคารไว้อย่างแน่นอน
เงินฝากประมาณ 93% ของ SVB เป็นเงินฝากที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVB นั้นไม่เหมือนธนาคารส่วนใหญ่ เมื่อพวกเขาเริ่มได้กลิ่นของปัญหาพวกเขาก็พร้อมที่จะหอบเงินฝากของพวกเขาหนีไปทันที
ความจริงแล้วธนาคารเกือบทั้งหมดในสหรัฐฯ นั้นก็มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ยังขาดทุนอยู่ แต่เป็นเพียง Unrealized Loss หรือ ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในพอร์ตตราสารหนี้ โดยหลักการทางบัญชีแล้ว ธนาคารที่ถือตราสารหนี้เพื่อการลงทุนระยะยาวจะไม่บันทึกการปรับลดลงของมูลค่าตราสารหนี้จากการปรับผลตอบแทนเป็นการขาดทุนผ่านบัญชีรายรับแต่จะเก็บไว้เป็น Unrealized Loss แทน
เพราะถ้าถือพันธบัตรไปจนครบกำหนดอายุของตราสาร มูลค่าก็จะกลับไปที่ราคาหน้าตั๋ว การขาดทุนนี้ก็จะหายไป และสิ่งที่เกิดขึ้นก็มีคนเริ่มถามว่า “ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นกับธนาคารอื่น ๆ อีกหรือไม่” และข้อมูลที่เห็นคือ ธนาคารในสหรัฐฯ ทั้งกลุ่มมีผลขาดทุนที่ยังไม่รับรู้สูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่ทุนรวมของธนาคารมีมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ถ้าเราบอกว่า SVB เป็นธนาคารที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไว้ที่ราคาสูงสุด ก็ต้องบอกว่า SVB อาจไม่ใช่ธนาคารเดียวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาพันธบัตรตกต่ำ
นาง Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวว่าเธอกำลังตรวจสอบธนาคารหลายแห่งว่ามีความคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นกับ SVB ใน Silicon Valley หรือไม่ แต่โชคดีที่พอร์ตสินเชื่อของธนาคารอื่น ๆ มีสัดส่วนที่น้อยกว่าพอร์ตทรัพย์สินของธนาคาร ทำให้ถ้าเกิดกรณีที่คนแห่ถอนเงินธนาคารก็มีทรัพย์สินมากพอที่จะจ่ายเงินให้กับทุกคนได้ชนิดที่ว่า ธนาคารไม่ล้ม
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา กรมคุ้มครองทางการเงินและนวัตกรรมของรัฐแคลิฟอร์เนียได้มีคำสั่งปิด SVB เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามบานปลายและป้องกันไม่ให้ธนาคารต้องประสบภาวะล้มละลาย
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ในเชิงให้ความมั่นใจกับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า “เพื่อปกป้องผู้ฝากเงินที่มีการประกัน Federal Deposit Insurance Corporation (หรือ FDIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ มีหน้าที่ในการประกันเงินฝากจากการล้มละลายของธนาคาร ได้ก่อสร้าง Deposit Insurance National Bank of Santa Clara (DINB) ขึ้นมา และเมื่อ SVB ถูกปิด FDIC ในฐานะผู้รับโอน ก็จะโอนเงินไปยัง DINB ทันที ดังนั้นเงินฝากที่มีประกันทั้งหมดของธนาคาร Silicon Valley จึงไม่ได้รับผลกระทบ”
สถานการณ์ตอนนี้หุ้นของ SVB ร่วงลง -87% ในช่วงเวลาเพียง 2 วันที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป เนื่องจากความกังวลว่าธนาคารจะล้มละลาย มีรายงานว่าเมื่อช่วงวันศุกร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาการซื้อขายหุ้นของ SVB ถูกระงับ และจากข้อมูลของ CNBC บอกว่า SVB ล้มเหลวในการเพิ่มทุนใหม่และกำลังหาทางขายกิจการ โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคมมีรายงานว่า Silicon Valley Bank กำลังหาทางระดมทุนเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านดอลลาร์เพื่อปิดช่องโหว่ในงบดุล (ที่ขาดทุนจากการขายพันธบัตร) และในถ้อยแถลงการณ์ของ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ระบุว่า SVB ล้มเหลว
วิกฤตในครั้งนี้ฉุดให้ราคาหุ้นของธนาคารอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น JPMorgan, Bank of America และ Wells Fargo ร่วงลงไปด้วย จากความไม่มั่นใจว่าจะกระทบกับธนาคารอื่น ๆ หรือไม่
คำถามในตอนนี้คือรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ และถ้าใช่รัฐจะต้องใช้เงินมากเพียงใดในการทำให้ผู้ที่ฝากเงินกับธนาคารพึงพอใจ
Ro Khanna สมาชิกสภาคองเกรสจากเขตที่ 17 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “SVB เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบนิเวศเทคโนโลยีพวกเขาปล่อยให้ธนาคารล้มไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยการเทกโอเวอร์ธนาคารหรือได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังเพื่อให้ผู้ฝากเงินรู้สึกมั่นใจก็ตาม ฉันจะปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ”
ที่จริงแล้วการเข้าไปแทรกแซงกิจการของธนาคารไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลอยากจะทำเท่าใดนัก แต่จากเหตุการณ์ที่ธนาคาร SVB บริหารสภาพคล่องผิดพลาด ทางเลือกเดียวที่รัฐบาลทำได้ก็คือต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจาก SVB ไม่สามารถถือครองทรัพย์สินได้เพียงพอที่จะครอบคลุมการขาดทุน จึงต้องถูกบังคับให้รับสินทรัพย์ไป Larry Summers อดีตรัฐมนตรีคลังกล่าวว่า ตราบเท่าที่รัฐเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องกังวลว่า SVB จะกลายเป็นมะเร็งที่ลุกลามไปทำอันตรายต่อภาคส่วนอื่น ๆ ของระบบการเงินของประเทศ
นี่ก็คงพอสรุปได้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีบทเรียนจากวิกฤตการเงินในปี 2008 มาแล้ว คงไม่มีทางที่จะปล่อยให้เส้นเลือดใหญ่แห่งซิลิคอนวัลเลย์ ต้องล้มลงจนส่งผลกระทบต่อบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ และกระทบต่อชีวิตของประชาชนเป็นแน่แท้ ก็คงจะตรงกับคำกล่าวที่ว่า “Too Big Too Fail” ที่ยักษ์ใหญ่ล้มไม่ได้ก็คงไม่ผิดนัก
อ้างอิง
https://www.businessinsider.com/svb-failure-what-the-hell-happened-2023-3
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



