แทบทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศใหญ่ ๆ หรือมีชื่อเสียง จะมีภาพจำในสายตาชาวโลกเสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ คือประเทศในยุโรปที่ทิวทัศน์สวยงาม ได้รับการยกย่องเรื่องความเป็นกลาง มีประชาธิปไตยทางตรง

และดังเรื่องนาฬิกา ขณะเดียวกันยังมีธนาคารเก่าแก่ มั่นคงและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งทั้งหมดสามารถเรียกรวม ๆ ได้ว่าแบรนด์สวิส

แต่วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่ลามข้ามสู่ยุโรปและไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ จนทำให้ Credit Suisse ธนาคารใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศสภาพคล่องพัง

ถึงขนาดที่ UBS ธนาคารคู่แข่งต้องซื้อกิจการผ่านความช่วยเหลือของรัฐบาล ในราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เมื่อ 19 มีนาคมนั้น สะเทือนไปทั้งประเทศ เพราะนอกจากเป็นธนาคารใหญ่จนปล่อยให้ล้มไม่ได้ (Too Big To Fail) แล้ว Credit Suisse ยังมีความเก่าแก่

รูปปั้น Alfred Escher

ก่อตั้งโดย Alfred Escher ปูชนียบุคคลที่เปรียบได้กับบิดาผู้ก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1856 หรือเมื่อ 167 ปีก่อน ท่ามกลางการขยายสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น เส้นทางรถไฟ และการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย  

ดังนั้นเมื่อหนึ่งในธนาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ และยังใช้ชื่อประเทศเป็นชื่อองค์กรอีก ต้องปิดฉาก ผ่านการถูกควบรวมไปอยู่กับคู่แข่ง จึงทำให้แบรนด์สวิสเสื่อมเสีย

และอาจลามไปถึงแบรนด์สวิสในธุรกิจอื่น ๆ ที่มีตั้งแต่ขนมหวาน (Lindt) นาฬิกา (Swatch) และมีดพับ (Victorinox ) ไปจนถึงหุ่นยนต์โรงงาน (ABB) ก็เป็นได้

สื่อและนักการเมืองชาวสวิสต่างสะท้อนความกังวลดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน โดยหนังสือพิมพ์ Neue Zürcher Zeitung ระบุว่า กรณีของ Credit Suisse คือซอมบี้สิ้นฤทธิ์ที่เกิดใหม่เป็นสัตว์ประหลาด จากทั้งความน่าเกลียดน่ากลัว

และความใหญ่โตของมัน เพราะหลังควบรวม Credit Suisse กับ UBS จะมีสินทรัพย์มูลค่ามหาศาล มากเกินกว่า GDP ประเทศไปแล้ว

ขณะที่ Credic Wermuth ประธานร่วมของพรรค Social Democratic กล่าวว่า ชาวสวิสต่างได้เห็นว่า ศูนย์กลางการเงินของประเทศที่แข็งแกร่งต้องพังจากปัญหาสภาพคล่อง

ความกังวลของชาวสวิสต่อผลกระทบจากวิกฤตธนาคาร Credit Suisse ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะชื่อของ Credit Suisse มีอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่ชุดซ้อมของฟุตบอลทีมชาติ เป็นสปอนเซอร์ให้ Roger Federer นักเทนนิสชื่อดังของประเทศมากว่า 20 ปี

ขณะเดียวกัน ยังเป็นธนาคารที่มหาเศรษฐีระดับโลกไว้ใจและมีงานศิลปะอยู่ในครอบครองมากกว่า 10,000 ชิ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า งานศิลปะเหล่านี้อาจถูก UBS เจ้าของใหม่ขายออกไป เพราะ UBS ซื้อ Credit Suisse มาในราคาที่ต่ำมาก ส่วนพนักงานของ Credit Suisse กลุ่มใหญ่ก็อาจตกงาน

กรณีของ Credit Suisse สร้างความไม่พอใจให้คนในประเทศ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาข้าวยากหมากแพง จนชาวสวิสกลุ่มใหญ่ราว 200 คนไปประท้วงต่อต้านพร้อมป้ายที่มีข้อความอย่าง Revolution (ปฏิวัติ) และ Eat The Rich (จัดการคนรวยซะ) ที่หน้าสำนักงานใหญ่ของธนาคาร บริเวณจัตุรัส Paradeplatz ในเมือง Zurich จนตำรวจที่ไประงับเหตุถูกปาไข่ใส่

ยังมีประเด็นน่าสนใจจากกรณีของ Credit Suisse เพราะนี่คือธนาคารที่รอดพ้นวิกฤตการเงินโลกซึ่งเริ่มจากสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 มาได้ โดยไม่ต้องให้รัฐบาลช่วย

แต่ปี 2018 เป็นต้นมา กลับต้องเผชิญมรสุมมากมาย ทั้งเหตุอื้อฉาว การฟอกเงินและเหตุทุจริตทางการเงิน จนสภาพคล่องพัง และธนาคาร SNB ของซาอุดีอาระเบีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ปฏิเสธที่จะปล่อยกู้ให้เพิ่มอีก เพราะเห็นว่าถือครองหุ้นถึงเกณฑ์สูงสุดตามกฎหมายสวิตเซอร์แลนด์กำหนดไว้แล้ว

ดังนั้นที่สุดจึงต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเหมือนตลกร้าย เพราะฝ่ายที่เข้าช่วยคือ UBS ธนาคารคู่แข่งที่เคยเกือบล้มจากวิกฤตการเงินโลกปี 2008 และสำนักงานใหญ่ก็ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน 

แต่ผลกระทบต่อภาคการเงินยุโรปก็ยังมีอยู่ โดยทำให้หุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะดัชนีสำคัญ ๆ ของยุโรปร่วงกราว จนธนาคารกลาง 6 แห่ง คือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ธนาคารกลางยุโรป

และธนาคารกลางญี่ปุ่น ต้องผนึกกำลังกันใช้มาตรการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (SWAP- อ่านว่าสวอป) ระหว่างเงินดอลลาร์ กับเงินสกุลต่าง ๆ ของธนาคารอีก 5 แห่ง เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ระบบการเงินโลก ซึ่งยังต้องอิงกับสกุลเงินดอลลาร์ ไปจนถึงสิ้นเมษายนนี้เป็นอย่างน้อย/ theguardian



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน