“เจ็บกาย” ยังหาหมอรักษาได้ง่ายแต่ “เจ็บใจ” บางครั้งหาหมอรักษาได้ยากเหลือเกิน
นั่นคือจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์ม Ooca (อูก้า) แอปพลิเคชันปรึกษาจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ผ่านวิดีโอคอล ที่ ทพญ. กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ หรือ “หมออิ๊ก” ได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 5 ปีก่อน
เป็นช่วงเวลาที่เธอล้มแล้วลุกแล้วล้มจนแทบถอดใจ จากปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา ทั้งการสร้างทีม สร้างแพลตฟอร์ม และสร้างการยอมรับ
จนหลายครั้งที่หมออิ๊กคือลูกค้าของจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเสียเอง
ในที่สุดการลงทุนระดับ Series A ซึ่งเป็นการระดมทุนก้าวสำคัญของอูก้า กับ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ก็เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
กว่าจะได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป องค์กรใหญ่ ๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องดูแลจิตใจให้กับพนักงาน และนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุน
ไม่ง่ายเลย
ตามไปอ่านกันว่าในวิถีของสตาร์ทอัปอย่างอูก้าต้องเจอกับอะไรบ้าง
“มีปัญหาอยากเล่าอยากระบาย ไม่กล้าคุยกับพ่อแม่ ไม่กล้าเล่าเพื่อน ถ้าไปหาจิตแพทย์ก็กลัวคนจะว่าบ้า เจอหมอแล้วบางทีก็อาย ไม่ไว้ใจ เป็นปัญหาที่วนเวียนมานานในสังคมไทยหลายยุคหลายสมัย”
ข้อความข้างบนคือสิ่งที่หลาย ๆ คนเจอ รวมทั้งตัวหมออิ๊กด้วย
นั่นคือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาหาหนทางกำจัด Pain Point ด้วยเแพลตฟอร์มอูก้าเมื่อปี 2561
หลังจากเปิดให้บริการได้ประมาณ 1 ปี อูก้าก็ได้รับเงินลงทุนจากกองทรัสต์ SMEs Private Equity Trust Fund โดยธนาคารออมสิน และล่าสุด อูก้า ได้รับเงินสนับสนุนก้อนใหญ่จาก BDMS
จนมาถึงทุกวันนี้ การวิดีโอคอลกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยากลายเป็นเรื่องที่ผู้คนเข้าใจและยอมรับมากขึ้น
หมออิ๊กยืนยันว่าวันนี้อูก้ามีลูกค้าองค์กรประมาณ 55 ราย ลูกค้าทั่วไปที่มาลงทะเบียนประมาณ 180,000 คน โดยมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาประมาณกว่า 100 คน
นั่นหมายความว่ารายได้ของอูก้าเติบโตแข็งแรงขึ้นเช่นกัน
“เหนื่อยมากก ค่ะ (ลากเสียงยาว) กว่าจะได้รับการยอมรับเคยท้อมาก ๆ ทำทำไมถ้าคนไม่เห็นคุณค่า ทั้ง ๆ ที่เราสร้าง Tool ตัวนี้ขึ้นมาเพราะอยากช่วยคน อยากให้วงการสุขภาพจิตยิ่งใหญ่กว่านี้ ‘เจ็บกาย’ ยังหาหมอรักษาได้ง่ายแต่ ‘เจ็บใจ’ บางครั้งหาหมอรักษาได้ยากเหลือเกิน”
เสียงเธอยังใส แบบพร้อมสู้ เมื่อต้องเจอกับความท้าทายและกดดันในหลาย ๆ เรื่อง
วิถีของสตาร์ทอัป อย่าง อูก้า ต้องเจออะไรบ้าง
ความท้าทายครั้งแรกในการเริ่มต้นคือต้องใช้เงินค่อนข้างสูงมาก
“ในปีแรก ๆ ลงเงินตัวเองไปประมาณ 4-5 ล้านบาท เพื่อเอามาจ้างทีมทำแพลตฟอร์ม ตอนนั้น Software House เราไม่รู้ว่าจะไปเริ่มตรงไหนก็ลองค้นหาไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นของใหม่จริง ๆ เราคิดได้ แต่เขาทำไม่ได้ ก็ต้องหาคนไปเรื่อย ๆ”
โชคดี ปีต่อมาหลังเปิดบริการได้ และได้รับเงินลงทุนจากกองทรัสต์ SMEs Private Equity Trust Fund โดยธนาคารออมสินประมาณ 10 ล้านบาท พร้อม ๆ กับลูกค้าเริ่มมีเข้ามา ทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร
พร้อม ๆ กับวิกฤตโควิด-19 ก็เข้ามาเหมือนกัน
“โห (ลากเสียงยาว) ช่วงนั้นลำบากมาก คือมีลูกค้ามากขึ้นก็จริง แต่เงินลงทุนก้อนแรกก็ไม่พออยู่ดี เราต้อง Raise Funds รอบต่อไปให้ได้ คือ Startup จะมีบางช่วงที่เราต้องเบิร์น เพื่อที่จะสร้างอะไรบางอย่าง บางช่วงเราก็ต้องโอเค ควรจะ Expect Return ได้แล้ว มันมี Problem Record อะไรบ้าง เริ่มมี Product Market Fit แล้วหรือยัง ทีนี้พอเงินหมดเราก็ต้องการเงิน กำลังจะ Raise Fund อยู่แล้วก็มีหลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามที่เราคิดเกิดขึ้น ตอนนั้นเข้าลูปนรกเลยค่ะ หมุนเงินใหญ่เลย ต้องเอาเงินตัวเองมาหมุนอีก”
ในช่วงเวลานั้นด้วยความเครียดของงานทำให้นอกจากตัวเองจะเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ปรึกษาจิตแพทย์ผ่านวิดีโอคอลแล้ว ยังเป็นลูกค้าเองด้วย
“มันก็มีหลายครั้งที่เกิดคำถามว่าเรามาทำทำไม เหนื่อยจังเลย บางครั้งเสียใจมากเพราะบางคนไม่เข้าใจเรา ก็จะว่าอิ๊กไม่ใช่จิตแพทย์ ไม่ใช่นักจิต จะเข้าใจเหรอ เกินหน้าเกินตาหรือเปล่า รู้จริงหรือเปล่า ทำให้เรารู้สึกแย่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่คนในวงการที่เข้าใจเราก็มีมาก”
อีกคำถามที่เจอนักลงทุนถามมาตลอดก็คือ
“ในมุมของเรา เราเห็นปัญหาจริง แล้วก็รู้สึกว่าสเต็ปแรกที่พอจะบรรเทาได้ คือสิ่งนี้ แต่ในมุมนักลงทุนอาจจะมอง มันเป็นอะไรที่มันสเกลยากหรือเปล่า ทำไม You ไม่ทำ Telemedicine แบบครอบจักรวาล เรื่องนี้ตลาดมันเล็กไปไหม”
แต่เธอก็ดูแลใจ ดูแลกายตัวเองพร้อมกับรันงานต่อไป จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมาทุกอย่างเริ่มกลับมาเดินหน้า มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อ BDMS มาร่วมลงทุน ภาพของอูก้าก็ชัดเจนขึ้น
การปิดดีลลงทุน Series A กับบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เป็นสิ่งหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขายอมรับเรา และที่สำคัญเขาเชื่อว่าเรื่องของ Mental Health (ภาวะจิตใจที่เป็นสุข สามารถปรับตัวแก้ปัญหา สร้างสรรค์ทำงานได้) เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะให้ความสนใจ แล้วเขาเห็นคุณค่าที่จะลงเงินทุนเพื่อที่จะพัฒนามัน
“อิ๊กว่าเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะถ้าพูดตามตรงอย่าง BDMS รายได้เขา เช่น การผ่าตัดต่อครั้งราคาสูงกว่าเยอะถ้าเทียบกับราคาค่าปรึกษาในอูก้าแต่ละครั้ง แต่การให้คุณค่าตรงนี้ คือการมองเห็นโอกาส เห็นอนาคตว่า เราจะทำยังไงให้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น จะกลายเป็นตลาดที่มีความยั่งยืน ด้านหนึ่งก็เหมือนการช่วยคนด้วย ไม่ใช่ช่วยทางกายแต่ช่วยเรื่องทางจิตใจ ซึ่งสำคัญมาก เจ็บที่ใจบางครั้งเจ็บกว่าเจ็บที่กายด้วยซ้ำ”
ความร่วมมือกับ BDMS ในครั้งนี้จะทำให้อูก้าสามารถเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตอันดับหนึ่งของประเทศ ที่ให้บริการครอบคลุมการดูแลสุขภาพจิตทุกรูปแบบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ขยายการดูแลลูกค้าในมิติที่หลากหลาย ผ่านการสร้างนวัตกรรมทางด้านจิตวิทยาเพื่อสังคมในสเกลที่ใหญ่กว่าเดิม
“เป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ที่ทำให้เราได้ทำอะไรหลายอย่างที่เราอยากทำ เช่น การลงทุนในด้าน Innovation ในเรื่องการขยายทีม ต้องบอกว่าที่ผ่านมาอูก้ามีคนแค่ประมาณ 10 คนเท่านั้นเองในการรันทีม ทั้งสร้าง App ทำเซลส์ แล้วก็ทำ Communication ดูแลหมอ ดูแลคนไข้ เป็นหน่วยกล้าตาย จริง ๆ”
อูก้าตั้งเป้าหมายหลักเพื่อทำให้จิตวิทยาเป็นเรื่องง่าย สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพจิตและเปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มีต่อจิตเวชและจิตวิทยา ซึ่งจากนี้ อูก้า และ BDMS จะเร่งพัฒนาและสร้างโปรเจกต์ใหม่ ๆ ร่วมกัน
“สิ่งที่พยายามทำให้ได้ต่อไปก็คือ เราอยากให้ใน App อูก้าสามารถเบิกจ่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือเป็นส่วนลดก็ยังดี เพื่อที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการนี้ได้ง่ายมากขึ้น”
รวมทั้งอยากทำในเรื่อง Innovation เพิ่มขึ้นอีกเพราะ Application ตอนนี้อาจจะไม่หวือหวามาก Booking คุยกับหมอ สมัยนี้คนก็ทำตามกันไปหมดแล้ว ต้องการทำให้มีฟีเจอร์ที่ช่วยเหลือมากกว่านี้ในการ Match คนเข้าไปคุย รวมทั้งจะมีการร่วมมือกับ BDMS ซึ่งเป็นเครือด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของไทยและมี Resource มากมายมากขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง


อูก้ากับลูกค้าองค์กร

นอกจากลูกค้าทั่วไปที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และวัยทำงานแล้ว ฝ่ายบุคคลของหลาย ๆ บริษัทก็ให้ความสนใจ
หากพนักงานรู้สึกอยากมีที่ปรึกษาก็สามารถดาวน์โหลดแอป แล้วก็ใช้อีเมลบริษัท login เข้าไป แล้วก็จะทำการ Booking เข้ามาคุยได้เลย เหมือนอูก้าเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตให้กับพนักงาน เป็นสวัสดิการหนึ่งที่ฝ่ายบุคคลเองสามารถที่จะเอา Data ที่มันเกิดขึ้นในแอปเข้าไปวิเคราะห์ได้ว่าพนักงานมีความรู้สึกและมีความต้องการในเรื่องอะไรบ้าง
“ซึ่งเราก็จะเน้นเรื่องความเป็นส่วนตัว คือจะไม่บอกว่าเป็นใคร จะไม่บอกรายละเอียด แต่เราก็จะให้ข้อมูลที่เขาไปทำงานต่อได้ เช่น พนักงานเครียดเรื่องประมาณไหน เครียดเรื่องครอบครัว เครียดเรื่องการทำงาน การทำงานเป็นแนวไหน มีปัญหากับเจ้านายหรือเปล่า”
“กำแพงพักใจ” โครงการช่วยนิสิตนักศึกษา
เธอเล่าว่าสมัยตัวเองเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียนหนัก จนเครียด เลยตัดสินใจว่าลองปรึกษาจิตแพทย์ดีกว่า
“ตอนนั้นปัญหาก็เหมือนทุกคน แม้จะเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ แต่ไม่รู้จะหาหมอที่ไหน หรือจะหาหมออะไรดี ถ้าถามเพื่อน ๆ จะเข้าใจมั้ย เพราะบางครั้งมีเพื่อนที่ไปหาจิตแพทย์มาก็ถูกเพื่อนคนอื่นมองแบบแปลก ๆ ว่าเป็นคนมีปัญหา ดังนั้นก็ต้องแอบ ๆ ไปหาเอง”
ดังนั้น ในวันนี้เมื่อมีโอกาส สิ่งหนึ่งที่อูก้าให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหา
เช่น การทำโครงการ “Wall of Sharing” กำแพงพักใจ ซึ่งเป็นโครงการที่อูก้าร่วมมือกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้ใช้บริการคุยผ่านแอปพลิเคชันอูก้า วิดีโอคอลออนไลน์กับเครือข่ายจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ใหญ่ที่สุดของไทย ฟรี ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านจิตใจอย่างถูกต้องเหมาะสม
หมออิ๊กย้ำอีกครั้งว่า ก่อนที่จะมาเจอ Series A เป็นช่วงที่เหนื่อยมาก ไม่รู้ทำไมเราต้องมาทำ เงินก็ไม่ได้ นู่นนี่นั่น จนมาเจอ BDMS มา Support ตรงนี้ กระตุ้นให้เธออยากไปต่ออีก
“เพราะเป้าหมายของเราคือตั้งใจทำเพื่อที่จะช่วยทำให้วงการสุขภาพจิตยิ่งใหญ่มากกว่านี้ ถ้าวงการนี้ยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่แค่ Ooca Win แต่ทุกคน Win ประชาชน Win แล้วมันจะไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่อยากทำให้มันยิ่งใหญ่”
เธอจบประโยคนี้ด้วยรอยยิ้มตามเคย
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



